วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เรื่องที่หัวหน้างานไม่ควรทำ


            ก่อนจะเข้าเรื่องผมขอทำความเข้าใจกันนะครับว่าคำว่า “หัวหน้างาน” นั้น ผมหมายถึง “คนที่มีลูกน้อง” ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกเป็นทางการว่าอะไรก็ตาม เช่น จะเรียกว่าลีดเดอร์, ซุปเปอร์ไวเซอร์, ผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ ฯลฯ หรือแม้แต่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือ CEO ขององค์กร ผมก็ขอเรียกว่าเป็น “หัวหน้างาน” นะครับ

            เรื่องที่ผมเอามาแลกเปลี่ยนกันในวันนี้เป็นเรื่องที่เรามักจะพบเจออยู่เสมอ ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของหัวหน้างานที่เมื่อทำไปแล้วก็มักจะเกิดปัญหาตามมาอยู่เป็นประจำ ซึ่งบางครั้งหัวหน้างานเหล่านั้นก็รู้ว่าตัวเองไม่ควรทำแบบนั้น แต่หลายครั้งหัวหน้างานก็ไม่รู้หรือคิดไม่ถึงว่าทำอย่างงั้นแล้วจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง

            เรามาดูกันสิครับว่ามีเรื่องอะไรกันบ้างที่หัวหน้างานไม่ควรทำ

1.      ตั้งหลักเกณฑ์กติกาของตัวเองขึ้นมาใช้กับลูกน้องทั้ง ๆ ที่บริษัทก็มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีหลักเกณฑ์เรื่องการทดลองงานอยู่ว่าถ้าหากพนักงานทดลองงานคนไหนมีผลการประเมินโดยรวมต่ำกว่า 3.5 จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ผ่านทดลองงาน (โดยไม่มีการต่อทดลองงาน) และบริษัทจะไม่บรรจุพนักงานทดลองงานคนนั้นเข้าทำงานโดยจะต้องให้พนักงานคนนั้นพ้นสภาพไป แต่หัวหน้างานบางคนก็จะต่อทดลองงานพนักงานทดลองงานที่มีผลการประเมินต่ำกว่า 3.5 โดยไม่ทำตามหลักเกณฑ์ของบริษัท และแถมการต่อทดลองงานก็แล้วแต่ใจหัวหน้างานอีกต่างหากว่าจะต่อทดลองงานคนไหนเท่าไหร่ เช่น มีพนักงานทดลองงาน 2 คน และทั้ง 2 คนก็มีผลการประเมินทดลองงานภาพรวม 3.2 เท่ากัน แต่หัวหน้างานก็ต่อทดลองงานทั้ง 2 คนนี้ไม่เท่ากัน เช่น คนแรกต่อทดลองงาน 1 เดือน  อีกคนหนึ่งต่อทดลองงาน 2 เดือน เป็นต้น ซึ่งก็จะทำให้ลูกน้องมองว่าหัวหน้างานไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เลือกปฏิบัติ ทำตามใจฉัน ไม่ยุติธรรม ฯลฯ

2.      ประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องแบบได้เท่ากันหมดทุกคน เช่น ประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกน้องโดยให้เกรด C เท่ากันทุกคนในแผนก ซึ่งทำให้ลูกน้องจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน และได้รับการพิจารณาโบนัสในอัตราที่เท่ากัน ลองถามใจท่านดูนะครับว่าถ้าเราทำงานขยันขันแข็ง อุตส่าห์สร้างผลงาน ทำงานด้วยความรับผิดชอบอย่างดี พัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ฯลฯ แต่เราก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนหรือได้โบนัสเท่า ๆ กับคนที่ไม่มีผลงาน ขี้เกียจตัวเป็นขน อู้งาน หลบเลี่ยงโบ้ยงาน ฯลฯ อย่างนี้มันจะยุติธรรมกับเราหรือเปล่า ?

3.       ไม่เคยสอนงานให้ลูกน้องและไม่เคยสนับสนุนให้ลูกน้องก้าวหน้า ยังมีหัวหน้างานอีกไม่น้อยเลยนะครับ ที่ไม่เคยสอนงานลูกน้องเลย ไม่เคยคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ในงานไปสู่ลูกน้อง เก็บงำความรู้ตลอดจนข้อมูลสำคัญ ๆ ในงานเอาไว้ที่ตัวเอง เพราะมีทัศนคติแบบแคบ ๆ ว่าขืนไปสอนงานให้ลูกน้องรู้งานมากเดี๋ยวจะมาวัดรอยเท้าเรา หรือถ้าสอนงานลูกน้องเดี๋ยวลูกน้องจะมีความสำคัญมากกว่าเรา หรือถ้าลูกน้องเก่งกว่าเรา เดี๋ยวบริษัทก็เขี่ยเราออกกันพอดี ฯลฯ หรือบางหัวหน้าก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คือหัวหน้างานที่เก่งทุกอย่างจนผมมักจะเรียกว่าเป็น “หัวหน้างานแบบเทพมาเกิด” คือมีความรู้ความสามารถในงานทุกอย่าง และเติบโตก้าวหน้ามาด้วยความเก่งของตัวเองโดยที่ไม่เคยมีหัวหน้าต้องสอนสั่งอะไรเลย ก็เลยคิดว่าลูกน้องก็ต้องเก่งเหมือนเราสิ ถ้าลูกน้องไม่ขวนขวายและเก่งเหมือนเราก็ช่วยไม่ได้ ก็อย่าหวังจะก้าวหน้าเลยแล้วกัน หัวหน้าบางคนหนักกว่านั้นคือนอกจากไม่สอนงานแล้วยังชอบด่าลูกน้องอีกต่างหาก จากที่ผมบอกมานี่แหละครับจึงทำให้หัวหน้างานเหล่านี้ไม่เคยสอนงานลูกน้อง และไม่สนับสนุนลูกน้องให้ก้าวหน้า และจะทำให้ลูกน้องที่เก่ง ๆ หรือรักความก้าวหน้าจะพยายามหาทางไปจากหัวหน้างานประเภทนี้ในที่สุด

4.      ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง หัวหน้างานประเภทนี้จะเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ แม้จะมีการประชุมทีมงานกี่ครั้งกี่หนตัวเองก็จะเป็นคนผูกขาดการพูดในที่ประชุมเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อบอกให้ลูกน้องเสนอความคิดเห็นก็จะดูเหมือนรับฟังแต่จริง ๆ แล้วก็เป็นแบบ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ตัวเองคิดมาแล้ว หัวหน้างานประเภทนี้จะจัดให้มีการประชุมเหมือนการ “แก้บน” เป็นพิธีกรรมปะหน้าเพื่อเอาไว้บอกใครต่อใครว่าฉันก็มีการประชุมทีมงานขอความคิดเห็นจากลูกน้องอยู่เป็นประจำก็เท่านั้นแหละครับ (แต่ไม่เคยฟังลูกน้อง) แต่ความจริงคือให้ลูกน้องมาประชุมเพื่อฟังว่าหัวหน้าต้องการอะไรเสียมากกว่าครับ

5.      โบ้ยความรับผิดชอบ ไม่แก้ปัญหา และไม่กล้าตัดสินใจ ในการทำงานก็ย่อมมีปัญหาเป็นธรรมดาแต่หัวหน้าประเภทนี้จะคอยฟุตเวิร์คหลบเลี่ยงปัญหาอยู่ตลอด เช่น เวลามีหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของหน่วยงานของเราเข้ามาตำหนิต่อว่า ก็จะให้ลูกน้องออกไปรับหน้าแทนแล้วตัวเองก็จะหลบอยู่เบื้องหลังฉากคอยฟังผลจากลูกน้องว่าเขามาต่อว่าอะไรบ้าง แล้วก็ให้ลูกน้องออกไปโต้ตอบคู่กรณีแทน หลายครั้งที่เมื่อลูกน้องมีปัญหาเข้ามาถามหัวหน้างานประเภทนี้ก็จะคอยว่าคอยตำหนิว่าลูกน้องทำงานมาหลายปีแล้วทำไมไม่รู้จักคิดแก้ปัญหาเองบ้างรึไง ต้องให้พี่คิดทุกเรื่องเลยหรือ ให้กลับไปแก้ปัญหามาให้เรียบร้อยก็แล้วกัน แต่พอลูกน้องกลับไปคิดแก้ปัญหาเองแล้วผิดพลาดอีกก็จะเรียกลูกน้องมาด่าอีก ฯลฯ

6.      ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ EQ มีปัญหา หัวหน้างานประเภทนี้เป็นหัวหน้างานที่ลูกน้องเอือมระอามากถึงมากที่สุดนะครับ พฤติกรรมพื้นฐานที่พบได้เสมอคือ จุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง มีวาจาเป็นอาวุธและมีดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องทำดีไม่เคยจำแต่พอทำพลาดก็ไม่เคยลืม ฯลฯ

จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ก็อยากจะให้ท่านที่เป็นหัวหน้างานลองกลับมา Feedback ทบทวนตัวเองกันดูนะครับว่าท่านมีพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้ามีจะหาวิธีลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงไปได้ยังไงเพื่อจะได้เป็นอานิสงส์ทั้งกับลูกน้องและองค์กร รวมถึงการทำงานร่วมกันให้ราบรื่นดีขึ้น ส่วนท่านที่เป็นลูกน้องแล้วเจอหัวหน้าที่มีพฤติกรรมอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นก็ถือคติที่ว่า

“เราเลือกหัวหน้าที่ดีสำหรับเราไม่ได้..แต่เราเลือกเป็นหัวหน้าที่ดีสำหรับลูกน้อง” ได้อยู่เสมอนะครับ เมื่อท่านได้เจอหัวหน้าที่ไม่ดีกับเราอยู่ในตอนนี้ คำถามก็คือแล้วเราจะเป็นหัวหน้างานแบบไหนกับลูกน้องของเราล่ะครับ ?

 ………………………………….