คนที่ไม่เคยมีลูกน้องที่อายุมากกว่าก็อาจจะไม่เข้าใจกับเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้สักเท่าไหร่ เพราะการบริหารจัดการลูกน้องที่อายุน้อยกว่าก็จะเป็นแบบหนึ่ง ส่วนการบริหารจัดการลูกน้องที่อายุมากกว่าก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นลูกน้องของหัวหน้าเหมือนกันทั้งสองแบบก็เถอะ
เพราะวัฒนธรรมบ้านเราจะมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกก็ตรงเรื่องของ
“อาวุโส”
จริงอยู่ที่บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบจะเป็นหัวหน้า
แต่ถ้าลูกน้องแก่กว่าแล้วหัวหน้าจะไปเรียกชื่อลูกน้องเฉย ๆ
แบบธรรมเนียมฝรั่งก็อาจจะมีผลกระทบกับคนในที่ทำงานรอบข้างในทำนองไม่เห็นหัวผู้ใหญ่หรือหนัก
ๆ อาจถูกหาว่าเป็นหัวหน้าบ้าอำนาจเอาได้
ก็เลยมีคำถามว่าหัวหน้าควรเรียกลูกน้องที่อายุมากกว่ายังไงดี?
เรียกพี่ได้ไหม
หรือเรียกลุงเรียกป้าแกจะเคืองหรือเปล่า แล้วจะมีผลกับการทำงานร่วมกันยังไงบ้าง?
เนื่องจากไม่มีตำรับตำราที่ไหนสอนในเรื่องเหล่านี้
ผมก็เลยขอนำเอาประสบการณ์จากที่เคยมีลูกน้องอายุมากกว่าและวิธีที่ผมเคยทำมาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะครับ
ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องไปใช้หลักกาลามสูตรกันเอาเองว่าจะเอาไปใช้ดีหรือไม่
เมื่อแรกเข้าไปในบริษัทที่ผมเป็น Head HR ผมจะเรียกลูกน้องที่อายุมากกว่าโดยมีคำนำหน้าชื่อว่า “คุณ” เอาไว้ก่อน
เพราะถือว่าเป็นคำกลาง ๆ ด้วยเหตุผลคือ
1.
ไปตีสนิทนับญาติเรียกพี่ เรียกลุง เรียกป้า
เรียกน้า ฯลฯ ก็ไม่รู้ว่าเขาอยากจะนับญาติกับเราหรือเปล่า
2.
การไปเรียกนับญาติตั้งแต่แรกจะมีผลทางจิตวิทยาคืออาจจะทำให้ลูกน้องที่แก่กว่าเรา
“บางคน” คิดเข้าข้างตัวเองว่าหัวหน้าเรียกฉันว่าพี่แล้ว พี่พูดน้องก็ต้องฟังตามระบบอาวุโสซึ่งจะเป็นปัญหาและมีผลต่อการบังคับบัญชาของเราในเวลาต่อไป
แม้ว่าตำแหน่งของเราจะเป็นหัวหน้าเขาก็ตาม
ผมก็เลยเรียกคำกลาง
ๆ เอาไว้ก่อนเพื่อสมดุลระหว่างระบบอาวุโส (ที่ไม่ทำให้เขาคิดว่าอาวุโสมากกว่าเรา)
และตำแหน่งของเราที่เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นหัวหน้าเขาอย่างเป็นทางการ
เมื่อทำงานร่วมกันไปผมก็ยังคงบทบาทการเป็นผู้บังคับบัญชาตามอำนาจหน้าที่ที่มี
คือมีการสั่งงาน มอบหมาย ติดตามงาน ฯลฯ ให้ลูกน้องปฏิบัติ
ผมจะประเมินและติดตามผลว่าลูกน้องที่อายุมากกว่าคนไหนมีผลการทำงานเป็นยังไง
มีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายมากน้อยแค่ไหน งานผิดพลาดหรือมีปัญหายังไง
หรือมีพฤติกรรมในการทำงานที่เป็นปัญหาสักแค่ไหน
เช่น มาสายบ่อย
ลาป่วยบ่อย (ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจริง) ทำตัวเป็นขาใหญ่ในหน่วยงานแบบมาเฟีย ชอบแวบงานออกไปนอกบริษัทเอางานมาอ้างทั้ง
ๆ ที่ไม่ได้ไปทำงานนั้นจริง แต่หลบออกไปเดินห้าง ฯลฯ
พูดง่าย ๆ
คือผมจะแบ่งลูกน้องออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.
ลูกน้องที่มีปัญหาในการทำงาน และ
2.
ลูกน้องที่ไม่มีปัญหาในการทำงาน
ถ้าลูกน้องที่ผมแน่ใจว่าไม่มีปัญหาในการทำงานแบบที่บอกมาข้างต้น
ผมก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนสรรพนามที่เรียกจาก “คุณ” เป็น “พี่”
แต่ถ้าเป็นลูกน้องที่มีปัญหาในการทำงานหรือผมยังไม่แน่ใจยังไม่เคลียร์ในการทำงาน
หรือผมประเมินจากเวลาที่ผ่านไปแล้วว่าเขายังไม่อยากให้เรานับญาติกับเขา ยังมีความเป็นส่วนตัวสูง
ซึ่งอันนี้เป็น Senses
ของคนที่เป็นหัวหน้าที่สอนกันไม่ได้แต่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการสังเกตคนของคนที่เป็นหัวหน้า
ผมก็ยังคงสรรพนามว่า
“คุณ” เหมือนเดิม
แต่ถ้ามีพฤติกรรมการทำงานที่มีปัญหามาก
ๆ ที่เคยเรียกเตือนแล้วจนถึงออกหนังสือตักเตือน ผมจะเรียกชื่อเฉย ๆ
โดยไม่มีสรรพนามว่า “คุณ” และถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนให้เขารู้ว่าการทำงานของเขาเป็นยังไงในสายตาของผม
แต่ไม่ว่าจะเรียกสรรพนามคำนำหน้าชื่อว่า
“พี่” หรือเรียก “คุณ” หรือเรียกชื่อเฉย ๆ ถ้าเมื่อไหร่มีปัญหาในการทำงาน เช่น
งานผิดพลาดบ่อย, ทำงานแล้วเกิดความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อ,
พฤติกรรมการทำงานที่มีปัญหามาสายบ่อย ทำตัวผิดวินัยข้อบังคับการทำงาน ฯลฯ
ผมก็จะเชิญมาคุยกันและ
Feedback
ปัญหาที่ผมเห็นและบอกเรื่องที่อยากให้ลูกน้องปรับปรุงแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้ง
ถ้ายังอยู่ในวิสัยจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ก็ไม่มีประเด็นอะไร
และถ้ามีปัญหามาก ๆ
ก็ว่ากันไปตามการดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท
แต่จะแจ้งให้เขารับทราบอยู่เสมอว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการทำงานนะที่ทำให้เราขัดแย้งกันและในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าผมต้องการให้คุณประพฤติปฏิบัติยังไง
ไม่มีเรื่องใดที่เป็น Personal
ระหว่างคุณและผม หลังเวลางานเรายังคุยกันได้ ไปกินข้าวเย็นกันได้ หรือยังไปคาราโอเกะเลี้ยงวันเกิดของคุณได้
อ่านมาถึงตรงนี้คงตอบคำถามข้างต้นแล้วนะครับ
แต่บอกแล้วว่าที่ฝอยมานี้เป็นประสบการณ์และสิ่งที่ผมปฏิบัติมาจากการทำงานในอดีตที่เคยมีลูกน้องอายุมากกว่าซึ่งใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไงก็คงแล้วแต่ศิลปะและสไตล์ในการบริหารลูกน้องของแต่ละคนที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปครับ
.........................