วันนี้มีคำถามเข้ามาหาผมเรื่องของค่าตอบแทนเลยนำมาแชร์กันดังนี้ครับ
“หากเงินเดือนมีฐานสูงถึงเพดานแล้ว
แต่มาขอปรับวุฒิ ควรต้องปรับเงินเดือนหรือไม่ ควรปรับเท่าไหร่ ?
วุฒิปริญญาตรีปัจจุบันในตลาด
จ่ายเท่าไหร่ (โดยเฉลี่ย)”
ตอบ
ผมสันนิษฐานว่าบริษัทของท่านยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือนที่มีการทำมาอย่างได้มาตรฐาน
(คือมีการประเมินค่างานและจัดระดับชั้น-ตำแหน่งตามค่างาน
แล้วก็ทำโครงสร้างเงินเดือนโดยนำผลการสำรวจค่าจ้างของตลาดเข้ามาร่วมในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือน)
แต่เข้าใจว่าบริษัทของท่านคงกำหนดอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ
หรือตามตำแหน่งงานขึ้นตามความรู้สึก หรือตามแต่ฝ่ายบริหารจะบอกมา
หรือกำหนดจากการประมาณแบบกะ ๆ เอา
ที่ผมทายมาอย่างนี้ก็เพราะ
ถ้าบริษัทท่านมีการทำโครงสร้างเงินเดือนมาอย่างถูกต้อง คงจะไม่มีคำถามต่อมาว่า “วุฒิปริญญาตรีปัจจุบันตลาดเขาจ่ายกันโดยเฉลี่ยเท่าไหร่”
น่ะสิครับ
เพราะถ้ามีการทำโครงสร้างเงินเดือนมาอย่างถูกต้องแล้ว
คำถามนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยครับ เพราะถ้าหากคนที่เพิ่งจบวุฒิใดก็ตามแต่เงินเดือนกลับถึงเพดานตันนั้น
แสดงว่ามีข้อผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแล้วน่ะสิครับ
ผมขอตอบคำถามแรกก่อนดังนี้....
กรณีเงินเดือนถึงเพดานแล้ว
ในทางปฏิบัติบริษัทจะไม่ปรับเงินเดือนให้อีกแล้วนะครับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะโดยหลักการแล้วบริษัทไม่ควรจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้โดยขยายเพดานโครงสร้างเงินเดือนขึ้นไปเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าพนักงานเงินเดือนเท่าไหร่ก็จะหยุดอยู่เท่านั้น
(บริษัทจะไม่ลดเงินเดือนของพนักงานดังกล่าวลงเพราะผิดกฎหมายแรงงาน)
โดยถือหลักว่าคนที่เงินเดือนชนเพดานนั้นบริษัทได้จ่ายค่าตอบแทนให้มากกว่างานที่พนักงานทำให้กับบริษัท
(Over Pay) ซึ่งผมได้อธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ไว้แล้วหลายครั้ง
ดังนั้นถ้าพนักงานคนนี้ไม่อยากเงินเดือนตัน
ก็ต้องสร้างผลงานและ Promote ขึ้นไปในระดับชั้นถัดไปซึ่งจะทำให้เพดานเงินเดือนขยับต่อไปได้ครับ
ส่วนคำถามที่สองที่ถามว่า
วุฒิปริญญาตรีเฉลี่ยปัจจุบันเท่าไหร่
ตอบได้ว่าประมาณ 13,000 บาท (สำหรับคนจบสายสังคมศาสตร์-อ้างอิงผลการสำรวจค่าตอบแทนปี 2555-56 ของ HR Center)
จากทั้งหมดที่ผมอธิบายมานี้จึงขอแนะนำให้บริษัทของท่านทำการประเมินค่างานและทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อลดปัญหาในเรื่องค่าตอบแทนลง
และท่านยังจะควบคุม Staff
Cost ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ส่วนวิธีการว่าจะทำโครงสร้างเงินเดือนอย่างไรก็หาอ่านได้ใน
Blog นี้ หมวดการบริหารค่าตอบแทน หรือหมวดปัญหาค่าตอบแทนดูก่อนก็ได้นะครับ
...............................................