เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็จะต้องมีผลกระทบกับตลาดการจ้างงานและกับบริษัทต่าง ๆ ตามมา แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหนก็จะขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนั้น ๆ มีมากหรือน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น
ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2555 นั้นมีผลกระทบที่แรงมากที่สุดนับตั้งแต่ผมทำงานด้านบริหารค่าตอบแทนมา
30 กว่าปีก็มีครั้งนี้แหละที่ปรับเพิ่มขึ้นมาถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ 1 มกราคม
2560 ก็ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
ต่อมา 1 เมษายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ
5 เปอร์เซ็นต์ และครั้งล่าสุดวันที่ 1 มกราคม
2563 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
เรามาดูกันไหมครับว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ว่าในครั้งนี้หรือครั้งไหนก็ตามจะมีผลกระทบอะไรกับบริษัทของท่านบ้าง
1.
ต้นทุนในการจ้างพนักงานเข้าใหม่ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นรวมเป็นเงินเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะรับพนักงานเข้าใหม่
(Unskilled
Labor) ที่จะต้องจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามากี่คน
2.
ปรับเงินเดือนให้กับพนักงานเก่าเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำของพนักงานใหม่ ถ้าไม่ปรับค่าจ้างให้คนเก่าก็อาจจะทำให้คนเก่าลาออก
ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่บริษัทว่าจะปรับให้คนเก่าหรือไม่
ถ้าคิดว่าถ้าคนเก่าลาออกไปแล้วคนใหม่ทำแทนได้โดยสอนงานไม่นานนักก็ทำได้
บางบริษัทก็อาจจะไม่ปรับ
แต่ถ้าคิดว่ามีผลกระทบก็ต้องปรับเงินเดือนให้คนเก่า
ส่วนจะปรับให้เท่าไหร่ ใช้สูตรไหนยังไงต้องมาว่ากันในรายละเอียดของแต่ละบริษัทต่อไป
แต่ที่แน่ ๆ
คือต้นทุนการปรับเงินเดือนคนเก่าเพิ่มขึ้นแหง ๆ ครับ
3.
บริษัทอาจจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่เพื่อหนีผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามจำนวนอัตรากำลังที่จะรับพนักงานจบใหม่ในคุณวุฒิต่าง
ๆ เข้าทำงาน เช่น ปวช.,ปวส.,ปริญญาตรี, ปริญญาโท-เอก
ก็แน่นอนครับว่าบริษัทจะต้องมีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ตรงนี้ในรายละเอียดคงต้องกลับไปดูว่าบริษัทของท่านกำหนดอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิต่าง
ๆ กันไว้เท่าไหร่กันบ้าง ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจนถึงขั้นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิกันใหม่หรือยัง
และควรจะปรับเพื่อหนีผลกระทบหรือไม่ ควรจะปรับเท่าไหร่ดี
4.
ปรับเงินเดือนคนเก่าที่จบคุณวุฒิเดียวกันและเข้ามาก่อน
เพราะถ้าไม่ปรับเพิ่มให้ก็อาจจะทำให้คนเก่าลาออกในขณะที่คนใหม่ก็ยังไม่รู้งานอะไรเลยกลับได้เงินเดือนไล่หลังหรือเท่ากับคนเก่า
ดังนั้นถ้าบริษัทปรับเงินเดือนคนเก่าเหล่านี้เพื่อหนีคนใหม่ก็จะทำให้ต้นทุนการปรับเงินเดือนสูงขึ้นแหง
ๆ อยู่แล้วครับ
5.
บริษัทอาจจะต้องปรับเงินเดือนพนักงานที่เป็นกลุ่มศักยภาพสูง
(Talent) หรือพนักงานที่มีความสามารถที่บริษัทเห็นว่าสำคัญเพื่อรักษา
Key Person
เหล่านี้เอาไว้
6.
พนักงานที่เป็นกลุ่มศักยภาพสูง (Talent) อาจจะลาออก ถ้าพบว่าเงินเดือนของตัวเองถูกคนเข้าใหม่จี้หลังเข้ามามากเกินไป
ถึงแม้บริษัทจะปรับเงินเดือนให้หนีคนใหม่แล้วก็ตาม
แต่อัตราการปรับเงินเดือนให้ยังน้อยกว่าที่พนักงานคาดหวัง
และที่ใหม่เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่ามาให้
7.
พนักงานที่ยังไปไหนไม่ได้และยังจำเป็นต้องอยู่กับบริษัทก็จะเริ่มก่อหวอดเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่มจากฝ่ายบริหาร
เพื่อให้ท่านเห็นภาพที่ผมบอกมาชัดขึ้นให้ดูภาพประกอบด้านล่าง
จากตารางสถิติค่าจ้างขั้นต่ำ-อัตราเงินเฟ้อ-% เมื่อมองภาพรวมจะเห็นได้ว่า
ถ้าบริษัทขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ พนักงานจะได้รับการขึ้นเงินเดือนจริงต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ+เงินเฟ้อ (9+1=10%) ซึ่งเป็นอัตราเติบโตของค่าจ้างนอกบริษัท
1.
เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การเติบโตของอัตราการจ้างสำหรับตลาดภายนอกบริษัททุกครั้งและจะทำให้เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับมีแนวโน้มลดลง
ส่วนจะมากหรือน้อยเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้งว่ามากหรือน้อยแค่ไหน
ซึ่งจะเกิดผลกระทบระหว่างเปอร์เซ็นต์การเติบโตของค่าจ้างภายนอกกับภายในบริษัทเช่นนี้อยู่เสมอ
2.
มีแนวโน้มที่จะต้องปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น
ซึ่งตรงนี้ก็จะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างตามทักษะวิชาชีพก็จะทำให้ตลาดจะมีการปรับค่าจ้างเงินเดือนในตำแหน่งงานต่าง
ๆ เพิ่มสูงขึ้น
3.
อาจจะต้องมีการ Update โครงสร้างเงินเดือนใหม่ ถ้าพบว่าการปรับค่าจ้างในตลาดในตำแหน่งงานต่าง
ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าไม่ Update โครงสร้างเงินเดือน ก็จะทำให้จ่ายต่ำกว่าตลาดแข่งขัน
(Under Paid) ซึ่งจะกระทบกับความสามารถในการรักษาคนในและจูงใจคนนอกเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในที่สุด
ทั้งหมดที่บอกมานี้คือสิ่งที่ผมนึกออกในตอนนี้ว่าถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
(ไม่ว่าจะครั้งไหนก็ตาม) จะมีผลกระทบอะไรกับบริษัทบ้าง และหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ทำงานด้าน
Com
& Ben หรือ HR ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้สำหรับรับมือกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
(ถ้ามี) ในครั้งต่อไปนะครับ