วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เงินค่าบริการเป็นค่าจ้างหรือไม่ ?


            เรื่องของค่าจ้างมักจะเป็นปัญหาในการตีความอยู่เสมอ ๆ เพราะบริษัทต่าง ๆ ก็จะมีการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น บางบริษัทก็มีเงินเดือน+ค่าตำแหน่ง+ค่าครองชีพ+ค่าภาษา บางบริษัทก็มีเงินเดือน+ค่าครองชีพ ฯลฯ จากการจ่ายที่แตกต่างกันอย่างนี้แหละครับจะเกิดปัญหาการตีความเมื่อจะต้องนำฐานค่าจ้างมาคำนวณในการจ่ายเงินที่เป็นสิทธิประโยชน์ของพนักงาน เช่น การคำนวณเพื่อจ่ายโอที (ค่าล่วงเวลา), ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าชดเชยที่ถูกเลิกจ้าง, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น

            แต่เงินตัวหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดคุยกันว่าจะถูกจัดให้เป็นค่าจ้างหรือไม่ ?

บ้างก็ว่าเป็นค่าจ้างแล้วก็ยกคำพิพากษาศาลฎีกามาอ้างอิง

แต่บ้างก็บอกว่าไม่ใช่ค่าจ้างแล้วก็ยกคำพิพากษาศาลฎีกามาอ้างด้วยเช่นเดียวกัน ก็เลยทำให้คนฟังเริ่มงงสับสนว่าตกลงแล้วเงินตัวนี้เป็นค่าจ้างหรือไม่กันแน่

          คือเงินค่าบริการ หรือที่มักจะเรียกว่า Service Charge ไงครับ !!

            ค่าบริการที่เวลาท่านไปใช้บริการหรือทานอาหารตามโรงแรม, ห้องอาหาร, ร้านอาหาร ฯลฯ แล้วทางร้านเขาหักค่าบริการไว้ร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายนั่นแหละครับ

            ผมก็เลยจะขอนำคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องของค่าบริการทั้งสองด้านมาให้ท่านได้ทำความเข้าใจที่ตรงกันดังนี้ครับ

1.      ค่าบริการที่ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

ฎ.5738-5742/2548 และ 8794/2550 “เงินค่าบริการที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างคิดเพิ่มจากผู้ที่มาใช้บริการของโรงแรมอีกร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายได้แก่ค่าที่พักและค่าบริการต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ของนายจ้างจะเก็บรวบรวมไว้ หากมีความเสียหายที่เกิดจากผู้ที่มาใช้บริการ นายจ้างก็จะนำเงินดังกล่าวไปชดใช้ค่าเสียหาย เหลือเท่าใดจึงนำไปแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่า ๆ กัน ซึ่งในแต่ละเดือนเป็นจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้ที่มาใช้บริการและค่าเสียหายดังกล่าว

ดังนี้ เงินค่าบริการจึงเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าแทนลูกจ้างโดยประสงค์ให้ตกเป็นของลูกจ้างทั้งหมด และกรณีนายจ้างเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะไม่มีผู้มาใช้บริการ นายจ้างก็ไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายเงินค่าบริการแก่ลูกค้า เงินค่าบริการจึงไม่ถือเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน”

2.      ค่าบริการที่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

ฎ.6349/2541 “เงินค่าบริการที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการร้อยละ 10 แล้วนายจ้างรวบรวมไว้เพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนเท่า ๆ กันเป็นประจำทุกเดือน โดยตกลงด้วยว่าลูกจ้างทุกคนจะได้รับค่าบริการไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,250 บาท หากแบ่งเฉลี่ยแล้วลูกจ้างแต่ละคนได้รับต่ำกว่าเดือนละ 1,250 บาท นายจ้างจะจ่ายส่วนที่ขาดให้จนครบ

เมื่อค่าบริการมิใช่เงินเฉพาะที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้างรวมอยู่ด้วย โดยมีจำนวนขั้นต่ำที่แน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือนถือได้ว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง”

เห็นไหมครับว่าคำพิพากษาออกมาได้ทั้ง 2 แบบคือค่าบริการเป็นค่าจ้างก็ได้หรือไม่เป็นค่าจ้างก็ได้เลยทำให้ต่างฝ่ายต่างหยิบยกไปพูดแต่เฉพาะส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์

แต่ถ้าลองกลับมาดูหลักการของแนวคำพิพากษาจะเห็นได้ชัดเจนว่าในกรณีข้อ 1 ที่ศาลท่านชี้ว่าค่าบริการไม่ใช่ค่าจ้างก็เพราะว่าเงินค่าบริการนี้น่ะนายจ้างเก็บมาจากลูกค้าแล้วนำมาแบ่งให้กับลูกจ้างโดยไม่ได้ตกปากรับคำการันตีว่าจะจ่ายเดือนละเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ว่าหากเดือนไหนได้ค่าบริการจากลูกค้ามากก็จ่ายให้กับลูกจ้างมาก หากเดือนไหนได้ค่าบริการน้อยลูกจ้างก็ได้น้อยโดยที่นายจ้างก็ไม่ได้ควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเพิ่มอะไรให้กับลูกจ้าง

            ส่วนข้อ 2 นั้นแตกต่างจากกรณีข้อ 1 เพราะนายจ้างดันไปสัญญิงสัญญาแถมการันตีกับลูกจ้างไว้ว่าจะมีค่าบริการให้เท่านั้นเท่านี้เป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน และถ้าเดือนไหนลูกจ้างได้ค่าบริการต่ำกว่าที่นายจ้างบอกไว้ นายจ้างก็ควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มให้อีก อย่างนี้ก็จะถือว่าเงินค่าบริการตัวนี้เป็นค่าตอบแทนการทำงานของลูกจ้างซึ่งก็คือค่าจ้างนั่นเอง

            ดังนั้น หากท่านเข้าใจในหลักการนี้แล้ว ผมมั่นใจว่าคราวนี้ท่านจะบอกได้แล้วนะครับว่าค่าบริการที่จ่ายอยู่ในบริษัทของท่านจะเข้าข่ายเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมกับฐานเงินเดือนในการคำนวณผลประโยชน์ต่าง ๆ ของท่านหรือไม่

            จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแรงงานที่ผมยกมาให้ดูนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์กับท่านได้ว่าในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารยุคปัจจุบันไม่ควรรับรู้หรือรับฟังข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว แต่จำเป็นต้องหาข้อมูลในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดความเชื่อความเข้าใจที่ผิดพลาดและนำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในที่สุดครับ


………………………………..