วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

คุยเฟื่องเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน ตอน Back to the basic

 วิธีการประเมินผลงานแบบ Back to the basic เพื่อการขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัส

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เล่ามาข้างต้นผมก็เลยนำสิ่งที่พบเจอมาออกแบบประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อใช้สำหรับปรับเงินเดือนและจ่ายโบนัสแบบผสมผสาน

โดยใช้หลักคิดแบบง่าย ๆ เพื่อลดปัญหาทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้นและใช้แบบฟอร์มนี้สำหรับให้หัวหน้าใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้ลูกน้องตามผลงาน+คุณลักษณะที่ต้องการแบบตรงไปตรงมา

หลักคิดนี้จะคล้ายกับการปูนบำเหน็จของแม่ทัพที่จะให้รางวัลกับทหารเอกที่ส่งไปรบในอดีตครับ เช่น

1.      แม่ทัพย่อมจะต้องมอบหมายทหารเอกว่าจะให้ไปรบที่ไหน (ก็คือมอบหมายงานที่สำคัญให้) แล้วก็ดูผลการรบ (ก็คือผลการปฏิบัติงาน) ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่แม่ทัพกำหนดหรือไม่

2.      นอกจากผลการรบที่เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว แม่ทัพก็ต้องประเมินคุณลักษณะของทหารเอก (ประเมิน Competency) ว่าสอดคล้องเหมาะสมกับงานที่มอบหมาย มีศักยภาพที่จะเติบโตเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นไปในอนาคตได้หรือไม่ มีทัศนคติที่ดีต่องานต่อทีมงานต่อตัวแม่ทัพมากน้อยแค่ไหน

3.      ซึ่งแม่ทัพย่อมจะประเมินทหารเอกแต่ละคนได้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นมือซ้ายมือขวา และควรจะปูนบำเหน็จให้กับทหารที่เป็นลูกน้องคนไหนบ้าง โดยไม่ต้องมีแบบประเมินผลงานประกอบการปูนบำเหน็จเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ผมทำแบบฟอร์มนี้มาให้ดูก็เพื่อช่วยลดการใช้อคติของหัวหน้าผู้ประเมินลง

จากหลักการที่หัวหน้าใกล้ชิดกับลูกน้องย่อมมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าควรจะให้รางวัลกับลูกน้องคนไหนที่มีผลงานที่ดี+มีองค์ประกอบของการทำผลงานที่ดี (เช่นมี Competency มีศักยภาพที่จะก้าวหน้า มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน) ก็จะใช้แบบประเมินที่ผมทำมานี้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการพิจารณาให้รางวัลกับลูกน้องเพื่อแยกแยะให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าลูกน้องคนไหนควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือน (หรือโบนัส) มากกว่าลูกน้องคนอื่น

หรือลูกน้องคนไหนที่ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ยเหมือนกับคนอื่น ๆ

หรือลูกน้องคนไหนควรจะได้ขึ้นเงินเดือนน้อยหรือไม่ได้เลย

ใครที่มีคุณลักษณะ มีศักยภาพและมีทัศนคติที่เหมาะสมก็ควรจะได้รับการปูนบำเหน็จให้เกิดแรงจูงใจที่อยากจะเพิ่มคุณลักษณะที่ดีให้เพิ่มขึ้นและพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อมที่จะก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ

โดยใช้แบบฟอร์มนี้เพื่อแยกแยะให้ชัดเจนมากขึ้นว่าใครควรได้รับรางวัลมากหรือน้อยแค่ไหน

แบบฟอร์มจากแนวคิดข้างต้นจึงมีหน้าตามออกมาตามตัวอย่าง

(ย้ำว่านี่เป็นแบบฟอร์มตัวอย่างการประเมินผลขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสสำหรับนายพิชัย ขยันงาน จนท.สรรหาว่าจ้าง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเท่านั้น


อธิบายตัวอย่างแบบฟอร์มข้างต้นอย่างนี้ครับ

1.      ส่วนที่ 1 : Key Job Assignment คือส่วนที่เป็น MBO ตามแนวคิดของ Drucker นั่นแหละครับ หลักการที่สำคัญสำหรับส่วนนี้คืองานที่หัวหน้าตกลงกับลูกน้องในส่วนที่ 1 นี้ ขอให้เอาเฉพาะงานที่สำคัญจริง ๆ 3-5 เรื่อง (สูงสุดไม่เกิน 5 เรื่อง) เท่านั้นครับ

โดยหัวหน้าเป็นคนกำหนดงานสำคัญ 3-5 ตัวพร้อมตัววัดผลงานแล้วเรียกลูกน้องมาแจ้งให้ทราบตั้งแต่ต้นงวดเลยว่าอยากจะให้ลูกน้องคนไหนทำงานอะไรบ้าง จะวัดผลติดตามผลงานกันยังไง และจะมีผลกับการขึ้นเงินเดือนและโบนัสยังไงบ้าง ให้เข้าใจชัดเจนตรงกันตั้งแต่แรกครับ

ซึ่งงานในส่วนที่ 1 จะต้องเป็นงานสำคัญที่หัวหน้าต้องการให้ลูกน้องทำให้สำเร็จในรอบการประเมินครั้งนี้นะครับ

ส่วนในรอบการประเมินถัดไป หัวหน้าก็อาจจะมอบหมายงานต่อเนื่องจากงานชิ้นนี้ หรือจะตกลงกับลูกน้องให้ทำงานใหม่ที่สำคัญที่จะใช้ประกอบการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็ย่อมได้ครับ

ซึ่งหัวหน้าจะต้องติดตามผลการทำงานและ Feedback ลูกน้องในแต่ละงวดเป็นระยะว่าเป็นไปตามตัวชี้วัดหรือไม่

2.      ส่วนที่ 2 : ความรู้/ทักษะ/คุณลักษณะที่มีผลกับงาน (Competencies) บอกก่อนว่าตัวอย่างในส่วนที่ 2 นี้เป็นตัวอย่างที่ผมสมมุติขึ้นมานะครับ ในส่วนนี้ถ้าบริษัทไหนมีระบบ Competency อยู่แล้วก็ต้องนำเอา Competency ของตำแหน่งนั้น ๆ มาใส่ไว้ในส่วนนี้ได้เลย ส่วนการประเมินหา Competency Gap ก็ทำไปตามระบบของบริษัทของท่าน

เมื่อประเมิน Competency Gap ของพนักงานแล้วได้เท่าไหร่ก็เอามาใส่ไว้ในช่องระดับการประเมินโดยใช้หลักตามนี้ครับ

เช่น บริษัทกำหนดเอาไว้ว่า

ถ้าพนักงานคนไหนมี Competency Gap -2 ก็จะได้เกรด 1

มี Competency Gap -1 จะได้เกรด 2

ไม่มี Competency Gap จะได้เกรด 3

มี Competency Gap +1 จะได้เกรด 4

และถ้ามี Competency Gap +2 จะได้เกรด 5

แต่ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีระบบ Competency หัวหน้ากับลูกน้องในหน่วยงานนั้นคงจะต้องมาพูดคุยกันแล้วตกลงร่วมกันว่าในตำแหน่งที่จะประเมินนั้น หัวหน้าจะประเมินความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะอะไรที่สำคัญกับตำแหน่งงานนั้นมาก และมีผลที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

ส่วนในช่องระดับการประเมินก็ประเมินแบบตรงไปตรงมาคือดีมากที่สุด=5 และแย่ที่สุด=1 คงไม่ได้ประเมินจาก Competency Gap เหมือนที่ผมอธิบายข้างต้น เพราะบริษัทนี้ยังไม่มีระบบ Competency

หรือถ้าบริษัทไหนมีการทำระบบ Skill Matrix ก็อาจนำเอาเรื่องของ Skill Matrix ที่สำคัญ ๆ ที่จะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ทำงานประสบความสำเร็จ

มาใส่ในส่วนนี้เพื่อประเมินก็ย่อมได้ครับ

3.      ส่วนที่ 3 : ศักยภาพที่จะเติบโต (Ability to Growth)  ในส่วนนี้ผู้ประเมินจะต้องอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรและมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประกอบการประเมินว่า ลูกน้องคนนั้น ๆ จะมีศักยภาพที่จะเติบโตก้าวหน้าไปกับหน่วยงานและองค์กรได้ในระดับไหน

4.      ส่วนที่ 4 : ทัศนคติของพนักงาน จากตัวอย่างนี้ผมกำหนดทัศนคติที่พนักงานจะต้องถูกประเมินมา 3 ตัวคือ ทัศนคติต่อบริษัท ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อผู้บังคับบัญชา ถ้าท่านจะไปกำหนดให้มากกว่านี้หรือคิดตัวไหนเพิ่มได้ก็ไปคิดต่อเติมเสริมเข้าไปได้นะครับ

ซึ่งหัวหน้าผู้ประเมินก็จะต้องเขียนคำอธิบายประกอบการประเมินเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเหตุผลที่ประเมินทัศนคติแต่ละตัวให้ลูกน้องได้เกรด 5 4 3 2 1 นั้นเป็นเพราะอะไร

5.      ส่วนที่ 5 : การควบคุมอารมณ์ในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น คำว่าบุคคลอื่นในส่วนนี้ผมหมายถึงทั้งเพื่อนร่วมงานในและนอกหน่วยงานรวมไปถึงลูกค้า, หัวหน้า, ผู้บริหาร ฯลฯ

โดยหัวหน้าผู้ประเมินจะต้องมีคำอธิบายประกอบผลการประเมินในส่วนนี้ด้วยว่าเหตุใดถึงประเมินลูกน้องคนนี้ให้ได้เกรดนั้น ๆ เพราะอะไร

ที่ต้องนำเรื่องนี้มาประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสเพราะจะเห็นได้ว่าปัญหาในการทำงานของคนตั้งแต่ระดับล่างไปยังระดับสูงมักเกิดจากการไม่ควบคุมอารมณ์ ซึ่งการกำหนดหัวข้อนี้ขึ้นมาจะทำให้พนักงานทุกระดับเกิด Awareness ว่าบริษัทต้องการให้พนักงานทุกระดับมี EQ อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่ดีในบริษัท

6.      ส่วนที่ 6 : ป่วย สาย ลา ขาดงาน (Attendance) ส่วนนี้ก็เป็นช่องยอดนิยมส่วนหนึ่งที่มักจะนำเข้ามามีผลกับการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสในบริษัทต่าง ๆ จริงไหมครับ ในส่วนนี้คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความ

ถ้าเป็นตำแหน่งที่เป็นพนักงานหรือผู้บริหารในระดับที่ไม่ได้นำเอาเรื่องป่วย สาย ลา ขาดงานเข้ามาร่วมในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็อาจตัดส่วนนี้ออกไปได้ แล้วท่านจะนำน้ำหนักในส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับส่วนอื่น ๆ หรือจะกำหนดปัจจัยสำคัญตัวใหม่ขึ้นมาก็ย่อมได้ครับ

7.      การถ่วงน้ำหนักของส่วนต่าง ๆ ในแบบประเมิน : จากตัวอย่างแบบฟอร์มข้างต้นจะเห็นว่าผมถ่วงน้ำหนักในส่วนที่ 1 มากที่สุดคือ 50% รองลงมาคือส่วนที่ 4 คือเรื่องทัศนคติ และน้อยที่สุดคือส่วนที่ 6 คือป่วย สาย ลา ขาดงาน

ที่ผมกำหนดให้ส่วนที่ 1 มีน้ำหนักมากที่สุดคือ 50% นั้น ถ้าท่านให้ความสำคัญกับผลสำเร็จของงานตามเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่านี้ก็อาจถ่วงน้ำหนักให้มากกว่านี้ก็ได้นะครับ

ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม ๆ เห็นว่ายังไงก็ตามในการประเมินผลงานเพื่อนำผลไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็ต้องวัดกันที่ตัวผลงานว่าได้ตามเป้าหมายหรือไม่เป็นหลัก

เพราะผลงานจะมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ชัดเจนและเกิดการยอมรับจากผู้ปฏิบัติ จึงควรจะถ่วงน้ำหนักตัวเนื้องานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 50% ครับ

สำหรับส่วนอื่น ๆ ท่านก็ลองไปคิดต่อเอาเองว่าควรจะถ่วงน้ำหนักตัวไหนเท่าไหร่ก็ตามสะดวกครับ

8.      หมายเหตุ 1 และ 2 สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ : ในส่วนของหมายเหตุ 1 และหมายเหตุ 2 นั้น ผมทำมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ดูนะครับ ท่านอาจจะปรับเปลี่ยนจำนวนเกรด หรือแก้ไขช่วงคะแนนดิบ (ที่เป็นคะแนนรวม) ให้สอดคล้องกับแต่ละเกรดใหม่ตามที่ฝ่ายบริหารต้องการก็ย่อมได้ครับ

แบบฟอร์มนี้เหมาะกับใคร ?

ตอบได้ว่าเหมาะกับองค์กรที่กำลังจะเปลี่ยนจากวิธีการประเมินผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือน (หรือจ่ายโบนัส) จากระบบการประเมินผลงานแบบจิตสัมผัส แล้วต้องการให้ความรู้กับผู้บริหารระดับสูงให้มีความรู้เรื่องของการทำแผนกลยุทธ์ให้ดีเสียก่อน

แล้วให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นคนกำหนดเป้าหมายของงานให้กับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารระดับรองลงมาและพนักงานระดับปฏิบัติการทำงานตามแผนกลยุทธ์ที่ระดับสูงวางไว้ เพราะกลัวว่าถ้า Implement เรื่องการทำแผนกลยุทธ์ทันทีทั่วทั้งองค์กรจะเกิดปัญหาการรับรู้และการนำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัส

หรือองค์กรที่ใช้ระบบ KPI อยู่แล้วแต่ทำไปทำมายิ่งยุ่งยิ่งวุ่นวายเป็นลิงแก้แห แถมพอนำ KPI ไปใช้ร่วมกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและจ่ายโบนัสตาม KPI แล้วยิ่งมีปัญหาวุ่นวายมากขึ้นไปอีก 

ก็ลองถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่แบบ Back to the basic โดยใช้แบบประเมินผลเพื่อขึ้นเงินเดือนแบบนี้ไปก่อน แล้วค่อยมานั่งนิ่ง ๆ คิดดูอีกครั้งว่าจะเอายังไงเพื่อจะได้เดินหน้าต่อไปก็ได้ครับ

หวังใจว่าสิ่งที่ผมเสนอมานี้จะช่วยลดความซับซ้อน ลดการเสียเวลา ลดการเสียงบประมาณในการอบรมที่สูญเปล่าของระบบการประเมินผลงานแบบยัดเยียด KPI เยอะ ๆ แล้วมาให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็น Soft skills ที่สำคัญโดยไม่ได้มองแต่มิติ KPI เพียงด้านเดียว

ซึ่งการประเมินผลงานที่ผมนำเสนอนี้ นอกจากจะมีผลกับการปรับขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้สอดคล้องกับระบบรางวัล (Rewards) ขององค์กรแบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแล้ว

ยังนำไปใช้เพื่อการพัฒนา Soft skills ที่สำคัญของพนักงานแต่ละคนให้มี Career Path เติบโตก้าวหน้าไปกับองค์กรในอนาคตได้อีกด้วยครับ

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ไม่ได้อ้างอิงมาจากทฤษฎีหรือเป็นผลงานทางวิชาการใด ๆ นะครับ ผมเพียงแต่นำปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเจอมาในเรื่องนี้มาประมวลแล้วหาวิธีการแก้ปัญหาโดยให้เกิดความสมดุลระหว่างการประเมินผลการปฏิบัติงานกับระบบรางวัลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

เมื่ออ่านทั้งหมดนี้แล้วถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์จะเอาแบบฟอร์มนี้ไปดัดแปลงแก้ไขอะไรให้เหมาะกับองค์กรของท่านก็ตามสะดวกเลยนะครับ ไม่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ

ใครที่ต้องการไฟล์บทความนี้แบบ PDF File ก็ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ

 บทความ “คุยเฟื่องเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน_Mar 2024

https://www.dropbox.com/scl/fi/eulilaxw4q5dii3mwefdj/_Mar-2024.pdf?rlkey=5htz95m3hrc5jxbcpcsv1ng1t&dl=0