มีคำถามเกี่ยวกับการปรับเงินเดือนเมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นคือ
บริษัทได้พิจารณาให้พนักงาน (ผมสมมุติว่าชื่อ นาย A)
ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากพนักงานให้เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์
ซึ่งตามหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งของบริษัทนี้ก็คือ
หากพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะได้รับการปรับเงินเดือนขึ้น
10 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกินค่ากลาง (Midpoint) ของกระบอกเงินเดือนถัดไป
ซึ่งในกรณีนี้สมมุติว่านาย A ซึ่งเดิมเป็นพนักงานอยู่ในระดับ
(Job Grade) ที่มีอัตราเริ่มต้น 10,000 บาท และอัตราสูงสุด (เพดาน) 20,000 บาท
(ดังนั้นค่ากลางของกระบอกนี้คือ 15,000 บาท)
ซึ่งปัจจุบันนาย A ได้รับเงินเดือน
16,000 บาท
ส่วนกระบอกเงินเดือนของระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ที่นาย A จะได้รับการเลื่อนขึ้นไปนั้น
มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ 13,500 บาท และมีอัตราสูงสุด
(เพดาน) อยู่ที่ 27,000 บาท
(ดังนั้นกระบอกนี้จะมีค่ากลางอยู่ที่ 13,500+27,000 หาร 2
เท่ากับ 20,250 บาท)
จากหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวก็จะทำให้นาย A ได้รับการปรับเงินเดือนใหม่เป็น
16,000x10% = 17,600 บาท (ปรับ 10% แต่ไม่เกินค่ากลางของกระบอกเงินเดือนใหม่ที่ได้รับการเลื่อนขึ้นไป)
แต่ปัญหามีอยู่ว่า มี นาย B
เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์อยู่ในระดับนี้ทำงานในระดับตำแหน่งนี้มาก่อนนาย A ซึ่งนาย B ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 17,000 บาท ดังรูป
คำถามคือ อย่างนี้บริษัทจะต้องปรับเงินเดือนให้กับนาย
B
หรือไม่ เพราะถือว่าเป็นซุปฯและทำงานในตำแหน่งนี้ก่อนนาย A เสียอีกแต่กลับได้เงินเดือนน้อยกว่า
ถ้าไม่ปรับให้เดี๋ยวนาย B น้อยอกน้อยใจลาออกไปแล้วบริษัทก็จะต้องหาคนมาแทนกันอีก
หรืออาจจะเกิดปัญหาว่านาย B จะหมดกำลังใจในการทำงานอะไรทำนองนั้นแหละครับ
คำตอบก็คือ "บริษัทไม่ปรับเงินเดือนให้กับนาย B" ครับ
เหตุผลก็คือ ถ้าปรับให้กับนาย B
ต่อไปเมื่อบริษัทเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้สูงขึ้นมา 1 คนก็ต้องมาดูว่าพนักงานเดิมที่ครองตำแหน่งมาก่อนมีใครบ้างที่เงินเดือนน้อยกว่าพนักงานที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งคนนี้หรือไม่
แล้วก็ต้องมาตามปรับเงินเดือนให้คนที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนทุกครั้ง
ต้นทุนการปรับเงินเดือนของบริษัทมิบานเบิกหรือครับ ?
เพราะการที่พนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมานั้น
แต่ละคนก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาในช่วงเวลาหรือจังหวะที่แตกต่างกัน เช่น
ในกรณีของนาย A
ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตอนที่เงินเดือนเกินค่ากลางไปเล็กน้อย
(ค่ากลาง 15,000 บาท เงินเดือนก่อนเลื่อนตำแหน่ง 16,000
บาท)
แต่สมมุติว่าถ้านาย A ได้เลื่อนตำแหน่งตอนที่เงินเดือน
18,000 บาท บริษัทก็ต้องมาปรับเงินเดือนให้กับพนักงานทุกคนที่เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์เดิมที่เงินเดือนต่ำกว่า
18,000 บาทด้วยหรือครับ
และถ้าทำอย่างนั้นก็ยิ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) บานปลายมากขึ้นไปอีก
แบบนี้บริษัทจะอยู่ไหวไหม ?
นี่จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทจะไม่มาคอยดูเงินเดือนของพนักงานเดิมที่ครองตำแหน่งมาก่อน
แต่จะปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เท่านั้น
เพราะพนักงานที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นมาเช่นกรณีของนาย
A ก็แปลว่าฝ่ายบริหารจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีผลการปฏิบัติงานและความสามารถเหมาะสมที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์
ส่วนการปรับเงินเดือนเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็เป็นไปตามหลักเณฑ์ปกติของบริษัท
ส่วนกรณีของนาย B แม้จะเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์เดิมที่อยู่มาก่อน
บริษัทยังไม่มีเหตุผลอะไรจะไปปรับเงินเดือนเพิ่มให้
ถ้าจะอ้างว่าปรับเพราะเหตุผลว่าเงินเดือนของนาย B ต่ำกว่านาย
A อย่างนี้บริษัทมิต้องมาดูซุปเปอร์ไวเซอร์คนอื่น ๆ
ที่เงินเดือนต่ำกว่านาย B หรือนาย A ด้วยอีกหรือ
?
หวังว่าท่านคงเข้าใจแนวปฏิบัติอย่างที่ผมเล่าให้ฟังมานี้แล้วนะครับ