ผมไปอ่านเจอกระทู้นี้เข้าในเว็บไซด์ชื่อดังแห่งหนึ่งเลยเกิดไอเดียหลาย ๆ อย่างที่อยากจะนำมาแชร์ประสบการณ์กับท่านผู้อ่าน
ซึ่งผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจใม่น้อยเลยนะครับ
ผมขอไล่เรียงเป็นข้อ
ๆ เพื่อให้ท่านอ่านได้ง่าย ๆ อย่างนี้ครับ
1.
น้องคนนี้เพิ่งจบปริญญาตรีด้านไอที (Information
Technology-IT) แล้วก็ยังไปสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดีคือ
TOEIC
(The Test of English for International Communication) ได้คะแนน 800
กว่า ๆ (จากคะแนนเต็ม 990 รายละเอียดของ TOEIC
สำหรับท่านที่ยังไม่รู้ก็ไปหาอ่านในกูเกิ้ลนะครับ)
ซึ่งก็ถือว่าได้คะแนนดี
แล้วไปสมัครงานบริษัทแห่งหนึ่งแล้วบริษัทให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่ลักษณะงานเหนื่อยหน่อย (ไม่ได้บอกว่า “เหนื่อย”
นี่เหนื่อยแบบไหนยังไง)
ก็เลยคิดว่าน่าจะไปหาบริษัทอื่นที่จะให้เงินเดือนมากกว่านี้
เพราะคิดว่าตัวเองก็จบด้านสารสนเทศมา ภาษาก็ดีควรจะได้งานที่จ่ายให้มากกว่านี้
2.
จากข้อมูลตามข้อ 1 เงินเดือนเริ่มต้นที่บริษัทแห่งนี้เขาเสนอให้ที่
25,000 บาท (ซึ่งผมก็ว่าดีพอสมควรสำหรับคนจบปริญญาตรีใหม่)
สำหรับน้องคนนี้ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลยแต่อยากจะได้เงินเดือนมากกว่านี้ทั้ง
ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรเลย
แต่น้องอาจจะคิดว่าตัวเองก็มีจุดเด่นเรื่องผลสอบ TOEIC ได้
800 กว่า ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นเขาอาจจะมีผลสอบ TOEIC
น้อยกว่านี้ก็เลยอาจจะคิดว่าน่าจะเอาคะแนน TOEIC มาเพิ่มค่าตัวให้มากขึ้นได้ทำนองนั้นมั๊งครับ
3.
ถ้าน้องมองไปไกล ๆ ยาว ๆ ในอนาคตข้างหน้า
สิ่งที่จะทำให้น้องยืนยงอยู่ในวงการแบบมืออาชีพได้ (ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพหรือเถ้าแก่ก็ตาม)
สำหรับผม ๆ ว่านั่นคือเรื่องของ “ผลงาน+ความสามารถ”
ในการทำงานนะครับ หรือจะเรียกเชิงวิชาการหน่อย ๆ เขาก็อาจจะเรียกว่า P+C
(Performance+Competency)
ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะได้มาจากประสบการณ์ทำงาน
การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในงานที่รับผิดชอบ การสร้างผลงานที่เป็น Signature ของตัวเองให้คนรอบข้างยอมรับ
ซึ่งเรื่องพวกนี้แน่นอนว่าในคนจบใหม่ยังไม่มีในทันทีที่จบ แต่จะต้องใช้เวลาในการสั่งสมและสร้างมันขึ้นมาครับ
4.
P+C นี่แหละจะทำให้ค่าตัวของน้องเพิ่มขึ้นตามเวลา
อายุตัว อายุงานที่ผ่านไป ถ้าน้องมี P+C ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
และเกิดการยอมรับจากคนรอบข้าง (ผู้บริหาร, หัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน, ลูกน้อง ฯลฯ)
แต่ถ้า P
ก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้น แถม C ก็ไม่มีความสามารถอะไรที่พัฒนาขึ้นมาเลยทำงานมากี่ปีก็มีความรู้ในงานทักษะในงานใกล้เคียงกับเด็กจบใหม่
แล้วใครเขาจะมามาให้เงินเดือนเยอะ ๆ ล่ะครับ
5.
จากที่ผมบอกมาข้างต้น
ถ้าแทนที่น้องจะเอาเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท
ที่น้องบอกว่าน้อยกว่าความสามารถที่น้องมี
(ซึ่งตอนนี้ก็คงมีเพียงเรื่องผลสอบ TOEIC เพียงอย่างเดียว
แต่ความสามารถในเรื่องงานยังไม่มีอะไรเลย) มาเป็น..เอาตัวเนื้องานที่น้องจะต้องทำมาเป็นตัวตั้งต้น
คือตอบตกลงทำงานแล้วเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะในงานที่รับผิดชอบ
ทำงานนี้ให้ดีที่สุด สร้างผลงาน (Performance) ที่หัวหน้าและคนรอบข้างยอมรับ
ซึ่งจะทำให้น้องพัฒนาขีดความสามารถ (Competency) ให้เพิ่มขึ้นกว่าตอนเรียนหนังสือ
เพราะตอนเรียนเราจะรู้แต่ทฤษฎี
แต่การทำงานจริงเราจะได้ประยุกต์สิ่งที่เรียนในตำรามาสู่การปฏิบัติ
(Practice)
ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในตำรา
ถ้าน้องมีวิธีคิดได้อย่างนี้ผมว่าในอนาคตน้องจะเติบโตไปในแบบ “มืออาชีพ”
ตัวจริงเสียงจริงและเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ มากกว่านะครับ
ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นผมว่าน้องจะเป็นคนประเภท “หล่อเลือกได้” หรือ
“สวยเลือกได้” เพราะคนมีประสบการณ์มีผลงานมีความสามารถใคร ๆ ก็อยากได้ไปทำงานด้วยอยู่แล้วครับ
อยากจะฝากข้อคิดอีกอย่างก็คือ
เมื่อน้องจบการศึกษามาแล้วไม่ว่าผลการสอบใด ๆ ที่เรียนมามันจบไปตั้งแต่ตอนที่บริษัทเขารับเข้าทำงานแล้ว
ส่วนที่ต่อจากนั้นบริษัทเขาต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถในงาน
มีประสบการณ์ทำงาน
มีผลงานอย่างที่เขาต้องการมากกว่าเพียงแค่เกรดหรือผลการสอบในอดีตที่ผ่านมาแล้ว
ดังนั้นอย่าไปยึดติดเรื่องผลการสอบสมัยเรียนหนังสือให้มากจนเกินไป แล้วเอามาโยงกับชีวิตการทำงานในปัจจุบันเพราะมันคนละเรื่องกันครับ
อย่าติดกับอดีตให้อยู่กับปัจจุบัน !
6.
สำหรับบริษัทที่น้องไปสมัครงานแล้วให้เงินเดือน
25,000
บาทนั้น ผมยังมีข้อคิดข้อสังเกตบางประการคือ ถ้าเป็นปริญญาตรี IT เหมือนกับน้อง แต่ไม่ได้สอบ TOEIC หรือผลการสอบ TOEIC
ได้ต่ำกว่า 800 เช่น ได้ 600 คะแนน อย่างนี้จะให้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 เท่ากันด้วยหรือไม่
ถ้าให้ไม่เท่ากันเหตุผลคืออะไร เพราะตำแหน่งงานนี้ต้องการคนที่เป็น IT Man ที่ใช้ภาษาอังกฤษ พูด-อ่าน-เขียน
คล่องแคล่วต้องติดต่อกับต่างชาติอย่างนั้นหรือเปล่า
ถ้าสมมุติว่าในตำแหน่งที่น้องสมัครงานนี้ไม่ได้ติดต่อต่างชาติไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย
จะไปกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นในตำแหน่งนี้ให้สูงกว่าคนที่จบวุฒิเดียวกันแต่ไม่ได้สอบ
TOEIC
หรือ ผลคะแนน TOEIC น้อยกว่าน้องคนนี้ไปเพื่ออะไรกันครับ
ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะยังมีหลายองค์กรมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะนี้ที่พอผมถามไปก็หาเหตุผลในการตอบผมไม่ได้ว่าทำไมถึงไปจ่ายแพงกว่าในเรื่องที่เราก็ไม่ได้ใช้
แถมทำให้ Staff
Cost สูงขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล
และยังทำให้เกิดปัญหาเชิงแรงงานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันอีกต่างหาก
เพราะทำงานเดียวกัน ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อต่างชาติอะไรเลยเหมือน ๆ กัน
แต่เพื่อนดันได้เงินเดือนเยอะกว่าทั้ง ๆ ที่ผลสอบ TOEIC ก็ไม่ได้เอามาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์กับบริษัทคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายเพิ่มขึ้น
??
ผู้บริหารองค์กรไม่ควรลืมสัจธรรมที่ผมพูดไว้เสมอ
ๆ ว่า “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่”
ด้วยล่ะครับ เรื่องเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงานบุคคลมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว
จากที่ผมแชร์ความคิดเห็นและข้อสังเกตมาทั้งหมดนี้คงจะพอทำให้ทั้งท่านที่เป็นน้องใหม่เพิ่งจบการศึกษา
และท่านที่เป็นผู้บริหารกิจการได้มีข้อคิดอะไรบางอย่างเพื่อกลับไปปรับปรุงอะไรบางอย่างบ้างแล้วนะครับ
……………………………….