หลายองค์กรมีการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานกันอยู่เป็นประจำในช่วงปิดเทอม
ซึ่งก็จะเกิดประโยชน์ทั้งตัวนักศึกษาเองที่จะได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานก่อนจบการศึกษาว่าจะต้องเจออะไรบ้าง
(สำหรับคนที่ไม่เคยต้องทำงานส่งตัวเองเพื่อเรียนหนังสือ)
และตัวองค์กรที่ฝึกงานให้นักศึกษาก็จะได้ประโยชน์ของการรับนักศึกษาเข้ามาช่วยงานพี่
ๆ ที่ทำงานประจำได้บ้างในบางส่วนและยังเป็นเรื่องของ CSR สำหรับองค์กรอีกทางหนึ่ง
ทั้ง
ๆ ที่มีการรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานกันอยู่เสมอ ๆ
แต่ท่านเชื่อไหมครับว่ายังมีอีกหลายองค์กรมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝึกงาน
!!
ผมจึงขอนำประกาศกระทรวงแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน
ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 กันยายน 2546 (สิบกว่าปีมาแล้วนะครับ) โดยนำเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ ตามประกาศนี้มาแชร์ให้ท่านได้ทราบในวันนี้
(สำหรับประกาศฯตัวเต็มให้ท่านเข้าไปดูได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงแรงงาน www.mol.go.th)
เรามาดูกันไหมครับว่ามีเรื่องอะไรกันบ้าง
1.
ให้ฝึกงานวันละ 8 ชั่วโมง
แต่ถ้ากรณีงานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของผู้รับการฝึกตามกฎหมายแรงงานก็ให้ฝึกงานเพียงวันละ
7 ชั่วโมง และเมื่อฝึกงานมาแล้ว 4 ชั่วโมงผู้ดำเนินการจัดฝึกจะต้องให้ผู้ฝึกงานพักติดต่อกันไม่น้อยกว่า
1 ชั่วโมง จากข้อนี้จะเห็นได้ว่าหลายแห่งให้นักศึกษาฝึกงานทำงานเกิด
8 ชั่วโมงไปจนดึกดื่นน่ะ แสดงว่าท่านกำลังทำไม่ถูกต้องตามประกาศฉบับนี้แล้วล่ะครับ
2.
ในการฝึกงานก็จะเหมือนกับกฎหมายแรงงานคือเมื่อผู้รับการฝึกงานได้ฝึกงานมาแล้ว
6 วัน ผู้ฝึกงานจะต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน
3.
ห้ามรับผู้ฝึกงานที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และห้ามรับผู้ฝึกงานหญิงและเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ฝึกงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพนะครับ
4.
ผู้รับการฝึกงานสามารถลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริงแต่ไม่เกินวันลาที่กำหนดในหลักสูตร
และถ้าป่วยเกิน 3
วันติดต่อกันขึ้นไปก็ต้องมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดง
5.
ห้ามผู้ดำเนินการฝึกให้ผู้รับการฝึกไปฝึกงานในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาฝึกงาน
ซึ่งเรื่องนี้มักจะพบอยู่ว่าบางบริษัทพานักศึกษาฝึกงานไปนอกสถานที่ฝึกและสถานที่นั้นอาจจะเสี่ยงอันตราย
ดังนั้นการฝึกงานถึงได้ต้องมีการกำหนดสถานที่ฝึกงานให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายครับ
6.
ให้ผู้ดำเนินการฝึกจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นเงินตราไทยตามจำนวนวันที่ฝึกในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด
และต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
ซึ่งในเรื่องนี้ผมว่าในเรื่องนี้ยังมีอีกหลายองค์กรที่รับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานแล้วไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โดยอาจจะอ้างว่าบริษัทรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานก็เป็นบุญคุณล้นเหลือแล้วก็เลยไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้เลย
แต่ให้ท่านทราบไว้ด้วยนะครับว่าการไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษาฝึกงานน่ะมันผิดตามประกาศหลักเกณฑ์นี้นะครับ
จริงอยู่ว่าการที่บริษัทรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงาน
เป็นการให้ความรู้กับนักศึกษาในภาคปฏิบัติซึ่งก็ถือว่าเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) ให้กับสังคมทางหนึ่ง
แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทก็ใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานในการช่วยเหลือการทำงานของพนักงานประจำเช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่านักศึกษาจะยังทำงานไม่ได้เท่ากับพนักงานประจำก็ตาม และก็มีไม่น้อยที่ใช้ให้นักศึกษาฝึกงานทำงานเหมือนกับพนักงานประจำเลยด้วยซ้ำไป
ดังนั้นบริษัทก็จะได้ประโยชน์จากการทำงานของนักศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย
ดังนั้นผมคิดว่าการจ่ายเบี้ยเลี้ยงตามหลักเกณฑ์คือครึ่งหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำน่ะคงไม่ทำให้บริษัทถึงกับขาดทุนล้มละลายจริงไหมครับ
ซี่งหลายองค์กรก็จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษามากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมี
แหม..ทีบริษัทไปทำกิจกรรม CSR
อื่น ๆ ใช้งบประมาณมากมายยังทำได้
กะอีแค่จ่ายเบี้ยเลี้ยงนักศึกษาฝึกงานประมาณ 2-3 เดือน กลับควักกระเป๋าจ่ายไม่ได้นี่ดูมันขัดแย้งกันพิกลนะครับ
7.
หากนักศึกษาฝึกงานประสบอันตราย
หรือเจ็บป่วยในระหว่างการฝึกงาน ผู้ดำเนินการฝึกจะต้องให้การช่วยเหลือ
หรือให้บริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะมีการปฏิบัติกันตามปกติอยู่แล้วครับ
8.
ให้ผู้ดำเนินการฝึกจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการฝึกให้แก่ผู้รับการฝึกได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทน
ซึ่งค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุก็ไม่กี่บาทหรอกครับ
แต่เรื่องนี้ผมเชื่อว่าบริษัทหลายแห่งยังไม่ทราบว่ามีเรื่องนี้ด้วย
และหลายแห่งก็ไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุไว้ตามหลักเกณฑ์นี้ก็เลยแชร์ให้ท่านทราบว่าต้องมีการประกันอุบัติเหตุให้นักศึกษาฝึกงานด้วยครับ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้
ผมเชื่อว่าท่านคงจะได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและนำกลับไปทบทวนในเรื่องการรับนักศึกษาฝึกงานและมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไปแล้วนะครับ
…………………………….