วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พนักงานเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะจ่ายค่าน้ำมันยังไงดี?


            ผมเคยเขียนเรื่องของการให้สวัสดิการค่าน้ำมันกับพนักงานไปแล้วว่าฝ่ายบริหารควรมี “หลักเกณฑ์” ให้ชัดเจนว่าค่าน้ำมันนั้นต้องการจะให้เป็น “สวัสดิการ” หรือเป็น “รายได้เสริม” ให้กับพนักงานกันแน่

            ถ้ามีวัตถุประสงค์จะให้เป็นสวัสดิการจริง ๆ ก็ควรจะใช้วิธีทำ Fleet Card ให้พนักงานไปเลย หรือให้พนักงานนำใบเสร็จมาเบิกตามสิทธิจะดีกว่าการนำค่าน้ำมันเข้าไปใน Payroll เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถือเป็นเงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย, ค่าน้ำมันได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะถูกหักภาษี, พนักงานไม่อยากจะใช้เงินนี้เพื่อประโยชน์ของบริษัทเพราะจะทำให้ตัวเองเสียรายได้ไป

            หรือแม้แต่สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น “ค่าจ้าง” ที่จะต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวฯ, เงินสมทบประกันสังคม

            เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมไปพูดเรื่องเกี่ยวกับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็ได้รับคำถามมาว่า....

          “เดิมบริษัทให้ค่าน้ำมันกับพนักงานเดือนละ 10,000 บาท โดยให้พนักงานนำใบเสร็จมาให้บริษัททุกสิ้นเดือน แต่ตอนนี้พนักงานซื้อรถใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะจ่ายค่าน้ำมันให้พนักงานคนนี้ยังไงดี?

          และถ้าบริษัทไม่จ่ายค่าน้ำมันพนักงานจะรู้สึกว่าขาดรายได้ไปเดือนละ 10,000 บาทหรือไม่?”

            น่าคิดนะครับ

            ผมเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจและอาจจะเป็นข้อคิดสำหรับ HR ที่ดูแลเรื่องสวัสดิการนี้ในอนาคต (หรืออาจจะมีบางบริษัทเจอกรณีเดียวกันนี้บ้างแล้วก็ได้) ก็เลยนำมาแชร์ไอเดียกันอย่างนี้ครับ

1.      HR ควรขอข้อมูลจากบริษัทรถยนต์ว่ารถไฟฟ้ารุ่นที่พนักงานซื้อนั้น ถ้าชาร์ตไฟเต็มแบตจะวิ่งได้กี่กิโลเมตร (โดยเฉลี่ย) แล้วต้องใช้ไฟฟ้าไปประมาณกี่หน่วย ค่าไฟฟ้าหน่วยละเท่าไหร่ และถ้าต้องชาร์ตกับสถานที่สาธารณะจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาคำนวณได้ว่าในหนึ่งเดือนจะใช้ไฟฟ้ากี่หน่วยคิดเป็นเงินกี่บาท

2.      สิ่งสำคัญคือ “ข้อมูล” HR จำเป็นจะต้องหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์เพื่อนำเสนอ ไม่ควรคิดแบบมโนแล้วกำหนดตัวเลขค่าไฟฟ้าขึ้นมาลอย ๆ นะครับ

3.      HR ต้องเขียนระเบียบสวัสดิการค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยอ้างถึงระเบียบสวัสดิการเดิมที่บริษัทเคยให้เป็นสวัสดิการค่าน้ำมันโดยให้พนักงานนำใบเสร็จมาเบิก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปบริษัทจึงมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสวัสดิการค่าน้ำมันเพิ่มเติมสำหรับพนักงานที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยให้พนักงานที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับสวัสดิการใหม่นี้เดือนละกี่บาทก็ว่ากันไป

4.      ส่วนคำถามที่ว่าถ้าพนักงานเคยได้รับค่าน้ำมันเดือนละ 10,000 บาท แต่พอเปลี่ยนมาเป็นได้รับค่าไฟฟ้า (สำหรับชาร์ตแบตเตอรี่รถยนต์) น้อยลงกว่าเดิม เช่น สมมุติได้รับค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,000 บาท พนักงานจะรู้สึกว่ามีรายได้น้อยลงหรือไม่ ตรงนี้บริษัทก็ต้องอธิบายให้พนักงานทราบว่าค่าน้ำมันเป็น “สวัสดิการ” ไม่ใช่ “รายได้เสริม” เมื่อพนักงานเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้วมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์น้อยลงก็ย่อมได้รับสวัสดิการตามจริง

5.      ในข้อ 4 ก็คงจะเกิดปัญหาสำหรับบริษัทที่ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ว่าค่าน้ำมันคือ “สวัสดิการ” แต่ไปทำให้ค่าน้ำมันเป็น “รายได้” ซึ่งมักจะนำค่าน้ำมันเข้า Payroll ทุกเดือนจนกลายเป็นรายได้เสริมของพนักงานไปแล้ว นี่คือปัญหาของการใช้ “หลักกู” ไม่ใช้ “หลักเกณฑ์” ของผู้บริหารในบางองค์กร คือมีหลักเกณฑ์แต่ไม่ใช้พอใช้หลักกูมาก ๆ เข้าก็เริ่มเป๋และอธิบายเหตุผลกับพนักงานไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาปวดหัวตามมาให้แก้ไขต่อไปเรื่อย ๆ ตามหลักปฏิจสมุปบาทแหละครับ จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อหลัก(เกณฑ์)ต้องแม่นเสียก่อนครับ

            เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้มีเท่านี้ก่อนนะครับ แต่ถ้าใครมีไอเดียอะไรดี ๆ ก็แลกเปลี่ยนมาได้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนอ่านที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยนะครับ

.....................................