วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กฎหมายแรงงานสำคัญยังไงกับการทำงาน

            มีคำพูดหนึ่งที่มักจะใช้กันอยู่เสมอ ๆ คือ “ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้”

            ในการทำงานก็เหมือนกัน เราก็มีกฎหมายแรงงานที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่หลายครั้งนายจ้างหรือฝ่ายบริหารไม่รู้กฎหมายแรงงานแล้วยังปล่อยให้มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องกับลูกจ้างหรือพนักงานจนทำให้เกิดการไปร้องเรียนกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (หรือเรามักจะเรียกว่าไปแรงงานเขตพื้นที่นั่นแหละครับ) หรือไปฟ้องศาลแรงงานซึ่งก็จะทำให้เกิดเรื่องดราม่าเป็นหนังชีวิตเรื่องยาว  เพราะทั้งนายจ้างลูกจ้างต้องขึ้นลงศาลเสียเวลาทำมาหากินไปเปล่า ๆ ทั้ง ๆ ที่ถ้าทำให้ถูกต้องปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

            ผมจึงมีข้อแนะนำว่าไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือจะเป็นพนักงานต่างก็ควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเอาไว้บ้าง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งปัจจุบันเราก็สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ไม่ยาก เช่น เข้าไปในกูเกิ้ลแล้วพิมพ์คำว่า “กฎหมายแรงงาน” ดูสิครับ มีขึ้นมาให้ศึกษาเรียนรู้เป็นล้านเว็บเลย

          แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายแรงงานแล้วจะทำให้ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นคนหัวหมอไปนะครับ....ไม่ใช่อย่างงั้น....

            เพราะการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องนี้จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็จะเข้าใจกฎกติการมารยาทในการทำงานร่วมกันมากขึ้น รู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ไม่ทำอะไรไปโดยไม่รู้หรือรู้ไม่จริงที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังต่างหากครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่ารู้ดีกว่าไม่รู้นั่นแหละครับ

            แม้แต่เรื่องในวันนี้ก็อีก....ความไม่รู้กฎหมายแรงงานในเรื่องพื้น ๆ เช่นเรื่องการจ่ายโอทีก็จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันได้แล้วครับ เช่น....

            นายสมนึกได้เงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท หัวหน้างานสั่งให้ทำงานล่วงเวลาเพราะเป็นงานเร่งด่วนจะต้องทำให้เสร็จเพื่อนำเสนอผู้บริหารในวันพรุ่งนี้เช้า ถ้าไม่ทำรายงานนี้ให้เสร็จฝ่ายบริหารจะขาดข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจทำให้บริษัทเสียหายได้
            นายสมนึกก็ทำงานล่วงเวลาตามที่หัวหน้าสั่งโดยใช้เวลาทำโอทีไป 4 ชั่วโมงในวันนั้น แต่พอสิ้นเดือนกลับได้ค่าโอที 200 บาท (บริษัทคิดค่าทำโอทีให้ชั่วโมงละ 50 บาท) นายสมนึกก็ไปถามเพื่อนที่อยู่อีกบริษัทหนึ่งว่าบริษัทของเพื่อนเขาคิดโอทีกันยังไง

            เพื่อนก็บอกว่าการคิดโอทีมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแรงงานดังนี้

1. หากทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ บริษัทจะต้องจ่ายค่าโอทีให้ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน
2. หากทำงานในวันหยุด บริษัทจะต้องจ่าย 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน
3. หากทำงานล่วงเวลาในวันหยุด บริษัทจะต้องจ่าย 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน(รายละเอียดไปดูได้ในมาตรา 61-63 ในกฎหมายแรงงานนะครับ)

             ในกรณีของสมนึกจะมีวิธีคิดโอทีที่ถูกต้องก็คือ 12,000 หาร 30 (ให้คิดหนึ่งเดือนมี 30 วัน) = 400 บาทต่อวัน หากคิดเป็นต่อชั่วโมงก็นำ 400 หาร 8 = 50 บาท/ชั่วโมง (ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง) ดังนั้นกรณีนี้นายสมนึกต้องได้รับค่าโอทีชั่วโมงละ 50x1.5=75 บาท ถึงจะถูกต้อง ดังนั้นเมื่อบริษัทจ่ายโอทีให้สมนึกชั่วโมงละ 50 บาทก็เท่ากับว่าบริษัทจ่ายค่าโอทีให้สมนึกแค่ 1 เท่าซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน

            พอสมนึกไปถามหัวหน้า ก็ได้รับคำตอบว่า “ก็บริษัทมีระเบียบการเบิกจ่ายโอทีให้แค่ 1 เท่า คุณก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท”

            ตรงนี้แหละครับที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่า ความไม่รู้กฎหมาย (แรงงาน) ของฝ่ายบริหารก็จะทำให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ขึ้นทำนองนี้ เพราะแม้บริษัทจะอ้างว่าบริษัทมีกฎระเบียบไว้แบบนี้ แต่ผู้บริหารต้องรู้ต่อว่า....

            หากกฎระเบียบ คำสั่ง ใด ๆ ของบริษัทถ้ามันขัดกับหลักกฎหมายแรงงานแล้ว กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อบังคับของบริษัทจะเป็นโมฆะเสมอเมื่อไปถึงศาลแรงงาน

            ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้านายสมนึกไปฟ้องศาลแรงงาน ก็แน่นอนว่าบริษัทจะแพ้คดีนี้ เพราะกฎระเบียบการจ่ายโอทีของบริษัทไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานครับ

            แพ้คดียังไม่พอ แถมยังจะก่อให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ระยะยาวเป็นดราม่าต่อมาอีกด้วย เพราะพนักงานก็จะนำไปพูดต่อ ๆ กันว่าบริษัทเอาเปรียบพนักงาน ผู้บริหารทำไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดการต่อต้านผู้บริหาร หรือพนักงานที่ทำงานดี ๆ เห็นว่าผู้บริหารไม่เป็นธรรมเลยลาออกไปที่อื่น ฯลฯ  ซึ่งเรื่องทำนองนี้หากผู้บริหารศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายแรงงาน (ที่มีเพียง 166 มาตรา) เสียหน่อย ก็คงไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา

              อ่านมาถึงตรงนี้ท่านเริ่มจะสนใจและเห็นความสำคัญของกฎหมายแรงงานขึ้นบ้างหรือยังครับ ?


………………………………….