ตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราก็ได้รับผลกระทบจากหลาย ๆ
เรื่องเลยนะครับตั้งแต่สงครามการค้าอเมริกา-จีนมาจนถึงเรื่อง Covid-19 หลายบริษัทที่ยืนระยะไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการกันไป
ส่วนบริษัทที่ยังอยู่ก็เริ่มมีการขอความร่วมมือจากพนักงานให้ลดเงินเดือนลงเพื่อให้บริษัทอยู่รอด
ซึ่งการขอความร่วมมือพนักงานให้ลดเงินเดือนลงแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยเรามีวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี
2540-42 ดูไปแล้วก็เหมือนกับปรากฎการณ์ Déjà vu ยังไงก็ไม่รู้นะครับ
ตอบคำถามข้างต้นให้เข้าใจง่าย
ๆ ได้อย่างนี้ครับ
1.
พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือนายจ้างจะลดค่าจ้างของลูกจ้างโดยไม่ได้ครับถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม
เพราะถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง
แต่ถ้าลูกจ้างคนไหนยินยอมก็ทำได้โดยทำสัญญาระบุว่าลูกจ้างยินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงเท่าไหร่กี่บาทกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไปแล้วให้ลูกจ้างเซ็นชื่อยินยอม
ใครเซ็นสัญญานี้ก็จะมีผลใช้บังคับกับคนที่เซ็นแต่ถ้าใครไม่เซ็นก็ไม่มีผลกับคนที่ไม่เซ็น
2.
การเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนของลูกจ้างต้องไม่ลดจนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนะครับ
3.
อาจมีคำถามว่าถ้าลูกจ้างคนไหนไม่ยอมเซ็นลดเงินเดือนล่ะบริษัทจะทำยังไง
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายบริหารแล้วล่ะครับ มาตรการหนักสุดบริษัทก็อาจจะแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนแล้วก็จ่ายค่าชดเชย+ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย
4.
แล้วลูกจ้างที่เซ็นยินยอมลดเงินเดือนล่ะจะลดไปถึงเมื่อไหร่
อันนี้ก็คงแล้วแต่ทางบริษัทแหละครับว่าจะกำหนดให้การลดเงินเดือนเพื่อให้บริษัทอยู่รอดมีผลไปอีกกี่เดือนหรือกี่ปี
ซึ่งจากที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติเมื่อปี 2540-42 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้นกลับมา
ก็มีบางบริษัทเหมือนกันที่ปรับเงินเดือนขึ้นเพื่อชดเชยให้กับพนักงานที่ร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันปัญหากันมา
แต่อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายของฝ่ายบริหารแต่ละบริษัทนะครับ
5.
ถ้าบริษัทให้เราเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนลงแล้ว
ต่อมาอีก 3
เดือน 6 เดือนมาแจ้งเลิกจ้างเราล่ะ
เราจะได้รับค่าชดเชยยังไง ก็ตอบได้ว่าตามกฎหมายแรงงานก็ให้ใช้
“ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครับ เช่น
ถ้าเรารับได้เงินเดือน 20,000 บาท
แล้วเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนเหลือ 18,000 บาท ต่อมาอีก 3
เดือนบริษัทแจ้งเลิกจ้างเรา บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายคือ
18,000 บาทในการคำนวณค่าชดเชยจ่ายตามมาตรา 118
6.
แต่ถ้าสมมุติว่าเพื่อนเราเงินเดือนปัจจุบัน 20,000 บาท (เหมือนกับเรา) และไม่ยอมเซ็นยินยอมลดเงินเดือนลง
ถ้าบริษัทเลิกจ้างเพื่อนเราก็จะใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายคือ 20,000 บาทในการคำนวณการจ่ายค่าชดเชยครับ
7.
จากตัวอย่างในข้อ 5 และข้อ
6 จึงต้องควรดูพฤติกรรมของฝ่ายบริหารที่อดีตที่ผ่านมาว่าเขาจะมีความน่าเชื่อถือและมีแนวโน้มเลิกจ้างเราหลังจากเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนหรือไม่
เขามีความจริงใจและมีเจตนาที่จะให้ช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอดจริงหรือไม่ เพราะผมก็เคยเจอบางบริษัทที่ผู้บริหารใช้เทคนิคขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือนลงเพื่อลดงบประมาณการจ่ายค่าชดเชย
พอพนักงานเซ็นยินยอมลดเงินเดือนลง อีกไม่กี่เดือนก็ Layoff พนักงานออก ดังนั้นก่อนจะเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองจึงต้องประเมินความจริงใจของฝ่ายบริหารและคิดให้ดี
ๆ ครับ
8.
กรณีถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมก็ยังมีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมหรือไม่เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกด้วยครับ
การดำเนินการในเรื่องนี้จึงต้องมีการพูดจากันแบบพี่แบบน้องด้วยความจริงใจ
โปร่งใส ตรงไปตรงมา ใช้หลัก “ใจเขา-ใจเรา” จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเกิดความไว้วางใจ
หรือแม้แต่การจากกันด้วยดีในกรณีที่ต้องปิดกิจการโดยไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาลกันให้วุ่นวายภายหลังนะครับ
…………………………