จากที่ผมได้เขียนเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการขัดคำสั่งของนายจ้างไปในตอนที่แล้ว
ผมเชื่อว่าท่านคงได้ข้อคิดในเรื่องนี้ไปพอสมควรแล้ว
แต่เพื่อให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นผมก็เลยขอยกตัวอย่างในเรื่องของการขัดคำสั่งของนายจ้าง
(หรือไม่) มาให้ท่านได้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกดังนี้
ในข้อสุดท้ายของ JD (Job
Description) มักจะบอกไว้ว่า “งานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย”
ซึ่งมักจะมีใส่กันเอาไว้เพื่อป้องกันลูกน้องไม่ทำงานตามที่หัวหน้างานสั่งโดยอ้างว่า
“ไม่มีใน JD” ก็เลยต้องใส่ข้อนี้เอาไว้
ซึ่ง “งานอื่น ๆ
ตามที่ได้รับมอบหมาย” นี้ ดูเหมือนจะเป็นงานครอบจักรวาลเสียจนหัวหน้างานบางคนเลยคิดไปว่าจะสั่งให้ลูกน้องทำอะไรก็ได้
เช่น สั่งลูกน้องให้ไปรับลูกที่โรงเรียน, ให้ไปเบิกเงินถอนเงินที่ธนาคาร,
สั่งให้ไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้า ฯลฯ
ถ้าลูกน้องไม่ทำก็แปลว่าขัดคำสั่งหัวหน้า
ก็จะถือว่ามีความผิดทางวินัยคือขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
(ว่าเข้าไปนั่น) แล้วหัวหน้าก็จะตักเตือนด้วยวาจา
หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลูกน้องปฏิบัติตาม
ถ้าลูกน้องไม่ปฏิบัติตามอีกก็จะลงโทษหนักขึ้นจนอาจจะถึงขั้นเลิกจ้างเพราะผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าขัดคำสั่งนายจ้างนะครับ
เพราะแม้จะอ้างว่าเป็นงานอื่น ๆ ตามที่มอบหมาย แต่งานใช้ลูกน้องไปเบิกเงินถอนเงินธนาคารหรือไปรับลูกหัวหน้าที่โรงเรียนน่ะเป็นงานที่พนักงานไม่มีหน้าที่ต้องทำตาม
JD น่ะสิครับ
เราลองมาดูตัวอย่างกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งนายจ้างจากคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้กันมากยิ่งขึ้นดีไหมครับ
กรมบังคับคดีได้มีหนังสือถึงนายวิศาล
(นามสมมุติ) ผู้จัดการทั่วไปบริษัท PQR จำกัด (บริษัทชื่อสมมุตินะครับ)
ให้หักเงินเดือนของนายเชิด (นามสมมุติ) และให้นำส่งเงินตามคำสั่งอายัด
แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทกลับมีคำสั่งไม่ให้นายวิศาลส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โดยให้นายวิศาลทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดีว่านายเชิดไม่ได้ทำงานที่บริษัท PQR
เพื่อปฏิเสธไม่ส่งเงินตามคำสั่งอายัดแล้วให้นายวิศาลเซ็นชื่อไปในหนังสือดังกล่าวเสียด้วย
นายวิศาลไม่ยอมทำตามคำสั่งกรรมการผู้จัดการเพราะกลัวว่าถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีรู้ว่าเรื่องที่แจ้งนั้นไม่เป็นความจริง
(เพราะความจริงก็คือนายเชิดทำงานอยู่บริษัท PQR) เดี๋ยวตัวเองก็จะมีความผิดไปด้วย
เลยไม่ทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดีตามที่กรรมการผู้จัดการสั่ง ก็เลยถูกบริษัทเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
กรณีนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่
ฎ.4535/2549
ว่า “....การที่ลูกจ้างไม่ทำตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ
มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
583....”
เห็นไหมครับว่าการอ้างว่า “ขัดคำสั่งของนายจ้างนั้น”
จะต้องดูองค์ประกอบด้วยว่าสิ่งที่นายจ้างสั่งนั้นเป็นงานในความรับผิดชอบของลูกจ้างหรือไม่
หรือแม้ว่าเป็นงานในความรับผิดชอบของลูกจ้างก็จริง
แต่คำสั่งของนายจ้างก็ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย
และต้องเป็นธรรมโดยไม่ใช่คำสั่งที่กลั่นแกล้งลูกจ้างอีกด้วยนะครับ
……………………………………..