คติแบบนี้ยังมีอยู่นะครับ คือคิดว่าคนที่ทำงานแล้วกลับบ้านดึกคือคนทุ่มเทให้กับงาน
จริงหรือครับ
?
หัวหน้างานหลายคนก็มักจะนำเรื่องนี้มาเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาช่วงขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสให้กับลูกน้องเสียด้วยสิ
หลักคิดก็ไม่ซับซ้อนอะไรมาก
ใครกลับดึกคนนั้นอุทิศตัวให้กับงาน ใครกลับเร็วก็แสดงว่าคน ๆ นั้นไม่สู้งาน
ไม่ขยัน ไม่ทุ่มเทให้กับงาน!!
หัวหน้าหลายคนที่มีความคิดทำนองนี้ก็เลยมักจะเรียกลูกน้องประชุมช่วงใกล้
ๆ จะเลิกงานอยู่เป็นประจำแล้วก็ประชุมลากยาวไปจนค่ำ ๆ โดยไม่ได้มีเนื้อหาสาระมรรคผลอะไรจากการประชุม
ใครเคยเจอหัวหน้างานแบบนี้บ้างไหมครับ ?
ส่วนลูกน้องที่
“ทำงานเป็น” รู้ว่าหัวหน้าชอบคนกลับดึก ๆ ก็มักจะดึงเช็งในช่วงเวลางาน
คือในชั่วโมงทำงานก็ทำแบบเนียน ๆ เรื่อย ๆ จะได้มีอะไรเอาไว้ทำตอนหลังเลิกงาน
บางคนก็อาจจะคิดว่ากลับค่ำ ๆ ดึก ๆ หน่อยก็ดี รถจะได้ไม่ติดมาก ก็นั่งไถ Facebook ไถไลน์ไปตอนที่หัวหน้าไม่ได้เดินมาตรวจงาน
พอหัวหน้าเดินมาก็ทำเป็นเอางานขึ้นมาทำ
ฯลฯ ก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน
เรามาลองดูอีกมุมหนึ่งไหมครับว่า
การมีค่านิยมให้ลูกน้องกลับบ้านดึก ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น บริษัทจะเกิดความเสียหายอะไรบ้าง
1.
ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าโทรศัพท์ ที่บริษัทต้องจ่าย
เพราะการที่พนักงานอยู่หลังเวลางานหน่วยงานนั้น ๆ ยังต้องเปิดไฟแสงสว่าง,
เปิดแอร์, พนักงานยังต้องไปเข้าห้องน้ำใช้น้ำใช้กระดาษทิชชู่,
ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร, เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์(แต่อาจเล่น Facebook เล่นไลน์ส่วนตัว), โทรศัพท์คุยกับคนที่บ้าน
ฯลฯ ลองให้ฝ่ายบัญชีเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ของแต่ละฝ่ายหลังเวลางานดูสิครับว่าเดือนละกี่บาท
ปีละกี่บาท
2.
พนักงานที่คุณภาพชีวิตที่แย่ลง “Work life balance” ที่ต้องเสียไป
กว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกแล้ว หลายคนมีครอบครัวต้องดูแล การพักผ่อนน้อย
ไม่ได้ออกกำลังกายทำให้เสียสุขภาพในระยะยาวบริษัทก็อาจจะมีคนขี้โรคเพิ่มมากขึ้นค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นจากการไม่สมดุลชีวิตกับการทำงาน
คนนะครับไม่ใช่เครื่องจักร (ขนาดเครื่องจักรยังต้องมีการพักซ่อมบำรุงเลย)
ต้องมีการพักผ่อนให้เหมาะสมด้วย ไม่ใช่โหมงานดึกทุกวันทุกเดือนตลอดทั้งปีและหลายปีติดต่อกัน
3.
จากผลกระทบข้อ 3 พนักงานบางคนก็มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว
เช่น ภรรยาจะคอยซักถามว่าทำไมสามีกลับบ้านดึกมีกิ๊กหรือเปล่าแล้วก็ทะเลาะกัน หรือ
ลูกไม่มีใครดูแลทำให้เป็นเด็กติดเกม, ติดยา ฯลฯ
ซึ่งปัญหาครอบครัวเหล่านี้หลายครั้งก็จะกลับมาเป็นปัญหาในเรื่องงาน เพราะเมื่อพนักงานเครียดเรื่องครอบครัวก็เลยทำให้เซ็ง
เบื่อ ไม่อยากทำงานไปเลยก็มี
4.
พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงที่รับแนวคิดทำนองนี้ไม่ได้ก็จะมองว่าหัวหน้าเป็นพวกบริหารเวลาไม่ดี
ค่านิยมโบราณ โลกแคบ ฯลฯ ก็เลยลาออกไปอยู่ที่อื่นดีกว่า
บริษัทก็จะต้องเสียเวลามาสัมภาษณ์หาคนมาแทนกันอีก ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการหาคนมาทดแทน
แถมเมื่อได้คนมาแทนแล้วอีกไม่นานก็มีแนวโน้มจะทำให้พนักงานใหม่ลาออกอีกเช่นเคยเพราะรับค่านิยมแบบนี้ไม่ได้
ที่ผมพูดมาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้ท่านทำงานกันไปวัน
ๆ โดยคอยจ้องนาฬิกาว่าพอถึงเวลาเลิกงานก็รีบกระโจนไปรูดบัตรออกจากบริษัททันทีนะครับ
!!
เพียงแต่อยากจะให้ข้อคิดว่าใน
8 ชั่วโมงการทำงานต่อวันก็ควรจะทำให้เต็มประสิทธิภาพหรือเต็มที่กับมัน
บริหารเวลาให้ดี ทำงานให้เสร็จสิ้นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือควบคุมดูแลงานของเราให้ดีในแต่ละวัน
และมีเวลาหลังเลิกงานในการสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง, ออกกำลังกายบ้าง, ดูแลสุขภาพบ้าง
ไม่ควรบ้างานให้มากจนเกินไปจนเสียสมดุลในชีวิต
แต่ถ้าช่วงไหนที่มีงานด่วน งานเร่ง งานฉุกเฉินที่ต้องรับผิดชอบ
อาจจะต้องอยู่ดึกดื่นเพื่อเคลียงานด่วนเหล่านั้น
อย่างนี้ก็ยังพอรับได้เพราะเป็นงานที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งคงไม่ใช่การทำงานเกินเวลาแบบเป็นประจำทุกวัน
ๆ ละเกิน 12 ชั่วโมงไปอย่างนี้ตลอดทั้งปี และติดต่อกันหลายปี
ก็คงมาสรุปกันตรงที่หลักพระพุทธองค์ที่ท่านเคยสอนไว้ก็คือการเดินสายกลาง
ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งน่ะ น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดครับ
……………………………….