วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หัวหน้าควรทำยังไง....เมื่อพนักงานใหม่ไม่ผ่านทดลองงาน ?


          คำถามตามชื่อหัวเรื่องในวันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในบริษัทต่าง ๆ แต่ก็มักจะมีคำถามว่าแล้วควรจะทำยังไงมาอยู่เสมอ ๆ ผมเลยขอนำแนวทางปฏิบัติมาแชร์ให้เกิดความเข้าใจตรงกันดังนี้นะครับ

1.      หาสถานที่แจ้งผลการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เช่น เป็นห้องประชุมที่มิดชิดสักหน่อยไม่ควรแจ้งผลในสถานที่เปิดโล่งและมีพนักงานคนอื่นร่วมด้วยช่วยกันนั่งฟัง นึกถึงใจพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานสิครับ เขาคงจะอายไม่อยากให้ใครมานั่งรับฟังข้อบกพร่องหรือเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ผ่านทดลองงานหรอกจริงไหมครับ

2.      ควรแจ้งผลด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยอธิบายสาเหตุของการไม่ผ่านทดลองงานว่ามีประเด็นใดบ้างซึ่งหัวหน้างานควรจะต้องมีข้อมูลผลการปฏิบัติงานรองรับว่ามีงานใดบ้างที่มีปัญหาหรือพนักงานมีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นปัญหา ซึ่งควรใช้เหตุใช้ผลมากกว่าการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการแจ้งผล

3.      ควรเปิดโอกาสรับฟังและให้พนักงานทดลองงานได้ชี้แจงในเหตุผลของพนักงานบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องไปโต้แย้งอะไรให้มากนัก โดยถือหลักรับฟังเป็นส่วนใหญ่เพราะอย่างไรบริษัทก็ไม่รับเป็นพนักงานประจำอยู่แล้ว

4.      ให้พนักงานเขียนใบลาออก (ผมจะเตรียมใบลาออกไว้เพื่อให้พนักงานเซ็นชื่อได้เลย) โดยลงวันที่มีผล (ซึ่งอยู่ที่จะตกลงกันว่าจะเป็นวันไหน) ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของผม มักจะมีผลในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่แจ้งผล เช่น แจ้งวันที่ 5 มีนาคม ใบลาออกก็จะมีผลวันที่ 6 มีนาคม แล้วบริษัทก็จะจ่ายเงินเดือนให้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะให้ถูกต้องคือบริษัทจะจ่ายถึงแค่วันที่ 5 มีนาคม เท่านั้น แต่ผมมักจะจ่ายให้ถึงสิ้นเดือนครับ

5.      กรณีที่พนักงานเขียนใบลาออกบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ถ้ามีอายุงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป) หรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด เพราะถือเป็นการลาออกของพนักงานตามปกติซึ่งส่วนใหญ่แทบทั้งหมดพนักงานทดลองงานมักจะยื่นใบลาออกเนื่องจากจะได้ไม่เสียประวัติว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน เพราะหากพนักงานไปสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่และต้องให้ข้อมูลว่าพ้นสภาพพนักงานจากที่เดิมด้วยสาเหตุใด ก็จะได้กรอกไปว่าลาออกเอง แต่ถ้าใส่ว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานก็จะทำให้บริษัทแห่งใหม่มีประเด็นสะดุดใจขึ้นมาว่าแล้วทำงานยังไงหรือมีปัญหาอะไรถึงได้ไม่ผ่านทดลองงานจนถูกเลิกจ้าง

6.      หากพนักงานแจ้งเท็จในใบสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่ว่าลาออกเอง (ทั้ง ๆ ที่ถูกเลิกจ้าง) ก็จะเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างจากที่ใหม่ได้โดยไม่ได้รับค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้านะครับ เพราะใบสมัครของทุกบริษัทมักจะบอกไว้ข้างท้ายว่าถ้าผู้สมัครแจ้งข้อมูลเป็นเท็จบริษัทจะสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ครับ

7.      กรณีพนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง (ควรเตรียมหนังสือเลิกจ้างเอาไว้เลยถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาออกก็ต้องยื่นหนังสือเลิกจ้าง) โดยระบุเหตุผลว่ามีผลการปฏิบัติงานในระหว่างทดลองงานไม่ได้ตามมาตรฐานหรือมีปัญหาอย่างไรบ้าง และระบุวันที่มีผลเลิกจ้างให้ชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปก็คือมีผลในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่แจ้งเลิกจ้าง ซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะต้องจ่ายเงินดังนี้

7.1  ค่าชดเชยตามอายุงาน ในกรณีที่พนักงานทดลองงานทำงานมาแล้ว (นับแต่วันเข้าทำงาน) ตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานคือค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (ที่ภาษาคนทำงานจะเรียกว่า “จ่ายค่าชดเชย 1 เดือน” นั่นแหละครับ) และค่าชดเชยนี้ก็จะต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นตามเวลาที่ทำงาน ให้ท่านไปดูเพิ่มเติมเรื่องค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานนะครับ

7.2  ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งในเรื่องนี้มักจะเข้าใจกันว่า 1 เดือน แต่ผมอยากจะบอกว่ายังเข้าใจไม่ถูกต้องกันในบางประเด็นดังนี้ครับ

คือการจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 จะจ่ายเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการบอกเลิกจ้าง ซึ่งการบอกเลิกจ้างจะต้องบอกเมื่อถึงหรือก่อนกำหนดการจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลยกเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวต่อไป

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น บริษัทมีรอบการจ้างค่าจ้างทุกสิ้นเดือน บริษัทเชิญพนักงานทดลองงานมาแจ้งเลิกจ้างวันที่ 31 มีนาคม โดยหนังสือเลิกจ้างแจ้งว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน (1 เมษายนพนักงานไม่ต้องมาทำงานแล้ว) อย่างนี้บริษัทก็จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน

แต่ถ้าบริษัทแจ้งเลิกจ้างวันที่ 1 เมษายน และบอกว่าวันรุ่งขึ้น (คือวันที่ 2 เมษายน) ไม่ต้องมาทำงานแล้ว ก็จะมีผลเท่ากับบริษัทไปบอกเลิกจ้างวันที่ 30 เมษายน ซึ่งก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ก็จะเท่ากับจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนครับ

ดังนั้น จึงต้องดูวันที่จะแจ้งบอกกล่าวล่วงหน้าให้ดีเพราะถ้าแจ้งผิดจังหวะอย่างที่ผมยกตัวอย่างไปแล้ว ก็จะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าสูงสุดถึง 2 เดือน ไม่ใช่ 1 เดือนเสมอไปอย่างที่เข้าใจกันนะครับ

8.      บางบริษัทมักจะเสียดายว่าเมื่อแจ้งพนักงานไม่ผ่านทดลองงานแล้ว พนักงานเขียนใบลาออกแล้ว เช่นแจ้งพนักงานวันที่ 10 พฤษภาคม แล้วยังอยากจะให้พนักงานทำงานให้คุ้มค่าจ้างไปจนถึงสิ้นเดือน (31 พฤษภาคม) ก็เลยให้พนักงานเขียนใบลาออกมีผลวันที่ 1 มิถุนายน โดยไม่ได้คิดว่าคนที่ไม่ผ่านทดลองงานนั้นเขาก็คงไม่อยากจะมาทำงานแล้วล่ะครับ ดังนั้นเขาก็อาจจะมาบ้างหยุดบ้าง (ก็เขารู้ว่าไม่ได้อยู่ที่บริษัทนี้แล้วนี่ครับจะให้ขยันทำงานไปเพื่ออะไร?) เพราะสู้เอาเวลาไปหางานใหม่ ไปสัมภาษณ์ที่ใหม่ไม่ดีกว่าหรือ พอเป็นอย่างนี้หัวหน้างานก็จะเรียกเขาไปต่อว่าเรื่องการมาทำงาน หรือมานั่งอารมณ์เสียกับเรื่องหยุมหยิมจุกจิกไม่เข้าเรื่องเหล่านี้อีก ซึ่งวิธีที่ผมปฏิบัติมาก็คือจะให้ใบลาออกมีผลตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังจากแจ้งผลแล้วจ่ายค่าจ้างให้เขาไปถึงสิ้นเดือนเลยครับ สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพราะพนักงานก็จะได้มีเวลาไปหางานใหม่ไม่ต้องมาแก้ปัญหาจู้จี้จุกจิกรำคาญใจกันอีก ถือหลักใจเขา-ใจเราครับ 

จากที่ผมแลกเปลี่ยนประสบการณ์มาทั้งหมดนี้คงจะทำให้ท่านเข้าใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นและได้ไอเดียนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติเมื่อพนักงานไม่ผ่านทดลองงานกันแล้วนะครับ

 

………………………………………