วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

ค่าจ้างคืออะไร ?


            วันนี้ผมมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่านอีกแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่คนทำงานไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้บริหารไปจนถึงเจ้าของกิจการยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่และอาจจะมีการปฏิบัติแบบไม่ถูกต้องนัก ผมก็เลยขอนำมาแลกเปลี่ยนความรู้กันในตอนนี้คือตอนที่ตั้งคำถามว่า “ค่าจ้าง”  คืออะไร

            ทุกบริษัทต่างก็จะมีการจ่าย “เงินเดือน” ให้กับพนักงานกันทุกเดือนอยู่แล้วใช่ไหมครับ แต่ก็ยังมีบริษัทอีกไม่น้อยที่จะมีการจ่ายเงินอื่นให้กับพนักงานที่นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าตำแหน่ง, ค่าครองชีพ, ค่าภาษา (ต่างประเทศ), ค่าวิชา (กรณีใช้วิชาชีพเฉพาะทางเช่น ด้านที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์), ฯลฯ

            ซึ่งการจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ นี่แหละครับที่จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในหลายบริษัท ยกตัวอย่างเช่น

            บริษัท YYY จำกัด ทำสัญญาจ้างคุณชวนชัยเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ โดยมีเงินเดือน ๆ ละ 50,000 บาท ค่าตำแหน่ง 5,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท และค่าภาษาจีน (เนื่องจากต้องใช้ภาษาจีนในการติดต่อกับลูกค้าจีน) เดือนละ 3,000 บาท

            สำหรับค่าตำแหน่งนั้น บริษัทจะมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายคือหากเป็นผู้จัดการฝ่ายจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 5,000 บาท ผู้จัดการแผนกจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท หัวหน้าแผนกจะได้ค่าตำแหน่งเดือนละ 2,000 บาท

            ส่วนค่าภาษาต่างประเทศนั้น บริษัทจะจ่ายให้ในกรณีที่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ จำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศในการติดต่อธุรกิจของบริษัทเท่านั้นเช่นกรณีของคุณชวนชัย ถ้าตำแหน่งใดไม่ได้ใช้ภาษาต่างประเทศทำงานที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ก็จะไม่ได้รับค่าตำแหน่ง

            สำหรับค่าครองชีพนั้นบริษัทจ่ายให้พนักงานทุกคนเท่ากันทั้งบริษัทเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งจ่ายอย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ซึ่งค่าครองชีพดังกล่าวก็ไม่ได้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามสภาพทางเศรษฐกิจหรือตามภาวะการครองชีพใด ๆ

            ดังนั้นสรุปแล้วคุณชวนชัยก็จะมีรายได้ต่อเดือนเป็นดังนี้

เงินเดือน = 50,000 บาท ค่าตำแหน่ง = 5,000 บาท ค่าครองชีพ = 2,000 บาท ค่าภาษา = 3,000 บาท

            ปัญหาเกิดขึ้นก็ตอนที่คุณชวนชัยทำงานกับบริษัทมาปีเศษ ๆ บริษัทก็แจ้งว่าจะเลิกจ้างคุณชวนชัยเพราะไม่สามารถหาลูกค้าต่างชาติได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ และบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างให้ตามกฎหมายแรงงาน (ตามมาตรา 118) คือทำงานมา 1ปีไม่เกิน 3 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า “ค่าจ้าง” อัตราสุดท้าย 90 วัน หรือพูดง่าย ๆ ภาษาคนทำงานว่าคุณชวนชัยจะได้ค่าชดเชย 3 เดือนนั่นแหละครับ

          ปัญหามาเกิดขึ้นก็ตรงที่บริษัทบอกว่า “ค่าจ้าง” สุดท้ายของคุณชวนชัยคือ 50,000 บาท (คือบริษัทหมายถึงเพียงแค่เงินเดือนตัวเดียว) จึงจะจ่ายค่าชดเชยให้คุณชวนชัย 150,000 บาท ?

            แต่คุณชวนชัยบอกว่าบริษัททำไม่ถูกต้อง เพราะฐาน “ค่าจ้าง” ของเขาจะต้องรวมค่าตำแหน่ง, ค่าครองชีพ และค่าภาษา เข้าไปในเงินเดือนด้วย นั่นก็คือบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เขา 180,000 บาทถึงจะถูกต้อง (คุณชวนชัยบอกว่า “ค่าจ้าง” ของเขาคือ เงินเดือน+ค่าตำแหน่ง+ค่าครองชีพ+ค่าภาษา นั่นเองครับ)

          ตกลงกรณีนี้ใครจะบอกได้ว่า “ค่าจ้าง” ของคุณชวนชัยคือเท่าไหร่กันแน่ล่ะครับ ?

            ตรงนี้แหละครับผมอยากจะนำท่านมารู้จักกับคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานดังนี้นะครับ

            มาตรา 5 ....ค่าจ้างหมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

            ผมอยากจะให้ท่านดูตรงที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ในมาตรา 5 ข้างต้น นี่แหละครับคือความหมายของ “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายแรงงาน !

          ในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” นะครับ มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” !!

            ซึ่ง “ค่าจ้าง” ก็คือ “เงิน” (เป็นอย่างอื่น  เช่น คูปอง หรือการจ่ายที่ไม่ใช่เงินก็ไม่ได้นะครับ) ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันตั้งแต่ตอนรับเข้ามาทำงาน เพื่อเป็น “ค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง” หมายถึงเงินใดก็ตามที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง “เพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน” จะเข้าข่ายคำว่าค่าจ้างครับ สำหรับระยะเวลาทำงานปกติ ก็หมายถึงในเวลาทำงานปกติของพนักงาน ดังนั้นค่าทำงานล่วงเวลา (ที่เรามักจะเรียกติดปากว่า “โอที” ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติไงครับ)

            เมื่อนำความหมายของค่าจ้างในมาตรา 5 มาวิเคราะห์เรื่องของคุณชวนชัยแล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงได้คำตอบแล้วนะครับว่า “ค่าจ้าง” ของคุณชวนชัยที่ถูกต้องคือเท่าไหร่ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย..

          50,000+5,000+2,000+3,000 = 60,000 บาท เป็นคำตอบสุดท้ายครับ

            ถ้าท่านยังข้องใจว่าเพราะอะไร..อธิบายได้อย่างนี้ครับ

            เงินเดือน 50,000 บาท เป็นค่าตอบแทนการทำงานของคุณชวนชัยให้กับบริษัทไหมครับ (ใช่), ค่าตำแหน่ง 5,000 บาท เป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับบริษัทในฐานะผู้จัดการฝ่ายไหมครับ (ใช่), ค่าภาษา 3,000 บาทเป็นค่าตอบแทนการทำงานเพราะต้องใช้ภาษาจีนในการทำงานใช่หรือไม่ (ใช่), ค่าครองชีพเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับบริษัทไหมครับ (ใช่..แม้ว่าบริษัทจะบอกว่าเป็นสวัสดิการก็ตาม แต่เพราะบริษัทจ่ายเงินตัวนี้โดยไม่ได้มีเจตนาให้เป็นสวัสดิการอย่างแท้จริง โดยจ่ายเท่ากันหมดทุกคนและไม่เคยปรับปรุงเงินตัวนี้ให้เป็นไปตามสภาวะค่าครองชีพที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเงินตัวนี้จึงกลายเป็นค่าจ้างครับ - คำพิพากษาที่ ฎ.8938-8992/2552)

          ปิดท้ายเรื่องนี้ผมจึงอยากจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ค่าจ้าง” ไม่ได้มีแค่ “เงินเดือน” เพียงอย่างเดียวนะครับ แล้วบริษัทของท่านล่ะครับมี “อะไร” ที่เป็นค่าจ้างอีกบ้าง ?

 

………………………………………….