วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

จะทำโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่ต้องประเมินค่างานได้หรือไม่?


โดยหลักการแล้วก่อนที่จะทำโครงสร้างเงินเดือนนั้น ควรจะ....

1.      ต้องทำการประเมินค่างาน (Job Evaluation-JE) เพื่อแยกแยะความสำคัญของ “ตำแหน่งงาน” (ย้ำว่าการประเมินค่างานเป็นการประเมินความสำคัญของตำแหน่งงานนะครับ ไม่ใช่การประเมินความสำคัญของตัวบุคคลเพราะจะสับสนในเรื่องนี้กันเยอะมากเวลาทำจริง) ต่าง ๆ ให้ชัดเจนว่าตำแหน่งใดจะมีค่างาน (Job Value) อยู่ในกลุ่มงานใดหรืออยู่ในระดับชั้นใด


2.      นำผลจากการประเมินค่างานที่แบ่งเป็นระดับชั้นต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกันในตลาดแรงงาน หรือที่เรียกว่าทำ “Job Matching”


3.      ออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ โดยนำข้อมูลจากข้อ 2 มาออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่เหมาะสมกับองค์กรของเราต่อไป


นี่เป็นขั้นตอนที่อธิบายภาพรวมแบบง่าย ๆ ให้ท่านที่ยังไม่เคยทำงานด้านนี้ได้เข้าใจในเบื้องต้นนะครับ

คราวนี้แหละครับถึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า "ถ้าหากบริษัทยังไม่เคยมีการประเมินค่างานมาก่อน บริษัทจะทำโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่ต้องมีการประเมินค่างานได้หรือไม่?" โดยบริษัทจะใช้ระดับชั้นและตำแหน่งงานเดิมของบริษัทในปัจจุบันจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาทำการประเมินค่างานกันอีก

ผมก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าบริษัทยังจำเป็นจะต้องประเมินค่างานใหม่ด้วยเหตุผลดังนี้คือ

1. การแบ่งระดับชั้นหรือตำแหน่งต่าง ๆ ของบริษัทที่ยังไม่เคยทำการประเมินค่างานมาก่อนนั้น มักจะเป็นการกำหนดระดับชั้นและตำแหน่งมาจาก "ความรู้สึก" ของผู้บริหารของบริษัทมาแต่ดั้งเดิมโดยไม่เคยมีวิธีการประเมินค่างานแบบที่เป็นมาตรฐานก็จะไม่สามารถอธิบายข้อข้องใจให้กับพนักงานได้ เช่น ตำแหน่งวิศวกรอาวุโสกับ Senior Programmer อะไรสำคัญกว่ากัน หรือตำแหน่งหัวหน้าแผนกกับผู้จัดการแผนก ตำแหน่งไหนใหญ่หรือเล็กกว่ากัน แล้วเราควรจะมีกรอบการจ่ายในตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังไง เป็นต้น

ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างใช้ “ความรู้สึก” เช่นนี้แล้วก็จะถกเถียงกันไม่รู้จบ ถ้าไม่มีการประเมินค่างานอย่างเป็นมาตรฐานแล้ว ใครจะมาตอบได้ล่ะครับว่าตำแหน่งงานไหนสำคัญกว่าตำแหน่งงานไหนและควรจ่ายยังไง

จะให้ MD/CEO มาบอกด้วยความรู้สึกเพียงคนเดียวก็คงจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรอกจริงไหมครับ?

2. จากเหตุผลที่ผมอธิบายไปในข้อ 1 จึงจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินค่างานโดยใช้หลัก Point Rating หรือการประเมินค่างานโดยการพิจารณาปัจจัยและให้คะแนนในแต่ละตำแหน่งตามความสำคัญที่ชัดเจนโดยมีคณะกรรมการประเมินค่างานเป็นผู้ประเมิน

3. แล้วเราก็นำตำแหน่งงานในแต่ละระดับชั้นไปเทียบกับผลการสำรวจของตลาดแรงงานว่าเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาออกแบบโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทต่อไป

จากเหตุผลที่ผมอธิบายมาทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำตอบว่า

การทำโครงสร้างเงินเดือนนั้นจำเป็นจะต้องมีการประเมินค่างานอย่างเป็นมาตรฐานเสียก่อนครับ

ส่วนวิธีการประเมินค่างานในรายละเอียดท่านก็หาอ่านได้จากหนังสือ "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)" ที่ผมเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ด้านขวามือของบล็อกนี้

แต่ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วยังมีข้อสงสัยจะมาเข้าคอร์สเพื่อให้เข้าในรายละเอียดมากขึ้น และสามารถลงมือออกแบบโครงสร้างเงินเดือนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผมจะบอกวิธีการบริหารจัดการเมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้ว พร้อมทั้งตอบข้อซักถามทุกคำถามแบบไม่กั๊ก จากประสบการณ์ของคนที่เคยทำงานด้าน Com & Ben มากว่า 30 ปี ซึ่งผมก็จะไปสอนเป็น Public Training ให้กับทาง Nation Group วันที่ 5-6 มิถุนายน 2562 นี้

รับไม่เกิน 20 คน ติดต่อได้ที่ 02-338-3705-7 หรือ 086-313-1903

แล้วพบกันนะครับ

.................................