วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ควรประเมินผลงานแบบ 360 องศาเพื่อนำมาใช้ในการขึ้นเงินเดือนดีไหม?

             เมื่อพูดถึงการประเมินผลงานเราก็มักจะนึกถึงการประเมินผลงานของลูกน้องโดยมีหัวหน้าเป็นผู้ประเมินโดยยึดหลักที่ว่าหัวหน้าย่อมเห็นผลการปฏิบัติงานของลูกน้องได้ดีกว่าใครเพราะเป็นผู้สั่งงานมอบหมายงานและต้องควบคุมติดตามงาน

            ต่อมาก็เลยมีแนวคิดว่าแล้วถ้าหัวหน้าประเมินลูกน้องอย่างไม่เป็นธรรมล่ะ อย่างงี้ก็ไม่แฟร์กับลูกน้องน่ะสิ

            ก็เลยให้คนหลาย ๆ คนมาประเมินจะดีไหม

            ทำให้เกิดการประเมินแบบ 360 องศาหรือการประเมินรอบตัวผู้ถูกประเมินขึ้นมาโดยให้มีการประเมินผลงานหลาย ๆ ส่วนคือมีทั้งหัวหน้า, ลูกน้อง, เพื่อนร่วมงาน, พนักงานต่างแผนกที่ทำงานด้วยกันและตัวของผู้ถูกประเมินมาร่วมในการประเมินผลงาน

            การประเมินแบบรอบตัว 360 องศาแบบนี้ในบางบริษัทก็นำผลมาใช้ในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีและจ่ายโบนัส บางบริษัทก็นำมาใช้เฉพาะการพัฒนาพนักงานเพียงอย่างเดียวโดยไม่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือน

            แล้วจากประสบการณ์ของผมล่ะมีความเห็นเป็นยังไง?

            ก็คงพูดตรงไปตรงมาตามนี้ครับ

1.      การออกแบบการประเมินผล : เนื่องจากการประเมินผลงานแบบนี้มีหลาย Party มากที่เป็นผู้ประเมินไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า, ตัวพนักงานเอง, เพื่อนร่วมงานของผู้ถูกประเมิน ฯลฯ ซึ่งจะต้องออกแบบวิธีการประเมินรวมถึงเกณฑ์การประเมินที่หลากหลายมุมมอง คำถามคือจะแน่ใจได้ยังไงว่าแต่ละมุมมองในการประเมินมีความแม่นตรงดีแล้ว?

2.      ความสิ้นเปลืองทรัพยากร : เป็นการประเมินผลงานที่มีแบบประเมินมากตามจำนวนผู้ประเมิน ยิ่งถ้าบริษัทไหนยังใช้วิธีการประเมินแบบเป็นแบบฟอร์มกระดาษอยู่ล่ะก็จะมีกองกระดาษใบประเมินเยอะมาก การเก็บข้อมูลและการเรียกใช้ผลการประเมินจะวุ่นวายมากและยังต้องใช้ Storage จัดเก็บข้อมูลในระบบมาก แถมบริษัทที่มีระบบการประเมินผ่านซอฟแวร์หรือผ่าน Application ก็ยังต้องเจอกับความจุกจิกของระบบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง Requirement ในอนาคต

3.      ความผิดเพี้ยนของการประเมิน : ผมเคยถูกมอบหมายให้ประเมินเพื่อนร่วมงานในตำแหน่ง HR Manager ด้วยกันในอีก BU หนึ่งซึ่งอยู่คนละบริษัทแถมอยู่กันคนละ Location เพราะเราต่างก็เป็นบริษัทในเครือ ผมก็ตอบในใบประเมินผลไปว่า “ไม่สามารถให้ข้อมูลได้” เกือบทั้งหมด เพราะผมไม่ได้นั่งทำงานกับผู้บริหารท่านนั้น ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า HR Manager ใน BU อื่น ๆ เขาจะประเมินผมหรือไม่ จะประเมินยังไง หรือจะตอบเหมือนที่ผมตอบหรือเปล่า

4.      มุมมองในการประเมินที่แตกต่างกัน : การให้ลูกน้องประเมินผลงานของหัวหน้า ลูกน้องก็จะมองในมุมของลูกน้องซึ่งยังขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และสถานะของหัวหน้า ลูกน้องก็จะประเมินหัวหน้าเมื่อสั่งงานอะไรที่ไม่ถูกใจแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ

5.      การถ่วงน้ำหนักการประเมินผล : จะต้องมีการถ่วงน้ำหนักของแต่ละ Party เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลในภาพรวม ซึ่งแน่นอนว่าจะให้น้ำหนักกับส่วนที่หัวหน้าเป็นผู้ประเมินมากที่สุด ในขณะที่ Party ส่วนอื่น ๆ จะมีน้ำหนักที่ลดลงและน้อยกว่า อย่างนี้จะเหมือนคำพังเพยว่าไม้ซีกงัดไม้ซุงไหม

จากที่ผมเล่ามานี้แหละครับคงต้องคิดให้ดีว่าถ้าจะนำวิธีการประเมินแบบ 360 องศามาใช้เพื่อนำผลจากการประเมินมาประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสจะเหมาะไหมกับการเสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรเพื่อทำการทำแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้หัวหน้าประเมินลูกน้องโดยตรงที่ไม่ต้องวุ่นวายขายปลาช่อนแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน

สู้เอาเวลาไปคิดทำอะไรที่เกิดประโยชน์แบบทำน้อยได้มากตามกฎ 80:20 ดีกว่าจะมาเสียเวลาทำมากได้น้อยดีไหมครับ

            แต่ถ้าใครยังเห็นว่าดีและคิดว่าเหมาะจะนำมาใช้เพื่อขึ้นเงินเดือนต่อไปก็ตามสะดวกนะครับ เพราะบอกแล้วว่านี่เป็นความเห็นของผมจากประสบการณ์เท่านั้นแหละ เราเห็นต่างกันได้ไม่ว่ากัน

            จริงไหมครับ?