วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

ทำหนังสือเลิกจ้างแล้วให้พนักงานเซ็นไม่รับค่าชดเชยได้ไหม

             บริษัทแห่งหนึ่งถามมาว่าเกิดปัญหาหัวหน้ากับลูกน้องไม่ถูกกันทำงานร่วมกันต่อไปไม่ได้ หัวหน้าบอกว่ายังไงก็ไม่เอาลูกน้องคนนี้แล้วเพราะมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่องไม่เชื่อฟังทำงานไม่ดี ฯลฯ

            บริษัทก็เลยเห็นด้วยกับหัวหน้าและจะเลิกจ้างพนักงานคนนี้!

            อันนี้ผมฟังความข้างเดียวจากบริษัทที่ถามเรื่องนี้มานะครับ เพราะผมก็ไม่รู้ว่าลูกน้องมีพฤติกรรมเหล่านั้นจริงหรือไม่ เบื้องลึกเบื้องหลังมีความเป็นมายังไง

            สิ่งที่ถามมาก็คือในหนังสือเลิกจ้างนั้น บริษัทระบุสาเหตุการเลิกจ้างเอาไว้ทำนองเดียวกับที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น แต่ท้ายหนังสือเลิกจ้างมีข้อความทำนองว่าในการเลิกจ้างนี้บริษัทจะไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้นและให้พนักงานสัญญาว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจากทางบริษัท

          ถามว่าถ้าพนักงานไปฟ้องร้องบริษัทในภายหลังเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าได้หรือไม่?

          บางท่านอาจจะบอกว่าฟ้องไม่ได้หรอกเพราะพนักงานเซ็นชื่อสละสิทธิไม่ติดใจเอาความแล้วนี่

            แถมคนที่บอกอย่างงี้กับ HR คือกรรมการผู้จัดการด้วยนะครับ

            คำตอบคือ..พนักงานยังมีสิทธิไปฟ้องและบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายอีกด้วยครับ

            ลองดูคำพิพากษาศาลฎีกานี้สิครับ

            ฎ.5952/2550 “..การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารสละสิทธิเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจึงย่อมมีผลเป็นการสละเงินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีในส่วนนี้มาฟ้อง

            สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถือเป็นเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อสละสิทธิไว้โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องจากจำเลยได้อีก หากได้ความว่าการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย....

            พูดง่าย ๆ คือเรื่องของ “ค่าเสียหาย” ไม่ได้มีอยู่ในมาตราใดในกฎหมายแรงงานที่บอกว่านายจ้างจะต้องจ่าย ถ้าหากลูกจ้างเซ็นชื่อสละสิทธิจะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็จะมีผลตามสัญญานั้น

            แต่ “ค่าชดเชย” (อยู่ในมาตรา 118) และ “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” (อยู่ในมาตรา 17) นั้น เป็นสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่ระบุเอาไว้ในกฎหมายแรงงาน

แม้ลูกจ้างจะเซ็นชื่อสละสิทธิจะไม่ฟ้องร้องก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นเงินที่ลูกจ้างจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานดังนั้นลูกจ้างจึงยังมีสิทธิฟ้องร้องให้นายจ้างจ่ายให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานครับ

ตรงนี้แหละครับที่ผมอยากจะบอกว่ายังมีผู้บริหารหรือเถ้าแก่อีกไม่น้อยคิดว่าบริษัทของฉันจะออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับหรือจะทำสัญญาใด ๆ ให้พนักงานเซ็นก็ได้ และถ้าพนักงานเซ็นชื่อแล้วจะมาฟ้องร้องอะไรไม่ได้

อันนี้ยังเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ

สิ่งที่ผู้บริหารควรทำความเข้าใจเสียใหม่ก็คือสัญญา คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับใด ๆ ของนายจ้างจะใช้ได้ต่อเมื่อไม่ขัดกฎหมายแรงงาน ถ้าสัญญา คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับใด ๆ นั้นผิดกฎหมายแรงงานก็ถือเป็นโมฆะครับ

หวังว่าท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจประเด็นนี้ตรงกันและมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับการทำสัญญา ประกาศ คำสั่ง หรือข้อบังคับใด ๆ ต่อไป

อ้อ..แล้วอย่าลืมเอาบทความนี้ไปให้ผู้บริหารในบริษัทของท่านอ่านด้วยนะครับ

 

…………………………