เป็นคำถามที่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่ก็กลับมีปัญหาได้ในบางบริษัทนะครับ
ถ้าว่ากันตามมาตรา
30 ของกฎหมายแรงงานก็จะบอกไว้ว่าเมื่อลูกจ้างทำงานมาครบ 1 ปี นายจ้างก็ต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี
(ที่เราเรียกติดปากว่า “วันลาพักร้อน” แหละครับ ซึ่งต่อไปนี้ผมก็ขอเรียกแบบคนทำงานว่าลาพักร้อนนะครับ)
ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน
ผมสมมุติตัวอย่างที่หนึ่งคือ
นาย A มีสิทธิพักร้อน
6 วันทำงานแกก็อยากจะใช้สิทธิลาพักร้อน 6 วันบวกกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวรวมเป็น 8
วัน แกก็เลยยื่นใบลาพักร้อนกับหัวหน้า
ก็จะเจอปัญหาสำหรับหัวหน้าบางคนที่ไม่อนุมัติให้นาย
A ลาพักร้อนติดกันหลาย ๆ วัน แม้ว่างานที่นาย A ทำอยู่จะมีคนทำแทนได้ก็ตาม
โดยอาจให้เหตุผลกับนาย A ว่าถ้าให้ลาพักร้อนไปประมาณหนึ่งสัปดาห์จะทำให้เป็นภาระกับเพื่อน
ๆ ที่ต้องมาทำงานแทน
แต่เหตุผลที่จริงก็คือนาย
A เป็นคนที่เก่งงาน ทำงานดี ทำงานคล่อง แก้ปัญหาสารพัดได้รวดเร็ว ถ้านาย A
หายไปหลายวันหัวหน้าก็จะรู้สึกไม่มั่นใจแม้ว่าจะมีคนทำแทนได้แต่ก็ไม่เก่งเท่านาย
A ก็เลยไม่อนุมัติให้นาย A ลาพักร้อนแบบหยุดยาว
แต่ถ้านาย
A จะลาพักร้อนไม่เกิน 3 วัน
หัวหน้าก็จะอนุมัติแบบไม่มีปัญหาอะไร
ในขณะที่หัวหน้าก็จะอนุมัติให้พนักงานในแผนกลาพักร้อนได้มากกว่า
3 วันได้ซะงั้น
ผลเลยกลายเป็นว่าคนทำงานดีขอพักร้อนหยุดยาวตามสิทธิไม่ได้
แต่คนทำงานตามเกณฑ์เฉลี่ยหรือทำงานไม่ดีกลับได้สิทธิพักร้อนตามที่ขอมาทุกครั้ง
ตัวอย่างที่สองคือ
หัวหน้าบางคนมักอนุมัติให้ลูกน้องลาพักร้อนโดยนับเป็นชั่วโมงก็มี
หรือพักร้อนครึ่งวันก็มี ??
ในความคิดส่วนตัวของผม
ๆ
เห็นว่าการให้สิทธิลาพักร้อนตามกฎหมายแรงงานก็มีเจตนารมณ์ที่อยากจะให้ลูกจ้างได้หยุดชาร์จแบตอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดจากการทำงาน
แต่การที่หัวหน้าให้ลูกน้องลาพักร้อนเป็นรายชั่วโมงหรือครึ่งวันนี่
ผมก็ยังตะหงิด ๆ ใจว่าจะผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ยังไง
เพราะมันก็คงคล้าย
ๆ กับมือถือของเราที่แบตใกล้หมดแต่เราเสียบสายชาร์จได้แค่แป๊บเดียว
ยังไม่ทันให้กระแสเพิ่มขึ้นเท่าไหร่เลยก็ต้องดึงสายชาร์จออกแล้วใช้งานต่อแล้ว
ประมาณนั้นแหละครับ
นี่แค่สองตัวอย่างเกี่ยวกับการลาพักร้อนนะครับ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะเจอมากกว่าที่ผมเล่าให้ฟังอีกหลายเรื่องเลยแหละ
ถามว่าผมเห็นยังไงเกี่ยวกับการให้ลูกน้องลาพักร้อนกี่วันดี
?
ก็คงตอบจากประสบการณ์ของผมที่เคยทำมาคือ
เมื่อลูกน้องยื่นใบลาพักร้อนมาแล้วผมเห็นว่าไม่กระทบกับงานที่เขารับผิดชอบเพราะมีคนทำแทนได้
ผมก็จะอนุมัติให้เขาลาพักร้อนไปครับ
ถึงแม้คนทำแทนจะไม่ได้เก่งเหมือนลูกน้องคนที่ลาพักร้อนแบบเต็มร้อยก็ตาม
ผมกลับมองว่าเป็นประโยชน์อย่างน้อย 3 เรื่องคือ
1.
เป็นการทดสอบระบบงานดูด้วยว่าถ้าลูกน้องคนเก่งคนนี้ไม่อยู่ยาว
ๆ หน่วยงานของเราจะมีปัญหาอะไรมากน้อยแค่ไหน
และใครที่สามารถทำแทนหรือแก้ปัญหาแทนได้ เป็น Successor ได้
เพราะเราไม่ควรเอางานไปแปะไว้ที่ตัวบุคคล คนใดคนหนึ่งมากจนขนาดที่ว่าขาดคน ๆ
นี้ไม่ได้ ไม่งั้นวันดีคืนร้ายก็อาจจะมีการจับงานเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองขอเงินเดือนเพิ่ม
หรือการเก็บความสำคัญไว้กับตัวเองและไม่ยอมสอนงานใครซึ่งก็จะเป็นปัญหาระยะยาวต่อไปอีก
2.
ทำให้เกิดการเรียนรู้งานใหม่ ๆ และเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานในหน่วยงานให้มากขึ้น
ซึ่งทำให้เราได้เห็น “แวว” หรือศักยภาพของพนักงานคนอื่น ๆ ในหน่วยงานที่ชัดเจนมากขึ้น
3.
ทำให้คนที่ทำงานดีมีเวลาพักผ่อน
ชาร์จแบตให้กับตัวเองและลดความเครียดจากการทำงานลง
และกลับมาด้วยความสดใสเพราะได้ไปชาร์จแบตกลับมา ทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวและเป็นเรื่องที่ผมปฏิบัติตอนที่ทำงานประจำ
ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละคนครับ