วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เปอร์เซ็นต์ของ Range Spread และ Midpoint Progress จำเป็นต้องเท่ากันทุกกระบอกหรือไม่?

            คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” ครับ 

ถ้าเข้าใจหลักการของ Range Spread (RS) และ Midpoint Progress (MPP) ตามที่ผมเคยอธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะเห็นว่า RS และ MPP ไม่จำเป็นต้องมีเปอร์เซ็นต์เท่ากัน

แลัวทำไมเห็นบางบริษัททำโครงสร้างเงินเดือนโดยมีค่า RS=100% และมีค่า MPP= 35% เท่ากัน “เป๊ะ” ทุกกระบอกล่ะ?

ก็ตอบได้ว่าคงเพราะบริษัทนั้นอาจจะมีนโยบายในการเลี้ยงคนไว้ในแต่ละ Job Grade นานเท่า ๆ กันทุกกระบอกก็เลยกำหนดค่า RS ไว้ที่ 100% 

แต่ถ้าบริษัทไหนคิดว่า Job Grade ไหนจะต้องเลี้ยงคนไว้นานกว่ากระบอกก่อนหน้า เพราะโอกาสที่คนใน Job Grade นี้จะ Promote ขึ้นไปในกระบอกถัดไปน้อยลง ก็อาจจะวางค่า RS ไว้มากกว่า 100% เช่น วาง RS=150% ก็ได้

อีกประการหนึ่งคือการทำค่า RS ทุกกระบอกให้เท่า ๆ กัน หรือทำค่า MPP ให้เท่ากันทุกช่วงก็จะทำให้ดูสวยดีเหมือนกับทำตามตำรา 

แต่ในชีวิตจริงถ้าบริษัทไหนมี Job Grade น้อยหรือมีนโยบาย Broadbanding คือมี 4-6 Job Grade ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้เห็นค่า RS = 100% ทุกกระบอก

ขืนไปทำตามตำราอย่างงั้นล่ะก็ทั้งคนเก่าและคนเข้าใหม่มีหวังจะลาออกกันหัวกระไดไม่แห้งแหละครับ เพราะโอกาส Promote มีน้อยอยู่แล้ว ดันไปออกแบบให้เงินเดือนตันเร็วซะอีกใครจะอยากอยู่ล่ะครับ

ดังนั้นบริษัทไหนที่มีตั้งแต่ 8 Job Grade ขึ้นไปก็เปรียบเสมือนบ้านที่มีเนื้อที่ใช้สอยเยอะก็จะสามารถตกแต่งห้องต่าง ๆ ให้ดูดีมีชาติตระกูลได้ 

แต่ถ้าบ้านที่มีเนื้อที่ใช้สอยน้อย (มี Job Grade น้อย) ก็จะตกแต่งหรือทำอะไรได้ยากกว่าแหละครับ

ส่วนค่า MPP ก็จะมีบริบททำนองเดียวกับเรื่องของ RS เพียงแต่ความหมายของ MPP คือถ้าวางเปอร์เซ็นต์ไว้เท่ากันทุกช่วง เช่น MPP=30% ทุกช่วง ก็แปลว่าบริษัทนั้นต้องการจะจูงใจให้คนอยาก Promote ในระดับใกล้เคียงกันและบริษัทจะมีต้นทุนในการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ในระดับใกล้เคียงกัน

แต่ถ้าบริษัทมีนโยบาย Broadband มี Job Grade น้อย ค่าของ MPP ก็ไม่มีทางที่จะน้อย เช่น 20-30% หรือไม่มีโอกาสจะเท่ากันทุกช่วงได้ เพราะเปรียบเสมือนบ้านมีเนื้อที่ใช้สอยน้อยจะตกแต่งอะไรตามตำราได้ยาก

ยังค่า MPP แต่ละช่วงมีโอกาสที่จะเกิน 40% ขึ้นไป

มาถึงตรงนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นไอเดียของคนที่กำลังทำเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างแล้วนะครับ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเราใช้ตำราหรือทฤษฎีเป็นแนวคิดได้ แต่อย่ายึดติดตำรามากจนเกินไป แล้วนำมาใช้แบบ Copy แต่ไม่ Development จนไม่ดูบริบทความเป็นจริงที่หน้างาน และควรจะต้องรู้จักวิธีการประยุกต์ใช้ระหว่างตำรากับหน้างานให้เหมาะสม

ถ้าเรารู้จักการประยุกต์ใช้ ผลที่ได้คือประสบการณ์ทำงานที่ดีที่หาไม่ได้จากในตำราและจะเป็นมูลค่าเพิ่มในตัวเราเองครับ

                                              …………………