วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

จะหาคนนอกหรือคนในมารับตำแหน่งดี?


            เรื่องหนึ่งที่มักจะทำให้ผู้บริหารต้องคิดให้ดีเมื่อมีตำแหน่งว่างคือ..บริษัทควรจะหาคนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น หรือจะหาคนในมาทำงานในตำแหน่งที่ว่างดีกว่ากัน

            และเรื่องจริงที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ คือผู้บริหารมักจะคิดว่าคนในไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งที่ว่างนั้นได้เพราะ....

            มือไม่ถึง, ความสามารถยังไม่เพียงพอ, ผลงานที่ผ่านมายังไม่เข้าตา, คิดว่าทำไม่ได้, ไม่ชอบบุคลิกภาพของคนในคนนั้น ฯลฯ 

             แล้วแต่จะสรรหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตัวเอง

            หลายครั้งที่เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากการที่ผู้บริหารทำงานกับคนในมานานจนเห็นข้อดีข้อเสียของคนในบริษัท ซึ่งผู้บริหารเองก็ต้องยอมรับว่าการมองข้อดีข้อเสียของคนในนั้นหลีกเลี่ยง “อคติ” ไม่ได้เช่นเดียวกัน

            โดยเฉพาะอคติที่มองแต่ด้านลบและไม่มองด้านบวกของคนใน!!

            ทำให้ในที่สุดก็บอกว่า “คนในไม่สามารถจะทำงานในตำแหน่งที่ว่างนั้นได้” ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยคิดวางแผนพัฒนาคนในให้เติบโตเลยด้วยซ้ำ!!

            แล้วก็จะยกแต่เรื่องด้านลบของคนในมาอธิบายการตัดสินใจของตัวเอง

            และก็จะไปมองหา “คนนอก” เข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นแทนคนใน

            คำถามง่าย ๆ คือ....

            ผู้บริหารจะมีกระบวนการในการ “คัดเลือก” คนนอกแบบไหนที่จะหาคนนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งที่ว่างนั้นได้จริง ๆ

            ถ้าบริษัทนั้น ๆ มีกระบวนการคัดเลือกที่มีการทดสอบการปฏิบัติ หรือบริษัทมีการสัมภาษณ์โดยใช้ Structured Interview มีเป้าหมายและมีเกณฑ์ในการตัดสินใจที่สามารถแยกแยะคุณสมบัติและความเหมาะสมกับตำแหน่งของผู้สมัครแต่ละรายอย่างชัดเจนก็อาจจะได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะกับตำแหน่งมาได้จริง

            แต่มีสถิติบอกไว้ว่า....

          “การรับคนนอกเข้ามาทำงานนั้นโอกาสที่เขาจะอยู่กับเราได้จะมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และ 2 ใน 3 จะลาออกภายใน 3 ปีแรก”

            เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับองค์กร, เพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า, ลูกน้อง, วัฒนธรรมองค์กร, สภาพการทำงาน และ ฯลฯ

            ยิ่งคนนอกที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาด้วยวิธีการ “จิตสัมผัส” หรือ Unstructured Interview ยิ่งลาออกไปในอัตราส่วนที่มากกว่าที่ผมบอกมาข้างต้นเสียอีก

            แถมสัจธรรมอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ “เงินเดือน” ครับ

            บริษัทมักตั้งเงินเดือนคนนอกสูงกว่าคนใน (ในตำแหน่งเดียวกัน) เสียอีก ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะตลาดค่าจ้างค่าตอบแทนภายนอกบริษัทมักโตกว่าเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีของบริษัท (เรื่องนี้ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า” ลองไป Search คนนี้ในกูเกิ้ลอ่านดูนะครับ)

            ผลก็คือบริษัทได้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่นาน (แถมต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าคนใน) แล้วคนนอกนั้นก็ลาออกไป ทำให้คนในเสียความรู้สึกและหมดใจกับบริษัทแล้วก็เริ่มไปหางานใหม่แล้วก็ลาออกไปในที่สุด

          จะเรียกว่าผู้บริหารตัดสินใจแบบ “เสียในเสีย” หรือเสียซ้ำเสียซ้อนก็ว่าได้

            ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ก็อยากจะให้ฝ่ายบริหารของบริษัทเปิดใจและลดอคติลงสักนิดจะดีไหมครับ

            ลองมองหาข้อดีของคนในก่อนที่จะตัดสินใจรับคนนอกเข้ามา แล้วดูว่าคนในยังมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาจุดอ่อน (ถ้ามี) ได้หรือไม่ แล้ววางแผนหาทางพัฒนาจุดอ่อนนั้นโดยมีการ Feedback ให้คนในได้รับทราบว่าตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง และบริษัทต้องการจะพัฒนาจุดอ่อนนั้นเมื่อไหร่ยังไง มีแผนการพัฒนายังไง ทำเป็น IDP (Individual Development Plan) และมีการติดตามผลให้ชัดเจน

            จะได้ไม่ต้องมาทั้งเสียเวลาหาคนใหม่แบบซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพราะเข้ามาไม่นานแล้วลาออก หรือเสียคนในที่หมดใจกับบริษัทไปทุกวัน แล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครทำงานทั้งตำแหน่งที่ว่างอยู่และตำแหน่งที่คนในลาออกไป

            ดูตัวอย่างแบบประเมินศักยภาพคนในและ IDP ตามนี้โดยท่านอาจจะนำตัวอย่างนี้ไปปรับปรุงหัวข้อต่าง ๆ ให้เหมาะกับบริษัทของท่านได้นะครับ และผมแนะนำเพิ่มเติมว่าการประเมินศักยภาพคนในตามตัวอย่างนี้ควรทำในรูปคณะกรรมการแล้วนำผลมาปรึกษาหารือกัน ไม่ควรประเมินโดยตัว MD เพียงคนเดียวเพราะจะทำให้เกิดอคติได้เหมือนเดิมครับ


            หวังว่าทั้งหมดข้างต้นคงจะทำให้ผู้บริหารได้ข้อคิดและเกิดไอเดียที่จะปรับปรุงแก้ไข Mindset สำหรับเปิดใจพิจารณาคนในบ้างแล้วนะครับ

………………………………