วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สั่งให้ลูกน้องทำโอที ทำไมถึงไม่ยอมทำ ?

             ผมว่าปัญหาที่จั่วหัวมาข้างต้นนี้คงจะเกิดกับหัวหน้างานหลาย ๆ คนใช่ไหมครับ ?

            ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจกันในเรื่องของโอทีกันก่อนดีไหม

1.      โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วไม่ต้องการให้ลูกจ้างทำโอทีโดยไม่จำเป็นนะครับลองดูตามมาตรา 24 ตามนี้

“มาตรา ๒๔  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป

ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น”

เห็นไหมครับว่าในวรรคแรกของมาตรานี้ก็บอกเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป”

ซึ่งการที่ลูกจ้างยินยอมทำโอทีก็มักจะต้องมีการทำใบขออนุมัติทำโอทีโดยลูกน้องทำมาแล้วส่งให้หัวหน้าอนุมัติเสียก่อน

            ดังนั้น ถ้าลูกจ้างไม่อยากทำโอทีก็ย่อมจะปฏิเสธได้นะครับ เว้นแต่จะมีลักษณะงานเป็นไปตามวรรคสองของมาตรานี้คือ ถ้าลักษณะของงานนั้นจำเป็นต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหาย หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเช่นงานโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านอาหาร สโมสร สมาคม สถานพยาบาล ที่นายจ้างอาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น

          ถ้าเป็นสมัยก่อนลูกจ้างก็มักอยากจะทำโอทีแหละเพราะจะได้เงินค่าโอ(ที) เป็นรายได้เพิ่มขึ้นอยู่แล้วแหละครับ แต่พอดียุคนี้การขายของออนไลน์มาแรงและอาจได้เงินมากกว่าการเสียเวลามาทำโอทีก็เลยทำให้พนักงานไม่ค่อยอยากจะทำโอทีครับ

2.      การคำนวณค่าโอทีก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 61-63 (ไปหาอ่านในกฎหมายแรงงานเพิ่มเติมนะครับ)

3.      เมื่อทำโอทีไปแล้วบริษัทก็ต้องจ่ายค่าโอทีไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งตามมาตรา 70

4.      การทำโอทีต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

พอรู้หลักเบื้องต้นอย่างงี้แล้ว ถามว่าถ้าทำโอทีแล้วได้เงินเพิ่มแต่ทำไมลูกน้องถึงไม่ยอมทำโอทีล่ะ ?

ผมก็เลยขอรวบรวมสาเหตุที่ลูกน้องไม่ทำโอทีมาดังนี้ครับ

1.      ไม่มีระเบียบปฏิบัติการทำโอทีที่ชัดเจน แต่ใช้วิธีปฏิบัติแบบเคยทำมายังไงก็ทำไปอย่างงั้น การอนุมัติว่าจะให้ค่าโอทีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้บริหารว่าอยากจะให้หรือไม่ให้ หลายครั้งที่ลูกน้องทำ “โอฟรี” แต่ไม่ได้ค่า “โอที” โดยหัวหน้าอ้างว่าเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อเนื่อง

2.      หัวหน้ามาบอกให้ทำโอทีกระทันหันเกินไป ลูกน้องมีธุระสำคัญก็เลยทำไม่ได้

3.      ลูกน้องไม่ได้อยากได้เงินเพิ่มแต่อยากเอาเวลาไปสังสรรค์กับเพื่อน ออกกำลังกาย หรือให้เวลากับครอบครัวมากกว่า

4.      ลูกน้องเรียนต่อภาคค่ำก็เลยทำโอทีไม่ได้ ไหนจะติดเรียนติดสอบ

5.      มีงานหารายได้พิเศษตอนค่ำ เช่น ไปร้องเพลงในห้องอาหาร, เป็นตัวแทนขายตรง, ขายประกันชีวิต, ขายของออนไลน์ต้องไปไลฟ์สด, ขายของตลาดนัด ฯลฯ ซึ่งงานเหล่านี้ถ้าได้เงินมากกว่าเงินที่ได้จากโอที พนักงานก็ต้องเลือกงานที่ได้เงินมากกว่าอยู่แล้วจริงไหมครับ

6.      ไม่มี “ใจ” ให้กับหัวหน้า คือหัวหน้าปกครองดูแลลูกน้องโดยใช้พระเดชใช้อำนาจเป็นประจำ แต่ไม่เคยมีพระคุณกับลูกน้อง หรือหัวหน้าไม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ลูกน้องเลื่อมใสศรัทธา อารมณ์ร้าย โวยวายเป็นประจำ ทำผิดพลาดก็ด่าอย่างเดียว ฯลฯ

7.      ไม่พูดจากับลูกน้องกันดี ๆ บอกให้เขาเข้าใจว่างานที่ต้องให้ทำโอทีน่ะมันเร่งด่วนหรือสำคัญแค่ไหนยังไง แต่ชอบใช้วิธีสั่งแบบบังคับว่าให้ทำก็ต้องทำ ถ้าลูกน้องไม่ทำก็จะมีการลงโทษประเภทเชือดไก่ให้ลิง (ลูกน้องคนอื่น) ดูไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

8.      ให้โอทีไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 61-63 บางแห่งให้โอทีแบบเหมาจ่าย แถมอัตราก็ต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด เช่นใครจะเงินเดือนเท่าไหร่ก็ให้ค่าโอทีชั่วโมงละ 150 บาทเท่ากันทั้งหมด หรือหลายบริษัทก็ไม่ใช้ “ค่าจ้าง” มาเป็นฐานในคำนวณโอที ใช้เพียง “เงินเดือน” เท่านั้น (ต้องไปดูกันเอาเองว่า “ค่าจ้าง” ของบริษัทมีอะไรบ้างตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงาน) ก็จะทำให้พนักงานได้รับค่าโอทีต่ำกว่าที่คำนวณตามกฎหมายแรงงานก็เลยไม่อยากทำเพราะรู้สึกว่าบริษัทเอาเปรียบ

9.      ทำโอทีกว่าจะเสร็จก็เลยเที่ยงคืน ลูกน้องต้องเรียกแท็กซี่กลับบ้านก็ไม่มีค่าแท็กซี่ให้ ทำให้ลูกน้องต้องควักกระเป๋าตัวเองเอามาจ่ายค่าแท็กซี่เข้าเนื้อตัวเองซะอีก เรียกว่าถ้าใครบ้านอยู่ไกลก็ทำโอทีมาจ่ายเป็นค่าแท๊กซี่กลับบ้านแหละครับ

10.   ฯลฯ

ดังนั้นหัวหน้าคงต้องย้อนกลับมาทบทวนใหม่ให้ดีว่างานที่สั่งให้ลูกน้องทำโอทีน่ะมันจำเป็น เร่งด่วน และสำคัญจริงหรือไม่ มีการจ่ายโอทีให้เขาหรือเปล่า และการจ่ายโอทีของบริษัทเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือไม่ เพื่อลดปัญหาเหล่านี้ลงครับ