ผมเคยเขียนเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับคนที่สนใจเรื่องนี้ไปก็หลายตอนแล้วนะครับ
นี่ก็เป็นอีกตอนหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไอเดียสำหรับคนที่ต้องมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเงินเดือนที่ควรจะต้องรู้เอาไว้
นั่นคือสูตรที่บอกว่าโครงสร้างเงินเดือนที่เราออกแบบไปในแต่ละกระบอกจะใช้ไปได้อีกกี่ปีถึงจะทำให้พนักงานเงินเดือนตัน
ผมเคยอธิบายเรื่องของสูตรที่ใช้หาความห่างระหว่าง
Min ถึง Max ในแต่ละกระบอกเงินเดือนไปแล้วว่าคือสูตรที่เรียกว่า
“Range Spread (ที่ผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า RS)”
RS
= (Max ลบ Min) หาร Min
คูณ 100
เช่น
กระบอกเงินเดือนหนึ่งมี Min
= 10,000 Max = 25,000
RS =
((25,000-10,000)/10,000)*100 = 150%
หมายความว่าถ้าบริษัทรับใครเข้ามาทำงานตำแหน่งใดก็ตามในกระบอกเงินเดือนนี้
ก็จะมีอัตราแรกจ้างต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
ถ้าพนักงานคนนี้ทำงานกับบริษัทไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถจะพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพ
มีผลงานที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปรับผิดชอบในระดับชั้นตำแหน่งที่สูงไปกว่านี้ได้ก็จะต้องมีเงินเดือนตันที่
25,000 บาท
ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของ
RS จะเป็นตัวบอกว่าบริษัทนี้มีนโยบายที่จะเลี้ยงพนักงานไว้ในกระบอกเงินเดือนนี้นานมากหรือน้อยแค่ไหน
ถ้าบริษัทที่มี Career Path ให้พนักงานได้เติบโตก้าวหน้าได้น้อย
เช่น บริษัทเล็ก ๆ
ที่ไม่สามารถมีระดับชั้น/ตำแหน่งที่มากนัก
หรือบริษัทที่มีนโยบายทำโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadbanding ก็จำเป็นจะต้องกำหนดเปอร์เซ็นต์ของ
RS ให้สูงเพื่อจะได้ไม่ทำให้เงินเดือนตันเร็วเกินไป
เพราะไม่ใช่ความผิดของพนักงานที่ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งได้
แต่เป็นเพราะบริษัทไม่สามารถสร้าง Career Path ให้กับพนักงานได้อย่างที่ควรจะเป็นต่างหาก
ดังนั้นก็อาจจะออกแบบให้
RS มากกว่า 200% หรือ 300% ขึ้นไปก็เป็นไปได้
คราวนี้เรากลับมาดูกระบอกเงินเดือนตามตัวอย่างข้างต้นดูนะครับว่าถ้าสมมุติว่าเราออกแบบโครงสร้างเงินเดือนในกระบอกหนึ่งมี
Min=10,000 บาท และ Max=25,000 บาท มี RS = 150%
ถามว่าในกระบอกเงินเดือนนี้จะใช้ไปได้อีกกี่ปีถึงจะทำให้พนักงานเงินเดือนตัน
ก็มีสูตรคำนวณอย่างนี้ครับ
จำนวนปีที่เงินเดือนจะตัน
= (Max ลบ Min) หาร (Midpoint
คูณ เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยขึ้นเงินเดือนต่อปี)
เช่น Min=10,000
Max=25,000
Midpoint (ค่ากลาง) = (Max+Min)/2 = (25,000+10,000)/2 = 17,500
ถ้าบริษัทแห่งนี้มีการขึ้นเงินเดือนต่อปีโดยเฉลี่ย
5%
จำนวนปีที่เงินเดือนจะตัน (ในกระบอกนี้) = (25,000-10,000)/(17,500*5%) = 17.14 ปี
แต่ถ้าสมมุติว่าบริษัทแห่งนี้ขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ
10%
จำนวนปีที่เงินเดือนจะตัน
(ในกระบอกนี้) =
(25,000-10,000)/(17,500*10%) = 8.57 ปี
แต่..สูตรก็คือสูตรแหละครับ
เวลาปฏิบัติจริงจะไปยึดถือตามสูตรในภาคทฤษฎีแบบเป๊ะ ๆ อย่างนี้ก็อาจจะไม่ได้ตรงสักเท่าไหร่
เพราะจากสูตรนี้มีข้อสังเกตว่าพนักงานทุกคนที่เรารับเข้ามาทำงานไม่ได้เริ่มสตาร์ทเงินเดือนที่
10,000
บาทเท่ากันทุกคนซะเมื่อไหร่ล่ะครับ
เช่น
คนที่เพิ่งจบใหม่ก็อาจจะสตาร์ทที่ 10,000 บาท
แต่คนที่มีประสบการณ์ทำงานก็อาจจะสตาร์ทที่ 12,000 หรือ 14,000
หรือ 18,000 บาท ฯลฯ
พูดง่าย ๆ
ว่าแต่ละคนไม่ได้ออกสตาร์ทที่ Min เท่ากันทุกคน
เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้สูตรนี้เป็นเพียงเครื่องมือตัวหนึ่งที่ช่วยในพยากรณ์ในทางทฤษฎีเพื่อให้ระวังเอาไว้เท่านั้น
ส่วนในทางปฏิบัติคนที่รับผิดชอบด้าน Com & Ben ก็ต้องตาม Monitor โครงสร้างเงินเดือนและ Actual
Pay ของพนักงานในแต่ละกระบอกเงินเดือนเป็นระยะและมีการบริหารจัดการที่หน้างานแบบ
Tailor made อย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทต่อไปครับ