วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566

บริษัทจะขอตรวจครรภ์ก่อนรับเข้าทำงานได้หรือไม่ ?

            วันนี้ผมมีนิทานมาเล่าให้ฟังอีกแล้วครับ

            นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งรับพนักงานหญิงเข้ามาทำงานแล้วยังทดลองงานอยู่ แล้วบริษัทก็เพิ่งทราบว่าพนักงานตั้งครรภ์และต้องขอลาคลอดทำให้เกิดปัญหาขาดคนทำงาน จากเหตุนี้ผู้บริหารก็เลยถาม HR ว่าถ้าบริษัทจะขอตรวจครรภ์ผู้สมัครงานก่อนรับเข้าทำงานจะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่

            จากคำถามนี้ผมก็เลยมีคำถามกลับไปอย่างนี้ครับ

1.      ตอนสัมภาษณ์ผู้สมัครงานทั้ง HR และ Line Manager ที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ไม่ได้สังเกตเลยหรือว่าผู้สมัครรายนี้ตั้งครรภ์อยู่ นับตั้งแต่ผู้สมัครเข้ามากรอกใบสมัคร, ทดสอบข้อเขียน, สัมภาษณ์ ฯลฯ ซึ่งน่าจะท้องแก่พอสมควรแล้วน่าจะสังเกตเห็น

2.      จากข้อ 1 เมื่อคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้สังเกตและผู้สมัครเองก็ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาจนถึงขั้นบริษัทรับเข้ามาทดลองงานแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของทั้ง HR และ Line Manager ซึ่งก็ต้องให้พนักงานลาคลอดตามกฎหมายแรงงานครับ และถ้าบริษัทเลิกจ้างพนักงานเพราะเหตุนี้นี่ผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 43 แน่นอนครับ

3.      เคสแบบนี้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวแต่บริษัทจะเอาเหตุนี้มาขอตรวจครรภ์ผู้สมัครหญิงทุกคนที่บริษัทจะรับเข้าทำงานนั้นเหมาะควรแล้วหรือ ลองคิดแบบใจเขา-ใจเราดูนะครับว่าถ้าเราเป็นผู้สมัครหญิงจะรู้สึกยังไงและอยากจะมาทำงานกับบริษัทของเราหรือไม่

4.      บริษัทอาจขอตรวจการตั้งครรภ์ผู้สมัครหญิงได้ก็จริง แต่ผู้สมัครหญิงก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ตรวจครรภ์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้สมัครหญิงที่ปฏิเสธอาจจะไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ได้แต่อาจจะรู้สึกไม่โอเคที่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจจะปฏิเสธการทำงานซึ่งบริษัทก็จะพลาดโอกาสได้คนดีมีฝีมือมาทำงานด้วยเพราะนโยบายนี้

5.      มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ผมว่าสิ่งที่บริษัทควรทำเป็นอันดับแรกคือการให้ความรู้และทักษะในการสัมภาษณ์และรู้จักการสังเกตภาษากายของผู้สมัคร เพื่อคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะตรงกับงานและปฏิเสธผู้สมัครที่คุณสมบัติไม่ผ่านไม่เหมาะกับตำแหน่งงาน

เพราะจะเห็นได้บ่อยเลยว่าบางบริษัทยังใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบจิตสัมผัส (Unstructured Interview) ไม่เคยสังเกตภาษากาย สีหน้า แววตา ภาษากาย ฯลฯ ของผู้สมัครในระหว่างการสัมภาษณ์ ใช้คำถามแบบเปะปะไม่ได้เตรียมอะไรมาเลยแม้แต่จะอ่านใบสมัคร (หรือ Resume ของผู้สมัคร) ก็ไม่เคย แล้วก็มัวแต่ก้มหน้าก้มตาอ่านใบสมัครในระหว่างการสัมภาษณ์ ฯลฯ

อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของปัญหาที่เล่ามาให้ฟังข้างต้นนี้ด้วยครับ

เมื่อไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแต่กลับมาแก้กันตรงปลายเหตุและไปเหมารวมเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้พลอยโดนหางเลขแบบนี้

ในที่สุดจะกลับมากระทบภาพลักษณ์ชื่อเสียงของบริษัทในยุคที่กระแสโซเชียลเชี่ยวกรากแบบนี้หรือไม่

อันนี้ผู้บริหารต้องคิดให้ดี

หวังว่านิทานเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นอุทาหรณ์สำหรับบริษัทของท่านในเรื่องทำนองเดียวกันนี้ด้วยนะครับ