ผมมักจะได้รับคำถามทำนองนี้อยู่บ่อย
ๆ
ว่าเมื่อบริษัทรับเข้าทำงานก็จะมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะหักเงินค้ำประกันการทำงานในระหว่างการทดลองงาน
เช่น สมมุติว่าหักจากเงินเดือน ๆ ละ 500
บาท ทดลองงาน 120 วัน (ประมาณ 4 เดือน) ก็รวมเป็นเงิน 2,000 บาท และหากช่วงทดลองงานผลงานไม่ดีไม่ผ่านทดลองงานบริษัทก็จะเลิกจ้างและไม่คืนเงินที่หักไว้
(ตามตัวอย่างนี้คือ 2,000 บาท)
มีหลายบริษัทที่ทำอย่างนี้อยู่นะครับ
ลองคิดดูว่าปี ๆ หนึ่งมีคนมาเข้าทำงานกี่คน
ถ้าบริษัทหักเงินค้ำประกันการทำงานแบบนี้รวมแล้วจะเป็นเงินเท่าไหร่ต่อปี ?
ถามว่าบริษัทจะทำอย่างนี้ได้หรือไม่
?
ท่านที่รู้กฎหมายแรงงานก็คงจะยิ้มอยู่ในใจและมีคำตอบแล้วใช่ไหมครับ
?
แต่ต้องยอมรับความจริงนะครับว่าทุกวันนี้คนที่ยังไม่รู้กฎหมายแรงงาน
(ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างก็ตาม) ยังมีอยู่ไม่น้อยเลยแหละ
จากตัวอย่างข้างต้น
เมื่อเราไปดูกฎหมายแรงงาน (หรือเรียกให้เต็มยศว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน”)
ได้เขียนไว้ดังนี้....
“ม.10 ภายใต้บังคับม.51 วรรคหนึ่ง
ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือ การค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง
เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพการทำงานนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง
ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน
จำนวนมูลค่าของหลักประกัน
และวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด....”
จากข้อความในกฎหมายแรงงานข้างต้นก็ต้องกลับมาถามว่า
ตำแหน่งงานที่บริษัทอ้างว่าจำเป็นต้องหักเงินค้ำประกันการทำงานน่ะเป็นตำแหน่งอะไร
เป็น “ตำแหน่งที่มีลักษณะหรือสภาพของการทำงานที่พนักงานต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของบริษัท
ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้” หรือไม่
ซึ่งตำแหน่งงานดังกล่าวก็เช่น....
1. งานสมุห์บัญชี
2. งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
3. งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ
ทองคำขาวและไข่มุก
4. งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง
หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
5. งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
6. งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
7. งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน
8. ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ
รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร
ถ้าหากไม่ใช่งานที่ลักษณะที่ผมบอกมาข้างต้นแล้วบริษัทจะมาทำโมเมเรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานทุกตำแหน่งงานนั้น
บอกได้คำเดียวว่า “ผิดกฎหมายแรงงาน” ครับ !!
ซึ่งโทษของการกระทำความผิดตามมาตรา 10 ก็คือ “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” !!
แล้วถ้าบริษัทเรียกรับเงินค้ำประกันการทำงานทั้ง
ๆ ที่ตำแหน่งงานนั้นก็ไม่สามารถจะเรียกเงินค้ำประกันได้ แถมยังยึดเงินค้ำประกันดังกล่าวเอาไว้แล้วไม่คืน
โดยอ้างเหตุว่าผลการปฏิบัติงานระหว่างทดลองงานไม่ดี (ซึ่งเป็นเหตุผลข้าง ๆ
คูที่ฟังไม่ขึ้นว่าทำไมถึงไม่คืนเงินค้ำประกันทั้ง ๆ
ที่พนักงานก็ไม่ได้ทำให้งานบริษัทเสียหายอะไร) อย่างนี้
ผมว่าท่านคงต้องไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้บทเรียนกับบริษัทที่ฉ้อฉลตุกติกกับพนักงานกันบ้างแหละครับ
แถมให้อีกด้วยว่า ถ้าหากพนักงานลาออกแล้วบริษัทยังทำไขสืออินโนเซ้นต์แอ๊บแบ๊วไม่คืนเงินค้ำประกันดังกล่าวภายใน
7 วันนับแต่วันที่พนักงานลาออก บริษัทจะยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ
15 ต่อปีในระหว่างเวลาที่ผิดนัดอีกด้วยนะครับ
ผมเลยมีคำถามทิ้งท้ายว่า
ตกลงบริษัทพวกนี้จะทำธุรกิจอะไรกันแน่ระหว่างธุรกิจหลักของบริษัท
กับการหารายได้จากผู้สมัครงานที่ไม่รู้กฎหมายแรงงานเป็นหลัก ??
แล้วบริษัทพวกนี้น่าทำงานด้วยไหมล่ะครับ
ในเมื่อเล่นเอาเปรียบกันตั้งแต่เพิ่งเริ่มงานกันแบบเนี้ยะ ??
………………………………………….