วันนี้ผมมีเรื่องน่ารู้มาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ท่านเกิดไอเดียกันอีกแล้ว
นั่นคือมีคำถามว่าการปฏิบัติอย่างไหนถึงจะเป็นการขัดคำสั่งนายจ้าง
และผลจะเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น....
อัคนี (นามสมมุติ) ทำงานในตำแหน่งหัวหน้ารปภ.และผู้ควบคุมงานรปภ.ลูกแถว
ต่อมาวันดีคืนดีก็ถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นรปภ.ลูกแถวซะนี่ แต่บริษัทก็ไม่ได้ลดเงินเดือนอัคนีลงนะครับ
ถามว่าเมื่อคำสั่งย้ายออกมาอย่างนี้แล้ว
ถ้าอัคนีไม่ยอมไปปฏิบัติหน้าที่รปภ.ลูกแถวตามคำสั่งที่บริษัทประกาศออกมา
บริษัทจะเลิกจ้างอัคนีด้วยสาเหตุที่ว่า “ขัดคำสั่ง”
ของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่
เมื่อเราไปดูในมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานข้อ 4 จะบอกไว้ว่า....
มาตรา ๑๑๙ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้….
….(๔)
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว
เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด….
จากกฎหมายแรงงานข้างต้นก็เลยเกิดคำถามที่ว่า
“แล้วข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมน่ะเป็นยังไงล่ะ
?”
เพราะยิ่งถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรงแล้วนายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้เลยเสียอีกโดยไม่ต้องตักเตือนแล้วอย่างกรณีของอัคนี
หัวหน้ารปภ.ที่ถูกย้ายไปเป็นรปภ.ลูกแถวล่ะ เข้าข่ายขัดคำสั่งนายจ้างหรือไม่ ?
กรณีนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073-5097/2546 ออกมาว่า....
“เดิมลูกจ้างทำงานในตำแหน่งหัวหน้าผู้รักษาความปลอดภัยและผู้ควบคุมงานทั่วไป
ซึ่งมีตำแหน่งเท่ากับหัวหน้างาน
นายจ้างย้ายให้ลูกจ้างทั้งสองไปดำรงตำแหน่งเพียงยามหรือผู้รักษาความปลอดภัยเท่านั้น
จึงเป็นการลดตำแหน่งของลูกจ้าง แม้จะเป็นคำสั่งในการบริหารงานและมิได้ลดค่าจ้างก็ตาม
แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยมิได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
จากคำพิพากษาข้างต้นก็บอกได้ว่าการที่คุณอัคนีแกไม่ยอมย้ายไปทำงานเป็นรปภ.ลูกแถวตามคำสั่งของบริษัทนั้น
ก็ไม่ถือว่าคุณอัคนีขัดคำสั่งนายจ้าง
เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมสำหรับคุณอัคนีครับ
ดังนั้น
ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างคุณอัคนีด้วยสาเหตุที่ขัดคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท
และไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะถือว่าขัดคำสั่งบริษัทเป็นกรณีร้ายแรงนั้น ทำไม่ได้ครับ
แล้วคำสั่งของนายจ้างแบบไหนล่ะที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
?
ก็ตอบว่าเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่งานของลูกจ้างครับ
เช่น....
คำพิพากษาฎีกาที่
2495/2522 นายจ้างมีระเบียบข้อบังคับห้ามลูกจ้างเสพสิ่งมึนเมาในบริเวณที่ทำงาน
ลูกจ้างดื่มสุราในบริเวณที่ทำงานแม้หลังเลิกงานระหว่างรอกลับบ้าน
ก็ถือว่าจงใจขัดคำสั่งนายจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่
2780/2526 ลูกจ้างเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด
มีหน้าที่ออกตรวจตลาดและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าคู่แข่งทั้งในตลาดและนอกตลาด
เมื่อเกิดความจำเป็นขาดแคลนพนักงานขายชั่วคราว
ดังนั้นเมื่อผู้บังคับบัญชาของลูกจ้างและเป็นผู้ทำการแทนของนายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำหน้าที่แทนพนักงานขายประจำเขตที่ลาออกไปเป็นการชั่วคราวมีกำหนดเวลา
9 วัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบ
ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามจึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง
จากตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นคงจะพอเป็นแนวทางให้ท่านได้เข้าใจแล้วนะครับว่าการกระทำแบบไหนจะเข้าข่ายขัดคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
และแบบไหนไม่เข้าข่าย
ซึ่งในประเด็นหลักก็คือคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมนั้นต้องเป็นคำสั่งที่ออกโดยนายจ้างหรือผู้ที่รับมอบอำนาจจากนายจ้าง,
ต้องเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ลูกจ้างรับผิดชอบ,
คำสั่งนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (เช่นกรณีเป็นผู้จัดการแล้วย้ายให้มาทำงานในตำแหน่งเสมียนแบบกลั่นแกล้งให้อับอาย
หรือบังคับให้ลูกจ้างทำโอทีโดยลูกจ้างไม่สมัครใจจะทำ)
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้
ผมเชื่อว่าทั้งท่านที่เป็นผู้บริหารและพนักงานก็คงจะได้แนวทางในการปฏิบัติต่อกันอย่างถูกต้อง
และลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรของท่านในเรื่องนี้ลงได้บ้างแล้วนะครับ
ยังไงก็ตามผมว่าการพูดคุยขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน
ด้วยความมีมิตรจิตมิตรใจ
อธิบายเหตุผลความจำเป็นกันอย่างพี่อย่างน้องหรืออย่างเพื่อนฝูง
ย่อมจะดีกว่าการพูดกันด้วยการยกข้อกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างสิทธิซึ่งกันและกัน
แต่ก็นั่นแหละครับสิ่งที่ผมบอกมานั้นจะเป็นจริงได้มาก-น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับทั้งผู้บริหารและพนักงานในองค์กรนั้น
ๆ จะเข้าใจคำว่า “ใจเขา-ใจเรา” หรือไม่ด้วย
จริงไหมครับ ??
.......................................