วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Bandwagon Effect : การคิดและทำตามคนหมู่มากจะได้ไม่ตกกระแสนิยมไม่ล้าหลัง

           ถ้าใครเคยไปเที่ยวกับบริษัททัวร์ในต่างประเทศมักจะพบเห็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง กล่าวคือเมื่อไกด์ปล่อยให้ลูกทัวร์ไปช้อปปิ้ง จะพบว่าเมื่อลูกทัวร์ส่วนใหญ่ไปซื้อของที่ระลึกชิ้นเดียวกันหลาย ๆ คน

ลูกทัวร์คนไหนที่ยังไม่ได้ซื้อของที่ระลึกแบบเดียวกันพอเห็นของที่ระลึกชิ้นนี้เข้าก็จะต้องถามว่าไปซื้อกันมาจากที่ไหน แล้วก็จะต้องขวนขวายไปหาซื้อของที่ระลึกชิ้นนั้นมาจะได้เหมือนกับเพื่อนร่วมทัวร์ส่วนใหญ่

แบบนี้แหละครับคือตัวอย่างของ Bandwagon Effect

คนเรามักตกหลุมพรางของ Bandwagon Effect นี้ไม่ยาก เพราะมันเป็นการตัดสินใจที่ใช้เวลาน้อยมาก ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่เห็นคนส่วนใหญ่ทำอะไรเราก็ทำตาม ๆ คนหมู่มากไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าตามแห่เขาไป ง่ายดี แถมยังรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันอีกต่างหาก

ทั้ง ๆ ที่การตาม ๆ กันไปหรือตามแห่แบบนี้ไม่ได้หมายความว่าความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่จะถูกต้องเสมอไปนะครับ

หลายครั้งจะพบว่าความคิดของคนส่วนใหญ่เป็นความคิดที่ผิดพลาดและเกิดความเสียหายตามมาในภายหลังก็มีให้เห็นไม่น้อย

ตัวอย่างที่เห็นเช่นการซื้อหุ้นแบบตามแห่กันตลาดหลักทรัพย์ พอมีการปล่อยข่าวว่าคนส่วนใหญ่กำลังซื้อหุ้น AAAA ก็จะมีคนที่เป็นแมลงเม่าซื้อหุ้น AAAA ตามแห่เพราะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ซื้อคงจะได้กำไรดีแหง ๆ

แล้วในที่สุดก็ติดดอยและขาดทุนต้อง Cut lost ในที่สุด !

คนที่เป็นผู้บริหารเป็นหัวหน้าจึงต้องเท่าทันอคติตัวนี้ให้ดี ๆ ต้องมีการหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ  และคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลก่อนที่จะตัดสินใจให้ดี ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจตามคนส่วนใหญ่โดยไปสรุปว่าส่วนใหญ่ทำแบบนี้เราก็ทำตามเขาไปก็แล้วกัน

ถ้าเป็นอย่างงี้ก็มีหวังต้องไปตามแก้ปัญหาที่อาจจะหนักขึ้นในอนาคตแหละครับ

ก็เลยขอปิดท้ายเรื่องของอคติว่า....

“การแก้ปัญหาอคติจะยังทำไม่ได้ ตราบใดที่คนยังไม่ยอมรับว่าตัวเองยังมีอคติอยู่”

จริงไหมครับ ?