วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องน่าคิดทุจริตในองค์กร..ตัดสินใจไงดี ?

            ทุกองค์กรย่อมจะมีกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมนั้น ๆ หนึ่งในนั้นคือข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางวินัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดทางวินัยกรณีร้ายแรงที่ถ้าหากพนักงานคนไหนทำความผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว บริษัทสามารถบอกเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานและไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

            ผมขอยกตัวอย่างความผิดทางวินัยร้ายแรงสักเรื่องหนึ่งเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ครับ

            ชาญวิทย์เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินพบว่าบังอรลูกน้องที่เป็นพนักงานแคชเชียร์ทำงานกับบริษัทมา 15 ปีแล้ว ทุจริตยักยอกเงินของบริษัทไป 50,000 บาท

เมื่อบริษัทตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งประกอบด้วยชาญวิทย์ที่เป็นผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่เกิดเรื่อง, ผู้จัดการฝ่ายบุคคล, ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวน ได้ทำการสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งสอบพยานบุคคลและพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว มีข้อมูลชัดเจนว่าบังอรติดการพนัน มีหนี้สินมาก ตั้งวงแชร์ในบริษัทและมีปัญหายืมเงินเพื่อน ๆ หลายคน ไปแล้วไม่ใช้ แล้วก็ทุจริตยักยอกเงินบริษัทจริง

บังอรก็ยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน !!

            ตามข้อบังคับการทำงานของบริษัทก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการทุจริตลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินของบริษัทนั้นถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น

            บังอรก็ไปพบกับ MD โดยไปร้องห่มร้องไห้ขอโอกาสแก้ตัวกับ MD บอกว่าที่ต้องยักยอกเงินบริษัทนั้นเธอมีความจำเป็นจริง ๆ เพราะต้องเอาไปเป็นค่าเทอมให้ลูกเรียน ไม่รู้จะไปหาเงินมาจากไหนจึงต้องจำใจยักยอกเงินดังกล่าว พร้อมทั้งขอร้อง MD อย่าเลิกจ้างเธอ

ถ้าบริษัทเลิกจ้าง ลูกเธอต้องออกจากโรงเรียน จะไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากบังอรเป็น Single mom ต้องเลี้ยงดูลูก อยากจะขอให้บริษัททำหนังสือตักเตือนเธอในครั้งนี้ก็พอ และรับปากว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

แถมบอกว่าถ้า MD ยังยืนยันจะเลิกจ้างเธอก็เท่ากับ MD กำลังทำร้ายครอบครัวของเธอและทำให้ครอบครัวของเธอต้องมีปัญหา ฯลฯ

            ข้อคิดในเรื่องนี้ก็คือ....

1.      ความผิดที่บังอรทำในครั้งนี้เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ โทษเกี่ยวกับความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงานของบริษัทบอกไว้ว่ายังไง

2.      บริษัทจะแน่ใจได้ยังไงว่าต่อไปบังอรจะไม่ร้อนเงินและจะไม่ทำเรื่องแบบนี้อีก

3.      บริษัทจะไว้วางใจเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งมีโอกาสก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ บังอรยังจะมี Career Path ต่อไปยังไง และบริษัทจะไว้วางใจให้บังอรมีอำนาจอนุมัติอะไรได้อีกหรือไม่

4.      สมมุติว่าบริษัทไม่เลิกจ้างบังอร โดยจะให้ย้ายบังอรไปทำงานในหน่วยงานใดก็ตาม เพื่อนพนักงานในหน่วยงานที่บังอรย้ายไปอยู่ใหม่เขาจะไว้วางใจบังอรหรือไม่ว่าจะไม่มายืมเงินหรือคอยระแวงไม่กล้าวางกระเป๋าตังค์ทิ้งไว้

5.      พนักงานคนอื่น ๆ ในบริษัทก็จับจ้องมองการตัดสินใจของฝ่ายบริหารอยู่ว่าบริษัทจะทำยังไงในกรณีนี้ ถ้าบริษัทออกหนังสือตักเตือนโดยไม่เลิกจ้าง ก็เท่ากับบริษัทส่งสัญญาณไปยังพนักงานคนอื่น ๆ ให้เกิดการรับรู้ว่าถ้าทุจริตแล้วในที่สุดบริษัทก็ยังไม่เลิกจ้าง จะมีพนักงานที่กล้าเสี่ยงทุจริตทำนองเดียวกันนี้อีกหรือไม่

6.      ที่บังอรบอกว่าถ้าหากบริษัท (หรือ MD) เลิกจ้างเธอ เท่ากับ MD กำลังทำร้ายครอบครัวของเธอนั้น คำถามคือถ้าบังอรไม่ยักยอกเงินของบริษัทจะเกิดปัญหานี้ขึ้นหรือไม่ ใครกันแน่เป็นต้นเหตุที่ทำร้ายครอบครัวของบังอร ?

ถ้าบังอรใช้ตรรกะแบบนี้บรรดาโจรผู้ร้ายลักวิ่งชิงปล้นทั้งหลายก็คงจะพูดแบบเดียวกันว่าห้ามตำรวจมาจับเขานะ เขาจำเป็นต้องปล้นเพื่อเอาเงินที่ปล้นมาส่งลูกเรียน ถ้าตำรวจไปจับเขาก็เท่ากับตำรวจเป็นคนทำร้ายครอบครัวของโจรด้วยอย่างงั้นหรือ ?

อ่านจบแล้วถ้าท่านจะต้องเป็นคนตัดสินใจ....จะตัดสินใจยังไงดีครับ ?