วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Fundamental Attribution Error : มองว่าความผิดของตัวเองยังน้อยกว่าคนอื่นเสียอีก

            ยังมีคนอีกไม่น้อยนะครับที่ชอบคิดว่า “ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา..ความผิดของเราเท่าเส้นผม”

นี่แหละครับคืออคติที่เราเรียกว่า Fundamental Attribution Error คือจะมองความผิดของตัวเองยังมีน้อยกว่าคนอื่นเสียอีก

เรามักพบเห็นอคติประเภทนี้ได้เสมอตามสื่อต่าง ๆ เช่น เมื่อตำรวจจับเด็กแว๊นได้ พ่อแม่ของเด็กแว๊นก็จะดาหน้ากันออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ลูกฉันเป็นคนดี เขาขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาซื้อของกินที่ร้านสะดวกซื้อตอนตีสาม ทำไมตำรวจมาจับลูกหาว่าเป็นเด็กแว๊น ทำไมไม่ไปจับพวกลักวิ่งชิงปล้นล่ะ พวกนั้นผิดมากกว่าลูกฉันตั้งเยอะ....”

หรือถ้าอคติตัวนี้เป็นเรื่องเป็นระดับชาติเรามักพบเห็นพวกนักการเมืองบางคนที่ให้สัมภาษณ์ว่า “มาหาว่าพวกเราบริหารงานผิดพลาด แต่ตอนที่พวกคุณเป็นรัฐบาลพวกคุณบริหารผิดพลาดมากกว่าเราเสียอีก....”

หรือ

“มาหาว่ารัฐบาลทุจริต ตอนที่พวกคุณ (ฝ่ายค้าน) เป็นรัฐบาล คุณก็ทุจริตกันมากมายยิ่งกว่านี้อีก....”

ชัดไหมครับ ?

ที่เป็นอย่างงี้ก็เพราะหลักจิตวิทยาที่ว่าถ้าเราจะต้องมาคิดว่าเราทำอะไรผิดพลาดบ้าง ความผิดพลาดนั้นทำให้เกิดความเสียหายมากหรือน้อยแค่ไหน ฯลฯ เราก็จะหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเราเองได้สารพัดด้วยกลไกการปกป้องตัวเอง (Self Mechanism) ที่มีอยู่ในตัวทุกคน

ลองคิดดูสิครับว่ายิ่งถ้าคนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารมี Fundamental Attribution Error สูงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น....

-          เวลานัดประชุมทีมงาน หัวหน้ามาสายก็จะบอกว่าหัวหน้าคนอื่นเขามาสายมากกว่าพี่ซะอีก

-          CEO เปรยในที่ประชุมผู้บริหารว่า “มาหาว่าบริษัทเราหลีกเลี่ยงภาษี ทีบริษัทอื่นเขาหลบภาษีกันมากกว่าบริษัทเราตั้งเยอะ....”

-          มาหาว่าพี่ขึ้นเงินเดือนให้ไม่ยุติธรรม ตัวคุณเองล่ะทุ่มเททำงานให้บริษัทมากพอแล้วหรือ

-          ฯลฯ

ดังนั้นคนที่มีอคติแบบนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหากับคนรอบข้างได้เพราะวิธีคิดแบบนี้แหละครับ