วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

บริษัทจะบังคับให้พนักงานฉีดวัคซีน..ถ้าไม่ฉีดจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

             เป็นที่ทราบกันว่าภายในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีการระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่กันขนานใหญ่ เราก็จะได้เห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ ว่ามีทั้งคุณหมอและคนที่ได้รับวัคซีนต่างก็ออกมาพูดถึงอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนว่า บางคนก็มีอาการเยอะ บางคนก็แทบไม่มีอาการอะไรเลย

            สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดอีกไม่น้อยที่พออ่านการรีวิวอาการข้างเคียงจากสารพัดสื่อก็อาจจะวิตกกังวล เพราะแต่ละคนก็จะมีสุขภาพที่แตกต่างกันไป บางคนก็กลัวว่าเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วจะเกิดปัญหาอย่างงั้นอย่างงี้ ฯลฯ

            ก็เลยเป็นที่มาของเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้ไงครับ

            เพราะผมเริ่มเห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ก็จะมีท่านผู้รู้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า....

ถ้าบริษัทมีนโยบายที่ต้องการจะให้พนักงาน “ทุกคน” ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แล้วถ้าพนักงานคนไหนไม่ร่วมมือไม่ยอมฉีด

บริษัทก็สามารถเลิกจ้างพนักงานคนนั้นได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยอ้างว่าพนักงานฝ่าฝืนมาตรา 119 ข้อ 4 คือฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนแล้ว (กรณีร้ายแรงไม่ต้องตักเตือน) เพราะบริษัทถือว่าถ้าพนักงานไม่ให้ความร่วมมือฉีดวัคซีนก็อาจจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหายได้

ถ้าจะถามว่าผมคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้?

ตอบได้อย่างนี้ครับ

1.      เรื่องนี้ย่อมต้องมีคนที่คิดเห็นออกเป็น 2 แนวทางอยู่แล้ว คือพวกหนึ่งจะบอกว่าถ้าพนักงานไม่ร่วมมือฉีดวัคซีนบริษัทสามารถเลิกจ้างได้เลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กับอีกพวกหนึ่งจะบอกว่าเลิกจ้างได้แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานด้วยเพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าถ้าพนักงานฝ่าฝืนจะเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงกับบริษัท

2.      คนที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้และทุกฝ่ายต้องยอมรับคือ “ศาลแรงงาน” ครับ ไม่ใช่ความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นก็ต้องเกิดการปฏิบัติจริงตามข้อ 1 แล้วเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นมานั่นแหละเราถึงจะทราบบรรทัดฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

3.      แต่เนื่องจากผมเป็น HR ที่ชอบใช้วิธีสื่อสารพูดคุยกันด้วยแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกันก่อน (คือใช้การพูดคุยด้วยภาษาแบบพี่แบบน้องแบบเพื่อนร่วมงานแทนการพูดกันด้วยภาษากฎหมายน่ะครับ) ผมก็จะทำแบบนี้ครับ

3.1   พนักงานที่ร่วมมือฉีดวัคซีน ซึ่งผมเชื่อว่าพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของบริษัทกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาต้องแก้ กลุ่มนี้จบครับ

3.2   พนักงานที่ไม่ร่วมมือฉีดวัคซีนโดยมีปัญหาสุขภาพ กลุ่มนี้ผมก็เชื่ออีกว่าน่าจะมีน้อยถึงน้อยมาก ๆ ก็ต้องคุยกันแบบ Case by case ว่าใครมีปัญหาอะไรทำไมถึงไม่อยากฉีดวัคซีน แล้วค่อยมาดูว่าเหตุผลของใคร Make sense มากน้อยแค่ไหน ถ้าคุยแล้วเห็นว่าพนักงานที่ไม่ฉีดวัคซีนมีปัญหาสุขภาพส่วนตัวจริง ๆ และสมเหตุสมผล อันนี้ก็ต้องมาหาวิธีจัดการที่เหมาะสมกันต่อไปซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่เล็กมากหรืออาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้

4.      พนักงานที่ไม่ร่วมมือโดยไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่อยากฉีดเพราะกลัวโน่นกลัวนี่ (อ่านสื่อมากจนเป็นวัคซีนโฟเบีย) ก็ต้องหาคนที่เขาเคารพนับถือหรือคนที่เขาเชื่อฟังมาคุยกับเขา เช่น HR ลองไปคุยกันครอบครัวญาติพี่น้องคนที่เขานับถือให้มาช่วยพูดโน้มน้าวให้เขาฉีดวัคซีนเพื่อสุขภาพของเขาและส่วนรวมในบริษัท หรือบางคนอาจจะกำลังรอวัคซีนในดวงใจไม่อยากได้วัคซีนที่รัฐจัดให้ ฯลฯ ซึ่งผมเชื่อว่าก็น่าจะจบได้ด้วยดี แต่ถ้ายังไม่ยอมร่วมมือโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ก็ต้องบอกเขาว่าตัวเขาเองอาจจะมีปัญหาในการทำงานร่วมกับทีมงาน หรือการไม่ร่วมมือนี้อาจมีผลกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี การจ่ายโบนัส ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทว่าจะเห็นสมควรจากเบาไปหาหนักโดยจัดการเป็น Case by case

5.      ไม่ควรใช้วิธีการตั้งธงแบบเหมารวมเอาไว้แล้วออกประกาศทำนองว่าถ้าพนักงานคนไหนไม่ให้ความร่วมมือฉีดวัคซีน บริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยโดยอ้างข้อกฎหมาย เพราะการทำแบบนี้จะทำให้เกิดการต่อต้านจากพนักงานทั้งคนที่อยากฉีดวัคซีนและคนที่ไม่อยากฉีด เนื่องจากพนักงานจะเห็นว่าทำไมต้องมาบังคับกันด้วย เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถ้าเขาเป็นอะไรไปแล้วใครจะรับผิดชอบ ฯลฯ มีหวังเกิดดราม่ามหากาพย์เรื่องยาว พูดง่าย ๆ คือไม่ควรเอาปัญหาของคนกลุ่มเล็ก ๆ มาแก้ แล้วไปมีผลกระทบกับคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีปัญหาครับ

อ่านที่ผมแชร์ไอเดียมาทั้งหมดนี้แล้วก็อยู่ที่ท่านผู้อ่านแล้วล่ะครับว่าจะตัดสินใจยังไง และควรจะต้องใช้หลักกาลามสูตรประกอบการคิดแก้ปัญหานี้ดูเพื่อให้ได้ทางแก้ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรของท่าน

แล้วเราจะผ่านเรื่องเหล่านี้ไปด้วยกัน เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

                                       ..............................