วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พนักงานเรียนจบแล้วต้องปรับเงินเดือนให้หรือไม่?

             วันดีเข้าทำงานกับบริษัทในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการตั้งแต่ปวส. เงินเดือน 12,000 บาท วันดีเรียนต่อภาคค่ำจนจบปริญญาตรีใช้เวลา 2 ปี (เรียนต่อตั้งแต่เริ่มทำงานปีแรก) แถม 2 ปีที่ผ่านมา วันดีก็เป็นพนักงานชั้นเยี่ยมมีผลงานดีเยี่ยมมีผลการประเมินเกรด A มาโดยตลอด 

             ปัจจุบันวันดีได้รับเงินเดือน 14,000 บาท ปัจจุบันบริษัทรับพนักงานจบปริญญาตรีอัตราเริ่มต้น 15,000 บาท วันดีมาบอกกับท่านว่าขอให้บริษัทปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาทเพราะจบปริญญาตรีแล้ว 

           ถ้าไม่ปรับให้ก็จะขอลาออก!!

            ปัญหาข้างต้นนี้เป็นปัญหาที่มักเจอกันบ่อย ๆ เลยใช่ไหมครับ

            แล้วองค์กรของท่านแก้ปัญหานี้ยังไงกันบ้างล่ะ?

            บางบริษัทก็อาจจะโอเคปรับให้เพราะพนักงานอุตส่าห์ร่ำเรียนต่อเพิ่มเติมจนนำใบปริญญาบัตรมาอวดได้ก็ปรับให้เขาหน่อยก็แล้วกัน

            บางบริษัทก็มีเงื่อนไขว่าจะปรับให้ถ้าคุณวุฒิที่จบเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ เช่น เข้ามาทำงานกับบริษัทเป็นเจ้าหน้าที่การเงินครั้งแรกจบ ปวส. แต่เรียนต่อภาคค่ำจนจบปริญญาตรีด้านการเงินอย่างนี้ล่ะก็ปรับให้ แต่ถ้าจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ก็ถือว่าไม่ตรงก็เลยไม่ปรับให้

            แต่พอเจ้าหน้าที่การเงินคนเดียวกันนี้ย้ายไปอยู่ฝ่ายธุรการก็เริ่มร้องขอให้ปรับคุณวุฒิใหม่อีกเพราะบอกว่าจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับงานด้านธุรการเหมือนกัน ฯลฯ

          ปัญหาในเรื่องนี้ผมว่าเราคงต้องย้อนกลับมาดูที่ต้นทางกันเสียก่อนนะครับว่า สาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นจากอะไร ?

            เริ่มจาก JD เป็นไงครับ....

            ผมมักจะพบว่า JD ของบริษัทเหล่านี้มักจะระบุคุณวุฒิไว้แบบกว้าง ๆ ว่า “ปวส.-ปริญญาตรี”

          นี่แหละครับต้นเหตุของปัญหานี้!

            เพราะตอนสรรหาคัดเลือกผู้สมัครงานในบางช่วงอาจจะหาคนที่จบปริญญาตรีไม่ได้ หรือผู้สมัครที่จบปริญญาตรีไม่เตะตาโดนใจกรรมการสัมภาษณ์เท่ากับผู้สมัครที่จบปวส. บริษัทก็เลยเลือกรับผู้สมัครที่จบปวส.เข้ามาทำงาน  แล้วเมื่อเขาทำงานไปสักปีสองปีและเรียนต่อไปด้วยก็เกิดปัญหานี้ในที่สุด

          วิธีป้องกันปัญหานี้ ผมเสนอให้ท่านปรับปรุง JD ให้ชัดเจนนะครับว่าตกลงแล้วองค์กรของท่านต้องการคนจบคุณวุฒิอะไรกันแน่แล้วก็รับให้ตรงตามวุฒินั้น ๆ เช่นต้องการคนจบปวส.เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ ก็รับมาตามวุฒิที่เงินเดือน 12,000 บาท (ตามตัวอย่างข้างต้น)

แม้จะมีผู้สมัครงานที่จบปริญญาตรีมาสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าวและยอมรับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 บาท บริษัทก็ไม่ควรจะรับเข้าทำงานเพราะศัพท์เทคนิคเขาเรียกว่า “Over Qualify” หรือคุณสมบัติสูงกว่าตำแหน่งงานที่ต้องการ

สำหรับกรณีของวันดีก็ต้องตั้งคำถามว่า “การที่วันดีทำงานดีมีฝีมือจนได้รับการประเมินผลงานเกรด A มาสองปีซ้อนน่ะ เกิดจากการที่วันดีเรียนต่อจนจบปริญญาตรีหรือไม่?”

หรือตั้งคำถามใหม่ว่า “คุณวุฒิปริญญาตรีที่วันดีเรียนจบมาน่ะ มีผลกับการทำงานหรือไม่?”

ก็คงต้องตอบว่า “ไม่ใช่”

เพราะถึงแม้วันดีไม่ได้เรียนจนจบปริญญาตรี เธอก็เป็นคนทำงานดีมีผลงานมีฝีมืออยู่แล้วด้วยความสามารถของตัวเธอเองจริงไหมครับ

ไม่ใช่ว่าพอเรียนปริญญาตรีจบแล้วจะทำให้ผลงานดีขึ้นทันใดเสียเมื่อไหร่กันล่ะ

ถ้าผู้บริหารเห็นว่าวันดีเป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูง เป็น Talent ก็ควรจะต้องปรับเงินเดือนให้วันดีเป็นกรณีพิเศษเพื่อรักษาคนที่เป็น Talent เอาไว้ก่อนที่วันดีจะเรียนจบเสียด้วยซ้ำ เพื่อลดโอกาสที่วันดีจะไปสมัครงานที่อื่นหรือถูกคู่แข่งดึงตัวไป

แต่กรณีนี้เมื่อบริษัทไม่ได้ปรับเงินเดือนตามผลงานเพื่อรักษาวันดีเอาไว้ แล้ววันดีมาเรียนจบก็พบว่าเงินเดือนยังต่ำกว่าอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิของคนเพิ่งจบใหม่ บริษัทก็อาจจะต้องมาพิจารณาปรับเงินเดือนให้กับวันดีตามผลงานที่ดีเยี่ยม แต่ก็คงจะต้องเป็นการปรับหลังจากนี้ไปอีกสัก 3-4 เดือนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการปรับเนื่องจากวันดีเพิ่งจบปริญญาตรี แต่เป็นการปรับตามผลงานที่ดีเยี่ยมเป็นหลัก

          และสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ!

            นั่นคือบริษัทต้องไปแก้ไขคุณสมบัติด้านคุณวุฒิของตำแหน่งงานที่ต้องการคนจบใหม่ (ไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน) โดยให้ระบุคุณวุฒิที่ชัดเจนไปเพียงตัวเดียวไม่ควรกำหนดคุณวุฒิแบบเปิดกว้างอีก จะได้ไม่ต้องมีดราม่าแบบนี้เป็นรายต่อไปครับ


                                                                    ..........................................