วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ผลกระทบต้นทุนรวมจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทวันที่ 1 มกราคม 2556


สวัสดีปีใหม่ 2556 ผู้อ่านทุกท่านครับ

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เราก็จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วทั้งประเทศ

แน่นอนว่าจะมีเสียงสะท้อนมาสองด้านเป็นธรรมดาของทุกอย่างในโลกนี้ที่จะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ

คนที่ชอบก็คงไม่แคล้วกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก็แหงล่ะสิครับได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นใครไม่เอาล่ะ นอกจากนี้ก็จะมีคนที่มองการปรับค่าขั้นต่ำครั้งนี้ว่าจะเกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมทั่วประเทศเสียที แถมยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้คึกคักรับปีมะเส็งอีกด้วย เพราะเมื่อผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็จะเกิดการหมุนเวียนของเงินหลายรอบมากขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้นไปด้วย นี่คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้

ส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วยก็แน่นอนครับว่าคือฝ่ายผู้ประกอบการหรือฝ่ายนายจ้าง เพราะจะทำให้มีต้นทุนด้านบุคลากรหรือที่เรียกันว่า “Staff Cost” เพิ่มมากขึ้นอีกไม่น้อย เพราะนอกจากค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้วยังจะมีผลกระทบไปถึงค่าล่วงเวลา (หรือที่เรียกกันว่า “ค่าโอ” หรือโอที) เงินสมทบประกันสังคม หรือเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นฐานสำหรับคำนวณโบนัสหรือขึ้นเงินเดือนประจำปีในปีต่อไปที่จะเพิ่มขึ้นตามฐานค่าจ้างใหม่นี้อีกด้วย

นี่ยังไม่รวมการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานเก่าที่ได้เงินเดือนเดิมต่ำกว่า 300 บาท ที่เข้ามาก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท และคนกลุ่มนี้ก็มีฝีมือและมีประสบการณ์ทำงานมามากกว่าพวกที่เข้ามาใหม่แต่ได้ 300 บาททันที ก็จะต้องเป็นสิ่งที่นายจ้างจะต้องมาดูว่าจะเอายังไงกับคนเก่าเหล่านี้

เป็นที่รู้กันว่าเจ้าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรนี้มักจะเป็นอันดับต้น ๆ ของค่าใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งถ้าบริหารไม่ดีล่ะก็อาจจะทำให้ในที่สุดบริษัทแบกรับไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการกันไป ดังนั้นหลายบริษัทก็จะต้องเริ่มหาวิธีการบริหารต้นทุนด้านบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งที่เห็นเป็นข่าวบางแห่งก็แก้ปัญหานี้แบบผิดกฎหมายแรงงานเสียอีก เช่น นำเอาค่าอาหาร, ค่าครองชีพ หรือที่ผมเรียกว่าสารพัดค่าต่าง ๆ เข้าไปรวมกับค่าจ่างเสียเลยเพื่อให้ได้วันละ 300 บาท, เปลี่ยนสภาพการจ้างจากลูกจ้างรายเดือนมาเป็นรายวันเพื่อลดค่าใช้จ่าย, จ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา ฯลฯ เหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ต่อไปในอนาคต

พร้อมกันนี้ผมก็มีตารางผลกระทบต้นทุนรวมในรายอุตสาหกรรมปี 2555-56 จัดทำโดยสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3-6 มกราคม 2556 เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านดังนี้
ประเภทอุตสาหกรรม                      ต้นทุนรวมที่เพิ่มหลังจาก        ต้นทุนรวมที่เพิ่มหลังจาก
                                                      ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 1-4-55          ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 1-1-56
                                                                 (ร้อยละ)                                     (ร้อยละ)
1. สิ่งทอ                                              11.05-18.13                                13.87-22.75
2. เครื่องแต่งกาย                                10.70-17.76                                 13.42-22.29
3. เครื่องหนัง                                        8.87-15.41                                 11.13-19.34
4. ไม้ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์จากไม้     9.71-14.91                                 12.19-18.71
5. เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์          3.14-7.67                                     3.94-9.63
6. ยานยนต์                                            2.09-4.26                                     2.62-5.35


            จากตารางข้างต้นท่านจะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเยอะก็คือสิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย, เครื่องหนัง, ไม้เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ต้นทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้เมื่อเทียบกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน 2555

            อย่างที่ผมบอกไปข้างต้นนะครับว่า เหรียญย่อมมีสองด้านอยู่เสมอ

            ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่จะออกด้านไหนผมว่า “เวลา” จะเป็นเครื่องพิสูจน์ซึ่งผมคิดว่าอย่างมากภายในครึ่งปีนี้ก็คงจะพอมองออกแล้วนะครับว่าจะเป็นยังไง

            ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงสิ่งสำคัญคือการเก็บสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาเหล่านี้ไว้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจใด ๆ ในครั้งต่อไปครับ

 

…………………………………….