วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ลาพักร้อนกระทันหันแบบหักคอหัวหน้า..ควรทำไงดี?


มีคำถามเข้ามาว่า “บริษัทมีระเบียบว่าการลาพักร้อนต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน ลูกน้องมายื่นใบลาพักร้อนวันนี้พร้อมทั้งเอาตั๋วเครื่องบินและโปรแกรมทัวร์มาบอกว่าซื้อตั๋วเครื่องบินและโปรแกรมทัวร์ไว้แล้วมะรืนนี้จะขอลาพักร้อนไปเที่ยวต่างประเทศ 8 วัน (สมมุติลูกน้องมีสิทธิลาพักร้อนเหลืออยู่ 10 วัน) หัวหน้าควรทำยังไงดี?”

ถ้าท่านเป็นหัวหน้าที่มีลูกน้องทำงานดี ทำงานรับผิดชอบ เอาการเอางาน ไม่เกเรก็นับว่าท่านเป็นหัวหน้าที่ทำบุญมาดีคนหนึ่งเลยนะครับ

แต่ก็มีหัวหน้าที่ชาติก่อนอาจจะทำบุญ (หรือทำกรรม) มาร่วมกับลูกน้องที่เกเรไม่รับผิดชอบ คอยแต่จะอู้งานก็เลยมาเจอลูกน้องที่พฤติกรรมมีปัญหามากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป

ปัญหามีไว้ให้เราแก้ไขครับไม่ได้มีเอาไว้ให้เซ็งหรือให้ท้อ มีปัญหาก็ต้องแก้กันไป

ก่อนที่หัวหน้าจะตัดสินใจแก้ปัญหาข้างต้น ผมมีข้อคิดสำหรับหัวหน้า 4 ทางเลือกใหญ่ ๆ อย่างนี้ครับ

1.      กรณีหัวหน้าอนุญาตให้ลูกน้องลาพักร้อน ลูกน้องก็ได้หยุดพักร้อนไปเที่ยวตามที่ต้องการและเป็นการใช้วันลาพักร้อนตามสิทธิที่มีอยู่ ข้อควรคิดสำหรับหัวหน้าคือ

1.1   งานที่ลูกน้องคนนี้รับผิดชอบอยู่จะมีปัญหาหรือไม่ จะมีใครทำแทนได้ทันทีหรือไม่ ถ้ามีงานด่วนที่ลูกน้องคนนี้รับผิดชอบอยู่เข้ามาในระหว่างที่เขาลาพักร้อนจะทำยังไง

1.2   ต่อไปถ้าลูกน้องคนอื่นจะใช้หลัก Me too โดยทำแบบเดียวกันนี้บ้างล่ะ หัวหน้าจะต้องอนุมัติให้ลาพักร้อนได้แบบเดียวกับรายนี้หรือไม่

2.      กรณีหัวหน้าไม่อนุญาตให้ลาพักร้อน โดยบอกว่าลูกน้องไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลาพักร้อนคือต้องยื่นใบลาพักร้อนล่วงหน้า 5 วันและต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุญาตเสียก่อน การลาพักร้อนกระทันหันแบบนี้จะมีปัญหากับงานที่ลูกน้องคนนี้ต้องรับผิดชอบ จึงไม่อนุญาตให้ลาพักร้อน หรือในวันที่ลูกน้องขอลาพักร้อนเป็นช่วงที่งานด่วนเข้ามาซึ่งลูกน้องคนนี้จำเป็นจะต้องอยู่ทำงานด่วนนี้  ข้อคิดสำหรับหัวหน้าในเรื่องนี้คือ

2.1   ลูกน้องจะเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าทัวร์ ถ้าไม่สามารถเคลมเงินคืนได้ แต่จะเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องคนอื่นไม่ทำแบบนี้อีก

2.2   ลูกน้องจะมองว่าหัวหน้าใจร้าย เจ้าระเบียบ ไม่เห็นใจลูกน้องที่ต้องเสียเงินแบบสูญเปล่า

3.      ถ้าหัวหน้าไม่อนุญาตให้ลูกน้องคนนี้ลาพักร้อนแล้ววันรุ่งขึ้นลูกน้องคนนี้ยังฝ่าฝืนหยุดไปเที่ยว 8 วัน บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานคนนี้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะเป็นการละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันนี้หมายถึงถ้าบริษัทต้องการจะเล่นงานทางวินัยขั้นแรงสุดนะครับ ถ้าขั้นเบาลงมาก็คือการออกหนังสือตักเตือน

4.      กรณีถ้าหัวหน้าจะอนุโลมโดยอนุญาตให้ลูกน้องคนนี้ลาพักร้อนเฉพาะในครั้งนี้ และแจ้งกับลูกน้องคนนี้และทุกคนในทีมงานว่าจะไม่ให้ใครทำแบบนี้อีก ถ้าใครทำแบบนี้อีกจะไม่อนุญาตให้พักร้อนเพราะถือว่าเป็นการทำผิดกฎระเบียบของบริษัท ซึ่งกรณีนี้หัวหน้าควรจะต้องทำหนังสือตักเตือนลูกน้องคนนี้ในเรื่องการลาพักร้อนที่ผิดระเบียบของบริษัทซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางวินัยเพื่อไม่ให้ลูกน้องคนอื่นทำตามอย่าง

แล้วหัวหน้าที่อ่านมาถึงตรงนี้ล่ะครับ..ท่านจะตัดสินใจยังไงในกรณีนี้ เลือกได้เลยครับ

..................................
ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก