คำถามข้างต้นนี้ผมมักจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ นะครับ
และผมก็เชื่อว่าท่านก็คงจะเคยได้ยินมาแล้วแบบเดียวกัน แถมอาจจะมีคำถามต่อมาอีกด้วยว่า
“ถ้างั้นเราจะเรียนไปทำไมกันล่ะ
ก็เรียนไปแล้วอาจจะทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ได้นี่....”
แหม..ถ้าคิดอย่างนี้สรุปแล้วก็ไม่ต้องเรียนอะไรกันเลยดีไหมครับ
เรียกว่าพออายุถึงเกณฑ์ทำงานก็ทำงานกันไปเลย..ล้อเล่นนะครับอย่าซีเรียส
ในวันนี้ผมเลยอยากจะขออธิบายเรื่องของการทำงาน-การเรียน
และสมรรถนะหรือขีดความสามารถในการทำงาน (หรือที่เรียกกันว่า “Competency”) แบบง่าย ๆ ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันยังไง
ดังนี้ครับ....
1.
เรื่องของการเรียน : ทุกคนก็ต้องเรียนหนังสือกันตามภาคบังคับ
และก็ร่ำเรียนกันโดยใช้เวลากันโดยประมาณ 20 ปี (อนุบาล 3
ปี ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี
อุดมศึกษาประมาณ 4-6 ปี)
ซึ่งการเรียนของแต่ละคนก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจจะเรียนอะไรด้านไหน
บางคนก็เรียนตามเพื่อน ตามกำลังทรัพย์ของทางบ้าน ฯลฯ ซึ่งสาขาที่เรียนก็อาจจะตรงกับที่ธุรกิจหรือตลาดต้องการ
หรืออาจจะไม่ตรง
ก็ต้องไปวัดดวงกันตอนจบมาแล้วไปสมัครงานนั่นแหละครับว่าเขาจะรับเข้าทำงานหรือไม่และเมื่อเริ่มทำงานแล้วก็ต้องมาเรียนรู้งานที่ทำกันใหม่แต่ยังไงก็ตามการเรียนในภาคบังคับก็ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานต่อไปในอนาคตนะครับ
2.
การทำงาน : แต่เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว
ในที่ทำงานทุกแห่งต้องการพนักงานที่มีสมรรถนะหรือขีดความสามารถ (หรือที่เรียกว่า “Competency”) ใน 3 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
2.1
Knowledge – K หมายถึง บริษัท, หน่วยงาน หรือหัวหน้างาน ต้องการพนักงานที่มี “ความรู้ในงาน” ในตำแหน่งนั้น ๆ เป็นอย่างดี
ซึ่งความรู้ในงานไม่ได้หมายถึงความรู้ที่เรียนจบมานะครับ ผมยกตัวอย่างเช่น
ในตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่บัญชี ต้องการคนจบปริญญาตรีบัญชี
ซึ่งจริงอยู่ว่าในสมัยเรียนบัญชีนั้น ทางสถาบันเขาก็สอนเรื่องหลักการบัญชี เดบิต
เครดิต งบการเงิน ฯลฯ ให้นักศึกษาได้มีความรู้ในเรื่องของหลักการบัญชี
แต่เมื่อนักศึกษาจบมาแล้วมาทำงานในบริษัทตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชีน่ะ
เขาจะมีความรู้เกี่ยวกับระบบบัญชีของบริษัทหรือไม่
ซึ่งความรู้ที่เกี่ยวกับงานระบบบัญชีของบริษัทนี้ไม่ใช่ความรู้ระบบบัญชีสมัยเรียนนะครับ
เพราะความรู้บัญชีสมัยเรียนเป็นทฤษฎี แต่ตอนนี้เราจะต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับระบบบัญชีของบริษัทที่เป็นของจริงที่อยู่ตรงหน้าซึ่งอาจจะมีความแตกต่างไปจากตอนที่เรียน
ซึ่งถ้าใครมีความรู้ในระบบงานบัญชีของบริษัทอย่างแท้จริงคนนั้นแหละครับคือคนที่บริษัทต้องการ
2.2
Skills – S หมายถึงทักษะในการทำงานที่ตำแหน่งงานนั้น
ๆ ต้องการ เช่นตัวอย่างเดิมคือบริษัทอยากจะได้เจ้าหน้าที่บัญชีที่มีทักษะในการปิดงบการเงินของบริษัทได้ถูกต้อง
และทันตามเวลาที่กำหนด
ซึ่งตอนที่เรียนหนังสืออยู่ก็อาจจะเคยเรียนเรื่องการปิดงบการเงิน
หรือเคยสอบผ่านมาแล้ว แต่มันก็จะแตกต่างจากงบการเงินของบริษัท
เพราะนี่คือเรื่องจริงของจริง ไม่เหมือนกับงบการเงินสมัยเรียนหนังสือ
ดังนั้นถ้าใครสามารถมีทักษะในการลงมือปฏิบัติหรือปิดงบการเงินของบริษัทได้ถูกต้อง
ทันเวลา นี่แหละครับคือทักษะหรือการลงมือทำจริงในงานได้อย่างที่หัวหน้าต้องการก็คือคนที่จะเหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งนี้
2.3
Attributes – A หมายถึงคุณลักษณะภายในตัวคน
ๆ นั้นว่าจะเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ทำอยู่หรือไม่ เช่น
ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชีต้องการคนที่มีความละเอียดรอบคอบสูงมากเพราะงบการเงินจะผิดพลาดไม่ได้
แต่ถ้าใครที่แม้จบบัญชีมาโดยตรงก็ตามแต่เป็นสะเพร่า
ไม่ละเอียดรอบคอบก็จะไม่เหมาะกับการเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัทนี้เป็นต้น
ซึ่งคุณลักษณะภายในนี้จะเป็นลักษณะเชิงนามธรรมในตัวคนทุกคน
ที่ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันนาน ๆ หรือทำงานร่วมกันนาน ๆ ถึงจะค่อย ๆ เห็น เช่น ความซื่อสัตย์, ความรับผิดชอบ, ความอดทน,
ความขยัน, ทัศนคติเชิงบวก,
ความละเอียดรอบคอบ, ความมุ่งมั่น ฯลฯ เป็นต้น
จากที่ผมอธิบายมาข้างต้นจะสรุปได้ว่าถ้าใครมี
K-S-A
ในตัวเองเหมาะกับงานที่ทำอยู่ก็จะประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง
ก้าวหน้าไปในงานที่ทำได้อย่างแน่นอน เพราะมีความรู้ในงานที่ทำอยู่อย่างคนรู้จริง,
มีทักษะในงานที่ทำอยู่จริงสามารถลงมือปฏิบัติทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างชำนิชำนาญ
และมีคุณลักษณะภายในตัวที่ดี ซึ่ง 3 สิ่งนี้แหละครับจะมีอิทธิพลอย่างสำคัญที่จะทำให้คน
ๆ นั้นประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่ามี “Competency”
ซึ่งแปลเป็นไทยว่าคน ๆ นั้นมี “สมรรถนะ หรือมีขีดความสามารถ” ตรงกับงานที่เขารับผิดชอบนั่นเอง
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของ
Competency
อย่างง่าย ๆ เป็นรูปธรรม เช่น พี่บี้เดอะสตาร์ จบอะไรมาครับ ?
แน่ะแฟนคลับพี่บี้ก็จะรู้ว่าพี่บี้จบวิศวกรรมศาสตร์มาจริงไหมครับ แต่ถามต่อมาอีกว่า
K S A ในตัวพี่บี้น่ะเหมาะกับจะไปประกอบอาชีพวิศวกรตามที่ร่ำเรียนมาไหมล่ะครับ
คำตอบก็คือไม่น่าจะใช่เพราะ K S A ในตัวของพี่บี้น่ะมาทางนักร้องนักแสดงจะเหมาะกว่า
ดังนั้นแม้ว่าพี่บี้จะจบวิศวะมาและจะสามารถไปทำงานเป็นวิศวกรได้ก็จริง แต่ก็คงจะไม่ดีเหมือนมาทำงานในด้านการเป็นนักร้องนักแสดงจริงไหมครับ
นี่แหละครับถึงเป็นคำตอบว่าทำไมคนที่เรียนอะไรมาก็ตามอาจจะต้องมาทำงานไม่ตรงกับที่ตัวเองจบมาก็ได้
(แต่คนที่ทำงานได้ตรงกับสาขาที่จบมาก็มีไม่น้อยนะครับอยู่ที่ว่า K S A ที่มีในตัวมันตรงกับที่เรียนมาด้วยหรือไม่ ซึ่ง K S A อาจจะตรงกับที่เรียนจบมาหรือไม่ตรงกับที่เรียนจบมาก็ได้)
จึงอยู่ที่คน ๆ
นั้นค้นหาตัวเองเจอหรือไม่ว่าตัวเรามี K S A อะไรอยู่ในตัวบ้าง
และ K S A นั้นมันเหมาะกับงาน (หรือตำแหน่งงาน)
ที่เราทำอยู่หรือไม่ ถ้าเรามี K S A ในตัวของเราตรงกับตำแหน่งงานที่ทำอยู่
(ซึ่งงานที่ทำอยู่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมาก็ตาม)
แล้วเราก็สะสมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการทำงานให้เพิ่มพูนมากขึ้น พัฒนา K
S A ในตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
เราก็จะทำงานประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองถนัดได้ในที่สุดครับ
แล้วตอนนี้..ท่านล่ะค้นหา
K
S A ในตัวของท่านเจอแล้วหรือยังครับ ?
……………………………