ผมเห็นมีการตั้งกระทู้ทำนองนี้ขึ้นมาในโลกออนไลน์ก็เลยอยากจะนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยชี้ให้เห็นมุมมองของทั้งฝั่งผู้สมัครงานและฝั่งบริษัทอย่างนี้ครับ
ถ้ามองจากฝั่งผู้สมัครงานแล้วผมก็เชื่อว่าส่วนมากคงจะไม่เห็นด้วยเพราะเหตุผลหลัก
ๆ คือรู้สึกว่าตนเองถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว
นี่ขนาดยังไม่เข้ามาทำงานบริษัทยังไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลเลย ถ้าเข้ามาทำงานบริษัทจะละเมิดสิทธิอื่น
ๆ อีกหรือเปล่า
ถ้ามองจากฝั่งของบริษัทล่ะ
ในการสรรหาคัดเลือกคนนั้นบริษัทมีต้นทุนในการหาคนตั้งแต่การลงประกาศรับสมัครงาน,
การทดสอบข้อเขียน, สัมภาษณ์, การรับเข้ามาทดลองงาน, การจัดปฐมนิเทศ,
ฝึกอบรมในระหว่างการทดลองงาน ฯลฯ
ถ้าหากบริษัทได้คนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมบริษัทก็จะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการหาคนใหม่เข้ามาแทน
นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ได้คนไม่เหมาะสมด้านทัศนคติเข้ามาทำงานแล้วเข้ามาก่อกระแสสร้างความวุ่นวายในหมู่พนักงานที่เป็นความเสียหายแบบแอบแฝงอีกล่ะ
เนื่องจากไม่มีระบบการคัดเลือกใดที่จะสามารถยืนยันคุณสมบัติหรือทัศนคติวิธีคิดของผู้สมัครได้เต็มร้อยหรอกครับ
แต่ในยุคออนไลน์ปัจจุบันบริษัทก็จะสามารถตรวจสอบพฤติกรรม, ทัศนคติ, ความคิดเห็น, Lifestyle, ความชอบ-ไม่ชอบ ฯลฯ ของผู้สมัครได้จากเฟซบุ๊กซึ่งเป็นข้อมูลเชิงสถิติสะสมได้ชัดเจนมากขึ้น
จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการขอเช็คเฟซบุ๊กของผู้สมัครงานเพื่อยืนยันความมั่นใจว่าผู้สมัครงานมีคุณลักษณะที่เหมาะกับบริษัทจริงหรือไม่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
ถ้าจะถามว่าบริษัทมีสิทธิขอดูเฟซบุ๊กของผู้สมัครได้ไหม
ก็ตอบว่าบริษัทขอดูได้
ส่วนผู้สมัครจะให้ดูหรือไม่ก็เป็นสิทธิของผู้สมัครครับ
ขึ้นอยู่กับผู้สมัครเองว่าอยากจะให้บริษัทดูหรือเปล่าล่ะ?
ถ้าผู้สมัครแน่ใจว่าพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของตัวเองไม่เคยมีปัญหาทำนองนี้เช่น
ไม่เคยโพสแสดงทัศนคติที่แย่ ๆ, ไม่เคยโพสดูถูกเหยียดใคร หรือไปด่าคนอื่นแบบรุนแรงแบบไม่มีเหตุผล,
โพสระบายความในใจด่าหัวหน้าคนเดิมด่าบริษัทเก่าที่เคยทำงานมา,
โพสเรื่องอกหักรักคุดด่าแฟนเก่า, เพื่อนไม่ให้ยืมเงินก็เอามาโพส ฯลฯ
อย่างนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการหยิบโทรศัพท์ของเราให้บริษัทดูเฟซบุ๊กนะครับ
แต่ถ้าบริษัทขอ
Password
ของเฟซบุ๊กนี่ผมไม่เห็นด้วยนะครับ
เพราะได้ยินว่ามีบางบริษัทถึงกับขอ Password นี่ผมว่าเสียมารยาทมากและไม่ควรทำอย่างยิ่ง
หรือบางบริษัทจะขอ Add Friend กับผู้สมัคร อันนี้ผมก็ว่าไม่เหมาะครับ มากไปเยอะไป
เพราะเขาเป็นเพียงผู้สมัครยังไม่รู้ว่าจะรับเข้าทำงานหรือไม่
แต่ไปขอ Password
ขอ Add Friend นี่เพื่อ..?
แต่พูดก็พูดเถอะผู้สมัครหลายคนก็อาจจะเตรียมตัวมาดีคือมีเฟซบุ๊กหลายบัญชีโดยสร้างบัญชีสำหรับเอาไว้โชว์ตอนสมัครงานเพราะถ้าถูกขอดูก็จะได้ได้ดูเฟซฯที่สร้างภาพดี
ๆ เอาไว้แล้ว และมีเฟซบุ๊กเฉพาะกลุ่มเพื่อนสนิทกันไว้ต่างหากซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้บริษัทก็อาจจะไม่ได้ข้อมูลอะไรจากเฟซบุ๊กของผู้สมัครมากนักหรอกครับ
ดังนั้นการขอดูเฟซบุ๊กจากผู้สมัครจึงอาจไม่ได้ผลนักถ้าเจอแบบนี้
ประเด็นจึงกลับมาตรงที่การให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้สมัครงานของแต่ละบริษัทมีมากน้อยแค่ไหน
คนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์เห็นความสำคัญของการสัมภาษณ์และเข้าใจบทความหน้าที่ของตนเองที่จะต้องหาคนที่
“ใช่” แล้วหรือยัง รู้ไหมว่าเราต้องเป็นตัวแทนในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทให้ผู้สมัครงานเกิดความเชื่อถือมั่นใจ
และบริษัทเคยให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการสัมภาษณ์,
การอ่านผู้สมัครบ้างหรือเปล่า
หรือคิดว่าคนที่มีตำแหน่งยิ่งสูงยิ่งสัมภาษณ์ได้ดีตามตำแหน่งเสมอ
ยังไงก็ต้องคัดเลือกคนที่ใช่ได้แน่นอน?
หรือคิดว่าการสัมภาษณ์เป็นแค่เพียงการพูดคุยแบบถามไป-ตอบมา
ยังใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ “จิตสัมผัส” หรือ Unstructured Interview ยังขาดทักษะการอ่านคน
หรือยังมีอคติประเภท HALO Effect คือชอบคิดนโนเชื่อมโยงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเช่น
คนจบเกรดเฉลี่ย 2.0 เป็นคนไม่รับผิดชอบในการเรียน
เมื่อมาทำงานก็จะไม่รับผิดชอบไปด้วย หรือคนที่จบจากสถาบันดัง ๆ
ถึงจะเป็นคนทำงานเก่ง คิดว่าฉันเป็นกรรมการสัมภาษณ์ฉันมีอำนาจจะรับหรือไม่รับใครก็ได้
ผู้สมัครคือคนที่มาพึ่งพาอาศัยใบบุญเพื่อขอทำงานกับบริษัทฉันจะพูดจายังไงผู้สมัครต้องยอมรับฉันให้ได้
ฯลฯ
ถ้ากรรมการสัมภาษณ์ยังขาดทักษะการสัมภาษณ์และมีวิธีคิดอย่างที่บอกมานี้
การขอดูเฟซบุ๊กผู้สมัครงานก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทคัดเลือกคนที่ใช่เข้ามาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่หรอกจริงไหมครับ
………………………………
ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก