วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ลากิจระหว่างทดลองงานจะไม่ได้รับเงินเดือน..อย่างงี้ก็ได้เหรอ?


            คำถามนี้มาจากพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงานยังอยู่ในช่วงทดลองงานแล้วจะลากิจเพื่อไปรับปริญญา ซึ่งในข้อบังคับการทำงานของบริษัทก็บอกว่าพนักงานที่มีสิทธิลากิจและได้รับเงินเดือนจะต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วเท่านั้น

          ถ้าหากยังอยู่ในช่วงทดลองงานพนักงานจะไม่ได้รับเงินเดือนในวันที่ลากิจ!!

            เรียกว่าพนักงานเข้าใหม่เสียความรู้สึกเล็ก ๆ ก็ว่าได้และถามมาว่าอย่างงี้บริษัททำผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่?

            ผมก็เลยขอนำเอาพรบ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 ที่พูดถึงการลากิจเอาไว้มาให้ดูอย่างนี้ครับ

          มาตรา ๓๔  ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

            ตามมาตรานี้บอกไว้ว่าลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้แต่ไม่ได้บอกไว้ว่าพนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละกี่วัน ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะเขียนข้อบังคับการทำงานโดยมีเงื่อนไขของการลากิจเอาไว้ยังไง

            ตรงนี้แหละครับบางบริษัทก็ให้พนักงานมีสิทธิลากิจโดยได้รับเงินเดือนในวันที่อนุญาตให้ลากิจโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นพนักงานประจำหรือพนักงานทดลองงาน

            แต่บางบริษัทก็ไปเขียนข้อบังคับการทำงานแบบแยกประเภทโดยระบุว่าถ้าพนักงานยังทดลองงานอยู่ก็มีสิทธิลากิจได้โดยบริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนในวันที่อนุญาตให้ลากิจ แต่ถ้าบรรจุเป็นพนักงานประจำแล้วบริษัทถึงจะจ่ายเงินเดือนให้ในวันที่อนุญาตให้ลากิจ

          ถ้าจะถามว่าบริษัทเขียนข้อบังคับอย่างนี้ผิดกฎหมายแรงงานไหม ก็ตอบได้ว่าไม่ผิดครับ

            แต่ถ้าจะถามว่าควรจะเขียนข้อบังคับแบ่งแยกประเภทระหว่างทดลองงานกับพนักงานประจำไหม?

            เอิ่ม....ลองอ่านต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ….

            แล้วต่อมาก็มีพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 7 พศ.2562 ฉบับล่าสุดก็ให้ยกเลิกมาตรา 34 ข้างต้นและให้ใช้ข้อความนี้แทนคือ

          “มาตรา ๓๔ ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน”

            ตามมาตรา 34 ที่แก้ไขใหม่นี้ก็คือถ้าบริษัทไหนเคยเขียนข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการลากิจเอาไว้แบบกว้าง ๆ ไม่ระบุให้ชัดว่าพนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละกี่วัน (เขียนตามมาตรา 34 เดิม) ก็ต้องแก้ไขใหม่โดยต้องระบุเอาไว้ว่าพนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละ 3 วัน (หรือมากกว่าขึ้นไป)

            แต่ถ้าบริษัทไหนระบุในข้อคับการทำงาน (เดิม) ที่ให้พนักงานมีสิทธิลากิจได้มากกว่าปีละ 3 วัน (ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายใหม่กำหนดอยู่แล้ว) ก็ไม่ต้องไปแก้ไขข้อบังคับการทำงานครับ

            คราวนี้พอพูดถึงเงื่อนไขการลากิจผมก็เลยอยากจะเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังสักหน่อยเผื่อจะทำให้ผู้บริหารองค์กรได้ข้อคิดบางอย่างในเรื่องนี้

1.      เมื่อพูดถึงการลากิจก็ควรจะเป็นการลาเพื่อกิจธุระที่จำเป็นที่พนักงานจะต้องไปทำด้วยตัวเอง ไม่
สามารถมอบหมายให้คนอื่นไปทำแทนได้ เช่น ลากิจเพื่อไปซื้อขายโอนที่ดินที่ไม่สามารถจะมอบอำนาจให้คนอื่นไปทำแทนได้, การลากิจเพื่อไปรับปริญญาบัตร, การลากิจเพื่อไปดูแลพยาบาลบิดามารดา คู่สมรส บุตรที่ป่วยมาก ๆ และไม่มีคนดูแล เป็นต้น

2.      หัวหน้าจึงควรพิจารณาอนุญาตให้ลูกน้องลากิจตามข้อเท็จจริงในการลา เพราะหลายครั้งผมจะพบว่าหัวหน้าอนุญาตให้ลูกน้องลากิจทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าลูกน้องลากิจเพื่อไปเที่ยว ไม่ได้ลาไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นตามความหมายของการลากิจ

            หัวหน้าจึงควรจะต้องรู้ว่าลูกน้องลากิจจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงก็ไม่ควรอนุญาต ไม่อย่างงั้นจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังเพราะลูกน้องคนอื่นก็จะขอ Me too เอาอย่างตามกัน ทำให้พนักงานเกิดการรับรู้และบอกต่อ ๆ กันว่าการลากิจคือการได้สิทธิลาพักร้อนเพิ่มขึ้น

3.      จริงอยู่ว่าบริษัทสามารถเขียนข้อบังคับการทำงานโดยระบุว่าถ้ายังเป็นพนักงานทดลองงานแล้วขอลากิจ (ซึ่งเป็นกิจธุระที่จำเป็นจริง ๆ เช่นการลาไปรับปริญญา) แล้วบริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนให้ในวันที่ลากิจนั้น

            แต่....ผมก็อยากให้ผู้บริหารลองคิดแบบ “ใจเขา-ใจเรา” ดูสักนิดจะดีไหมครับว่าพนักงานที่เขาขอลากิจเพื่อไปรับปริญญาซึ่งเป็นงานสำคัญหนึ่งในชีวิตของเขา (และครอบครัว) แต่บริษัทกลับไม่จ่ายเงินเดือนในวันที่เขาลากิจเพราะเหตุแค่ยังเป็นพนักงานทดลองงานเขาจะรู้สึกยังไงกับบริษัท ทำไมถึงต้องแบ่งแยกสิทธิแค่เพียงเขายังเป็นพนักงานทดลองงานซึ่งอีกไม่นานก็จะถูกบรรจุเป็นพนักงานประจำ

            ผมว่าพนักงานทดลองงานส่วนใหญ่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำต่อไป (อาจจะมีส่วนน้อยมากที่ทำงานไม่ดี เกเร ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ) ยิ่งในยุคที่เราต้องการจะรักษาคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรให้นานที่สุด อยากให้เขารักและผูกพันองค์กรแต่พอเขาเข้ามาทดลองงานก็เจอข้อบังคับการทำงานแบบนี้มันจะคุ้มกันหรือไม่กับการไม่จ่ายเงินเดือนในวันที่ลากิจเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่จะต้องหาคนใหม่เมื่อพนักงานใหม่ลาออกนี่ยังไม่รวมต้นทุนในเรื่องการพัฒนาสอนงานในระหว่างทดลองงาน

          บริษัทกำลังเอาเรื่องของคนส่วนน้อยมาก ๆ ที่ไม่ผ่านทดลองงานมาทำให้พนักงานเข้าใหม่ที่ทำงานดีส่วนมากเกิดความรู้สึกเชิงลบกับฝ่ายบริหารหรือเปล่า และคุ้มกันไหมกับการคิดเรื่องหยุมหยิมเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้?

          บริษัทจะมี Staff Cost เพิ่มขึ้นมากมายเลยหรือถ้าจะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทดลองงานที่มีความจำเป็นจะต้องลากิจ เช่น ลาไปรับปริญญา?

            เมื่อแลกกับความรู้สึกและจิตใจของพนักงานทดลองงานที่ต่อไปจะเป็นพนักงานประจำในอนาคตอันใกล้และอาจจะเป็นคนสำคัญของบริษัทในระยะยาว?

          ตกลงเราจะพูดกันด้วยภาษากฎหมายเป็นหลักแทนการพูดด้วยภาษาของพี่ น้อง เพื่อนหรือ?

            คติของผมในการบริหารคนก็คือ “ถ้าบริษัทคิดเล็กคิดน้อยกับพนักงาน..พนักงานก็จะคิดเล็กคิดน้อยกลับคืน”

          ถ้าฝ่ายบริหารเริ่มต้นมองพนักงานด้วยมุมลบแล้วจะให้พนักงานมองฝ่ายบริหารในมุมบวกได้ยังไง?

            ฝากไว้ให้คิดดูนะครับ

            แต่ถ้าบริษัทไหนอ่านเรื่องนี้แล้วยังอยากจะเขียนข้อบังคับการลากิจแบบแบ่งแยกอยู่ก็เอาที่สบายใจนะครับ

……………………………..