วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ไม่อนุมัติให้ลากิจได้ไหม?

            คำถามมีอยู่ว่าเมื่อลูกน้องมาขอลากิจกับหัวหน้า แล้วหัวหน้าไม่อนุมัติให้ลากิจ

ถามว่าหัวหน้าไม่อนุมัติได้หรือไม่ ?

แล้วถ้าลูกน้องบอกว่าการลากิจเป็นสิทธิของพนักงานที่มีปีละ 3 วันทำงาน ถ้าไม่อนุมัติก็เท่ากับบริษัททำผิดกฎหมายแรงงาน !!??

ตรงนี้เจ้าของคำถามควรกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์การลากิจอย่างนี้ครับ

1.      บริษัทเขียนข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการลากิจไว้ยังไง : ต้องถามว่าบริษัทเขียนระบุเงื่อนไขการลากิจแบบไหนยังไง เช่น พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละ 5 วันทำงาน 

ซึ่งการลากิจนั้นจะต้องเป็นกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นที่จะต้องไปทำด้วยตนเองไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปทำแทนได้ เช่น การไปซื้อ-ขายหรือไปโอนที่ดินการลาไปเพื่อซ้อมใหญ่หรือรับปริญญาลาเพื่อการสมรสลาบวชลาเพื่อไปดูแลรักษาพยาบาลบุพการีที่ป่วยหนัก ฯลฯ

2.      การลากิจต้องแจ้งล่วงหน้า : การลาเพื่อกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นดังกล่าวพนักงานจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน เว้นแต่เป็นเรื่องเร่งด่วนกระทันหัน เช่น บุพการีเจ็บป่วยหนักกระทันหัน เป็นต้น

3.      แจ้งให้ทราบถึงผลการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลากิจ : ถ้าหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องการลากิจ บริษัทจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นความผิดทางวินัยที่จะต้องถูกตักเตือนเป็นหนังสือพร้อมทั้งบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานดังกล่าว (No work no pay)

ถ้าบริษัทไหนเขียนหลักเกณฑ์การลากิจเอาไว้ชัดเจนอย่างที่บอกมาข้างต้น และประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบแล้ว ก็จะใช้เป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามข้างต้นได้อย่างมีเหตุมีผล

              ทั้ง HR หรือฝ่ายบริหารก็จะไม่มีการตอบแบบเปะปะหรือใช้หลักกู !!

เพราะเมื่อลูกน้องมายื่นใบขอลากิจ หัวหน้าจะได้ตรวจสอบดูว่าลูกน้องขอลากิจเพื่อไปทำอะไร

เช่น มาขอใช้สิทธิลากิจบวกกับลาพักร้อนเพื่อจะไปเที่ยว โดยจะขอใช้วันลาพักร้อนเหลืออยู่ 2 วัน บวกลากิจเพิ่มอีก 1 วันคือขอลาพักร้อนวันพุธพฤหัสแล้วขอลากิจวันศุกร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดอยู่แล้วก็เท่ากับได้หยุดไปเที่ยว 5 วัน

อย่างนี้หัวหน้าก็ต้องไม่อนุมัติให้ลูกน้องลากิจสิครับ

เพราะลูกน้องขอลากิจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แม้จะมาหัวหมออ้างกฎหมายแรงงานว่าตามมาตรา 34 พนักงานมีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงานก็ตาม

หัวหน้าก็จะตอบได้ว่า “น้องลากิจเพื่อไปเที่ยวนี่นา ไม่ได้ลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นสักหน่อย

ถ้าลูกน้องยังดื้อดึงฝ่าฝืนหยุดไปโดยหัวหน้าไม่อนุญาตบริษัทก็ดำเนินการทางวินัยในเรื่องละทิ้งหน้าที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรได้เลย

แต่ถ้าลูกน้องมาขอลากิจเพื่อไปแต่งงาน หรือลาไปจัดการงานศพบุพการี ซึ่งก็เข้าข่ายลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็น

ถ้าหัวหน้าไม่อนุญาตก็ใจร้ายไปหน่อยไหมล่ะครับ

สรุปคำตอบในเรื่องนี้คือ

1.      บริษัทควรจะต้องมีระเบียบการลากิจที่ชัดเจนและแจ้งให้พนักงานทราบ

2.      คนที่เป็นหัวหน้าใช้สามัญสำนึกตามหลักเกณฑ์และดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

ปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้เยอะ

แต่ถ้าปัญหาเกิดจากหัวหน้าประเภทที่ใช้หลักกูเหนือหลักเกณฑ์คือทััง  ที่มีระเบียบการลากิจชัดเจนอยู่แล้ว แต่ไปอนุมัติให้ลูกน้องลากิจแบบพักร้อน หรือไม่อนุมัติให้ลูกน้องลากิจทั้ง  ลูกน้องจำเป็นจะต้องไปจัดการงานศพบิดามารดา

อย่างนี้ไม่ใช่ปัญหาการลากิจแล้วแหละ

แต่เป็นเรื่องที่บริษัทต้องหาทางจัดการแก้ปัญหาที่ตัวหัวหน้าคนนี้แล้วล่ะครับ

 

…………………………….