วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อัตรากำลังทดแทน..แผนที่ควรมีสำหรับอนาคต


           ผมเชื่อว่าท่านคงเคยได้คิดคำพระเทศน์ที่ว่า “ทำปัจจุบันให้ดี..แล้วอนาคตก็จะดีตาม” กันมาบ้างนะครับ พูดอีกก็ถูกอีกแหละว่าผลในอนาคตย่อมมีเหตุมาจากปัจจุบันที่เรากำลังทำอยู่ เลยเป็นที่มาสำหรับเรื่องที่เราจะมาคุยกันในวันนี้

          วันนี้ท่านเคยทำแผนอัตรากำลังทดแทนไว้ในอนาคตบ้างหรือเปล่าครับ ?

            ในแทบทุกองค์กรล้วนแต่ต้องมีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุกันเอาไว้อยู่ในข้อบังคับการทำงาน ส่วนจะเกษียณที่อายุเท่าไหร่ เช่น เกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 ปีก็ว่ากันไปตามระเบียบของแต่ละองค์กร

            ในองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีการทำแผนพยากรณ์อัตรากำลังทดแทนพนักงานที่จะต้องเกษียณอายุในอนาคตไว้อยู่แล้ว เช่น

1.      ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีพนักงานเกษียณอายุกี่คนหรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด   

2.      ในจำนวนพนักงานที่จะต้องเกษียณอายุในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น เป็นพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งหลัก (Key Position) จำนวนกี่อัตราหรือคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพนักงานกลุ่ม Key Position ด้วยกัน

3.      คำว่า “ตำแหน่งงานหลัก” หมายถึง ตำแหน่งงานสำคัญ ๆ ที่อาจจะเป็นตำแหน่งของผู้บริหารหรือเป็นตำแหน่งทางด้านวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญชำนาญด้านใดด้านหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กรที่ถ้าคนในตำแหน่งนี้ไม่อยู่ไม่ว่าจะลาออก ตาย ย้าย เกษียณก็จะมีผลกระทบต่อหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ จะหาคนมาแทนก็ยากหรือต้องใช้เวลาฝึกฝนนาน หรือค่าตัวอาจจะสูงมากและเมื่อมาอยู่กับองค์กรเราแล้วก็ไม่รู้จะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ฯลฯ

4.      มี “คนใน” ใครบ้างที่จะสามารถมาทดแทนตำแหน่งพนักงานในตำแหน่งหลักที่จะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคนที่มีความพร้อมจะมาทดแทนนั้นมักจะเรียกกันว่า “ทายาท” หรือ “Successor” ก็ได้นะครับ

5.      ทายาท หรือ Successor ที่จะมาทดแทนพนักงานในตำแหน่งหลักนั้นมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาปฏิบัติงานแทนเมื่อเจ้าของตำแหน่งเดิมเกษียณอายุไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคงไม่ได้มีความพร้อมจะมาทำงานทดแทนได้ “ทันที” ทุกคนจริงไหมครับ ดังนั้นองค์กรก็จะต้องมีแผนในการพัฒนาทายาทเป็นรายบุคคลแบบที่เรียกกันว่า “IDP” หรือ Individual Development Plan เพื่อเตรียมความพร้อมของทายาทที่จะมาทดแทนเจ้าของตำแหน่งหลักในอนาคตพร้อมทั้งจะต้องมีแผนในการติดตามผลการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าทายาทคนนั้น ๆ จะมีพัฒนาการที่พร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะมาทดแทนเจ้าของตำแหน่งหลักในอีก 5 ปีข้างหน้า

6.      ในกรณีที่ไม่มีทายาทที่เหมาะสมที่จะมาทดแทนพนักงานในตำแหน่งหลักได้ องค์กรจะมีแผนในการแก้ปัญหานี้ยังไงบ้าง หลายครั้งที่มักจะพบว่าเกิดจากปัญหา “สมองไหล” ในพนักงานหรือผู้บริหารระดับต้นหรือระดับกลางเป็นระยะแต่องค์กรก็ไม่เคยให้ความสำคัญที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้จนทำให้ในที่สุดองค์กรก็จะขาดคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน เพราะเมื่อรับคนเข้ามาทำงานได้ประมาณ 3-5 ปีองค์กรก็ทุ่มทุนพัฒนาอย่างเต็มที่จนมีความรู้ในงานและประสบการณ์ทำงานพอสมควรแล้ว แต่ปรากฎว่าคนเหล่านี้มาลาออกไปเสียอีก ซึ่งหลายแห่งก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหา “คนนอก” เข้ามาทำงานในตำแหน่งงานหลัก แต่ก็มักจะมีปัญหาต่อมาก็คือคนนอกหลายคนทำงานอยู่กับองค์กรได้ไม่นานก็มักจะลาออกไปอยู่ที่อื่น (ซึ่งสาเหตุก็มักจะเกิดจากหลาย ๆ เรื่องเช่น ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรหรือสภาพแวดล้อมได้ ฯลฯ) ทำให้เสียเวลาและเสียเงินไปเปล่า ๆ

ทั้งหมดที่ผมนำมาแจงให้ท่านเห็นนี้ล้วนเกิดจากการไม่ได้คิดหรือวางแผนหรือแก้ปัญหาในปัจจุบันให้ดี ซึ่งหลายองค์กรก็ละเลยเรื่องเหล่านี้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าพนักงานในตำแหน่งหลักต้องเกษียณอายุเสียแล้ว (หรือบางทีพนักงานในตำแหน่งหลักอาจจะลาออกไปก่อนก็มี) และเมื่อหาใครมาทำแทนยังไม่ได้ หลายองค์กรก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ “ต่อเกษียณอายุ” พนักงานดังกล่าวออกไปอีก

อย่าลืมว่าการทำแบบนี้ก็เท่ากับองค์กรกำลังไม่สร้าง “ระบบ” ขึ้นมารองรับ แต่กลับให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล” มากกว่าระบบนะครับซึ่งโดยหลักการแล้วองค์กรที่จะอยู่รอดในระยะยาวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบงานมากกว่าการผูกความสำคัญไว้ที่ตัวบุคคล

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่อยากจะฝากข้อคิดกับท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น HR หรือผู้บริหารระดับสูงว่าท่านจะเริ่มจะมีไอเดียและเห็นความสำคัญในการทำแผนอัตรากำลังทดแทนในอนาคตไว้บ้างหรือยังครับ

การวางแผนที่ดีก็คือการคิดเอาไว้ล่วงหน้าอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดีกว่าการที่จะต้องมาคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบฉุกละหุกเหมือนที่ผมเล่ามาข้างต้นจริงไหมครับ ?

 

………………………………..