วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

ตำแหน่งเท่ากัน Job Grade เดียวกันแต่อยู่คนละหน่วยงานควรได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันหรือไม่ ?

             มีคำถามหนึ่งเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีว่า พนักงานที่อยู่ในกลุ่มงาน (Job Group-JG) เดียวกัน แต่ทำงานกันคนละฝ่าย เมื่อถึงรอบขึ้นเงินเดือนประจำปีแล้วพนักงานทั้งสองคนนี้ต่างก็ถูกหัวหน้าประเมินผลงานได้เกรดเดียวกัน เช่น ได้เกรด C

ทั้งสองคนนี้ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันหรือไม่ ?

            ยกตัวอย่างเช่น พนักงานบัญชีคนหนึ่งถูกประเมินผลงานได้เกรด C ได้รับการขึ้นเงินเดือน 5%

ส่วนพนักงานจัดซื้อ (ซึ่งอยู่ใน Job Grade เดียวกับพนักงานบัญชี) ถูกประเมินผลงานได้เกรด C เหมือนกัน ควรได้รับการขึ้นเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์เท่ากับพนักงานบัญชีตามหลักค่างานหรือไม่ เพราะอยู่ใน Job Grade เดียวกันถือว่ามีความรับผิดชอบเท่ากัน ?

            ถ้ามองแบบเผิน ๆ หรือคิดเร็ว ๆ ก็ควรจะต้องขึ้นเงินเดือนให้ 5% เท่ากัน

แต่....ผมมีข้อคิดบางเรื่องอย่างนี้ครับ

1.      เมื่อมีการประเมินค่างานก็จะต้องมีคณะกรรมการประเมินค่างาน ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่ประเมินค่างานโดยอาศัยปัจจัย (Factors) ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น มาวัดหรือประเมินดูว่าในตำแหน่งต่าง ๆ นั้นน่ะ ตำแหน่งไหนจะมีค่างาน (Job Value) ที่สูงกว่าหรือต่ำกว่ากันมากน้อยแค่ไหนแล้วนำมาจัดเรียงตามคะแนนที่ถูกประเมินแล้วจึงจัดทุกตำแหน่งงานเข้า Job Grade ต่าง ๆ ซึ่งการประเมินค่างานเป็นการประเมินความสำคัญของตัว “ตำแหน่งงาน” เป็นหลัก ไม่ใช่การประเมินผลการปฏิบัติงานของ “ตัวบุคคล”

2.      เมื่อจัดแบ่งตำแหน่งงานต่าง ๆ เข้าแต่ละ Job Grade ตามคะแนนแล้ว เราก็จะนำเอาตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade ไปดูว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของตลาดมาวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้เหมาะสมกับองค์กรของเราเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเลย

3.      ตัวของพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็มีงานและความรับผิดชอบตาม JD (Job Description) เป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน

4.      ผู้ประเมินก็คือหัวหน้าของพนักงานบัญชีและหัวหน้าของพนักงานจัดซื้อนั้นต่างก็ประเมินลูกน้องไปตามผลงานของแต่ละคน ซึ่งหัวหน้าของพนักงานทั้งสองคนนี้ต่างก็มีดุลพินิจในการประเมินลูกน้องที่แตกต่างกัน

5.      ยิ่งบริษัทมีระบบประเมินผลโดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย (KPIs) ก็จะพบว่าทั้งพนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็มี KPIs ที่ต่างกันเพราะลักษณะงานต่างกันตาม JD ยิ่งถ้าเป็นการประเมินผลงานแบบ “จิตสัมผัส” หรือแบบ Rating Scale ยิ่งบอกไม่ได้เลยว่าเกรด C ของหัวหน้าในฝ่ายบัญชีจะเหมือนกับเกรด C ของหัวหน้าในฝ่ายจัดซื้อหรือไม่

6.      ดังนั้นแม้พนักงานบัญชีและพนักงานจัดซื้อต่างก็ถูกหัวหน้าประเมินแล้วได้เกรด C เหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่า C ของพนักงานบัญชีจะเท่ากับ C ของพนักงานจัดซื้อ เพราะผู้ประเมินก็คนละคน, ผู้ถูกประเมินก็คนละคน, ลักษณะงานก็ต่างกัน, เป้าหมายในงานก็ต่างกันอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้แล้ว

7.      งบประมาณขึ้นเงินเดือนของฝ่ายบัญชีกับฝ่ายจัดซื้อไม่เท่ากัน ถ้าฝ่ายไหนมี Total Payroll สูงกว่าก็จะได้รับงบประมาณมากกว่าซึ่งก็จะปรับเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนของพนักงานในฝ่ายตัวเองได้ดีกว่าฝ่ายที่ได้รับงบประมาณที่น้อยกว่า เปรียบเหมือนบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าย่อมจะตกแต่งรายละเอียดได้ดีกว่าบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า

8.      การประเมินค่างานเป็นการประเมินความสำคัญของตำแหน่งงานที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล แต่การประเมินผลการปฏิบัติงานจะเป็นการประเมินผลการทำงานของตัวบุคคลโดยหัวหน้างาน ซึ่งเป็นเรื่องของ “ผลงาน” หรือ KPIs ของพนักงานแต่ละคนที่จะทำได้หรือไม่ตามที่ตกลงกัน และยังเป็นเรื่องของดุลพินิจของหัวหน้าในการให้คุณให้โทษกับลูกน้องที่ทำงานดีหรือไม่ดีในฝ่ายของตัวเอง

9.      ดังนั้นการโยงด้วยตรรกะที่ว่า “ค่างานเท่ากันได้รับการประเมินผลเกรดเดียวกันก็ต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากัน” นั้น จึงไม่ใช่การเปรียบเทียบแบบ Apple to apple เพราะการประเมินค่างานเป็นการประเมินค่าของงานในแต่ละตำแหน่งโดยคณะกรรมการประเมินค่างานที่เป็นคนกลาง แต่การประเมินผลงานเป็นการประเมินผลงานของตัวบุคคลโดยหัวหน้างาน แถมมีตัวแปรอีกเยอะที่ชี้วัดได้ยากกว่าเกรด A ของพนักงานฝ่ายนี้จะเท่ากับเกรด A ของพนักงานอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

จากเหตุผลทั้งหมดที่ผมอธิบายมานี้จึงเป็นข้อสรุปของผมที่ว่า....

ตำแหน่งเท่ากัน แต่อยู่คนละหน่วยงาน มีค่างานเท่ากัน แม้จะอยู่ Job Grade เดียวกัน ถูกประเมินผลด้วยเกรดเดียวกันก็ไม่จำเป็นจะต้องได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่ากันครับ