วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้สมัครงานควรจะถามเรื่องเงินเดือนเมื่อไหร่ดี ?


            ในระหว่างการสัมภาษณ์งานมักจะมีคำถามหนึ่งที่มักจะเป็นประเด็นสอบถามกันอยู่เสมอ ๆ ว่า..

ผู้สมัครงาน : “เราควรจะถามเรื่องเงินเดือนกับผู้สัมภาษณ์ (ไม่ว่าจะเป็น HR หรือ Line Manager ก็ตาม) ดีหรือไม่”

ผู้สัมภาษณ์ : “เราควรจะตอบคำถามข้างต้นยังไงดี”

            ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะครับที่ผู้สมัครงานเองก็อยากจะรู้ว่าถ้าเรามาทำงานที่บริษัทนี้จะได้เงินเดือนสักเท่าไหร่ เพื่อจะได้เอาไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ไปสมัครงานอยู่ ถ้าบริษัทไหนให้เงินเดือนดีกว่าก็มีแนวโน้มจะไปทำงานกับบริษัทที่จ่ายดีกว่า ก็เลยอยากจะรู้ว่าที่บริษัทนี้เขาจ่ายเท่าไหร่

            แต่อันนี้เป็นมุมมองหรือความคิดของทางฝั่งผู้สมัครงานนะครับ !

            ผมอยากจะให้ท่านที่เป็นผู้สมัครงานลองคิดและมองในมุมของผู้สัมภาษณ์ที่อยู่ทางฝั่งบริษัทบ้าง....

            ทุกบริษัทจะถือว่าเรื่องเงินเดือนเป็นความลับ แทบทุกบริษัทก็มักจะมีแนวปฏิบัติคล้าย ๆ กันก็คือก่อนเงินเดือนจะออกก็จะมีการแจกสลิปเงินเดือนเป็นรายบุคคลปิดผนึกอย่างดี แถมบางแห่งก็ตีตรา “ลับ” หรือ “ลับเฉพาะ” นัยว่าไม่อยากให้พนักงานรู้เงินเดือนกัน  เพราะสัจธรรมที่ผมมักจะพูดเสมอ ๆ ว่า....

          “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเงินเดือนคนอื่นได้เท่าไหร่” น่ะสิครับ

            นี่ขนาดเป็นพนักงานของบริษัทนะครับ ยังพยายามปิดเรื่องเงินเดือนกันขนาดนี้

          แล้วท่านที่เป็น “คนนอก” คือเป็นผู้สมัครงาน ซึ่งบริษัทเองก็ยังไม่รู้ว่าจะรับท่านเข้าทำงานหรือเปล่า แล้วทำไมเขาถึงต้องเอาเรื่องความลับ (เงินเดือน) ของบริษัทมาบอกกับคนภายนอกด้วยเล่า ?

            แม้ว่าผู้สมัครบางท่านอาจจะบอกว่า “แหม..ก็บอกแบบกว้าง ๆ ก็ได้ว่าอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทหรือเปล่า หรือบอกแบบประมาณ ๆ เอาก็ได้  จะได้เอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่นได้....ฯลฯ”

            ผมก็อยากจะบอกว่า การบอกแบบประมาณ  ๆ เอา หรือบอกแบบกลาง ๆ ที่ว่า “ก็คงจะอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทนะ....น่าจะไม่มีปัญหานะ.... ฯลฯ” ทำนองนี้ มันก็คือการให้คำรับรองโดยกลาย ๆ ที่จะทำให้ผู้สมัครงานฟังแล้วพออนุมานและนำไป “มโน”  ต่อได้แล้วนะครับ

            ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครงานแจ้งขอเงินเดือนมาในใบสมัครงานมาที่อัตรา 20,000 บาท แล้วถามกรรมการสัมภาษณ์ว่า “ที่ขอเงินเดือนมา 20,000 บาทเนี่ยะบริษัทจะจ่ายได้หรือไม่” ถ้ากรรมการสัมภาษณ์ตอบว่า “ก็คิดว่าคงจะอยู่ในโครงสร้างเงินเดือนนะครับ” อย่างนี้ก็เท่ากับการยอมรับโดยปริยายแล้วว่าถ้าบริษัทรับเราเขาทำงานในตำแหน่งงานนี้เราก็จะได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาทนี่แหละ

          แต่....โลกทุกวันนี้คือโลกของ Social media ครับ..เมื่อเรารู้..โลกต้องรู้ด้วย !!

            ผู้สมัครรายนี้ก็เอาเรื่องนี้ไปโพสขึ้นกระทู้ในเว็บไซด์ดัง ๆ ทันทีว่า....

          “วันนี้ เราไปสมัครงานที่บริษัท....ตำแหน่ง....เขาให้เงินเดือนสองหมื่น เพื่อน ๆ ว่างัย....” เท่านั้นแหละครับ เดี๋ยวก็จะมีพวกเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์กันสนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่คนเม้นท์เองก็ไม่ได้ไปสัมภาษณ์ด้วย ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานในตำแหน่งนี้อะไรเลยอีกต่างหาก แต่อยากจะขอเม้าท์ออกความเห็นในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้รายละเอียดอ้ะ เพราะเม้นท์ไปแล้วเราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนี่

            แต่ที่จะมีปัญหาดราม่ามากกว่านั้น ก็คือพนักงานของบริษัทในตำแหน่งเดียวกัน ดันไปอ่านกระทู้นี้ด้วยก็จะปรี๊ดขึ้นทันที เพราะตัวเองก็ทำงานตำแหน่งนี้อยู่แต่ได้เงินเดือน 18,000 บาทเอง ทำไมใครก็ไม่รู้มาสมัครงานตำแหน่งเดียวกับเราดันได้มากกว่าเราตั้งสองพัน!!

          เห็นไหมครับว่าสัจธรรม “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับคนอื่นได้เท่าไหร่” เริ่มทำงานแล้ว ! เกิดปัญหาภายในบริษัทขึ้นตั้งแต่บริษัทยังไม่ได้รับผู้สมัครคนนี้เข้ามาทำงานเลย แถมในที่สุดก็อาจจะไม่ได้รับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงานอีกตะหาก

            ผมถึงมักจะแนะนำให้คนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ตอบผู้สมัครงานแบบกลาง ๆ ไปว่า “บริษัทกำลังหาผู้สมัครงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้อยู่ ยังสัมภาษณ์ไม่หมด ถ้าบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่าผู้สมัครรายอื่นและตัดสินใจรับคุณเข้าทำงาน บริษัท (โดยฝ่าย  HR) จะติดต่อกลับไปอีกครั้งพร้อมทั้งจะคุยรายละเอียดเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการกันต่อไป”

            แปลว่าจบครับ ยังไม่ต้องมาคุยกันเรื่องเงินเดือนเพราะบริษัทก็ยังไม่รู้ว่าจะรับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงานหรือไม่ คุยกันไปก็ยังไม่มีประโยชน์ตอนนี้ สู้มาคุยกันเรื่องงานที่จะต้องทำต้องรับผิดชอบในตำแหน่งนี้กันก่อนจะดีกว่า ว่าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานนี้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่น ๆ

          จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็มาสู่คำตอบของทางฝั่งผู้สมัครงานว่า “แล้วถ้ายังงั้นควรจะถามเรื่องเงินเดือนกันเมื่อไหร่ดี ?”

            ก็ตอบว่า “ก็ถามตอนที่บริษัทเขาติดต่อกลับมาแจ้งว่ารับท่านเข้าทำงานแล้วและจะเรียกไปเซ็นสัญญาจ้างงานน่ะสิครับ” เพราะตอนนี้แหละเป็นตอนที่ท่านได้รับการยืนยันแล้วว่าบริษัทรับเข้าทำงานเป็นพนักงานแน่นอน เราก็มีสิทธิจะต้องรู้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของเราแล้ว เพราะเรื่องงานและความรับผิดชอบเราคุยกันไปหมดแล้วตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ ตรงนี้ท่านก็ต่อรองเรื่องเงินเดือนและผลตอบแทนกันตามที่จะ WIN-WIN ทั้งสองฝ่ายได้เต็มที่

            แต่ถ้าผู้สมัครงานไปถามตอนที่ยังสัมภาษณ์อยู่ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าบริษัทจะรับเข้าทำงานหรือเปล่า) ต่อให้บริษัทบอกว่าในตำแหน่งนี้จ้างอยู่ 30,000 บาท ถ้าเขาไม่รับท่านเข้าทำงานเพราะคุณสมบัติไม่ตรงกับตำแหน่งงานนี้ ถึงจะรู้เงินเดือนไปก็ไม่มีประโยชน์ (สำหรับผู้สมัครงานที่เขาไม่ได้รับ) จริงไหมครับ

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงจะเข้าใจตรงกันแล้วทั้งสองฝ่ายว่าควรจะถามเรื่องเงินเดือนตอนไหน และควรจะตอบเรื่องอัตราเงินเดือนยังไงถึงจะเหมาะสมนะครับ

 

………………………………..