วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

ปัญหาในการประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้อง..ควรทำยังไง?


            ก่อนที่หัวหน้าจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกน้องตอนปลายปี ในตอนต้นปีหัวหน้าเคยทำแบบนี้บ้างไหมครับ

1.      รู้งานของลูกน้อง หัวหน้าจะต้องรู้ว่าลูกน้องมีงานและความรับผิดชอบอะไรบ้างโดยการนำ JD (Job Description) ของลูกน้องมาดูเป็นรายบุคคลว่าปัจจุบันคนไหนทำงานอะไร รับผิดชอบงานอะไรบ้าง

2.      กำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการให้ลูกน้องแต่ละคน จากงานในความรับผิดชอบตาม JD หัวหน้านำมากำหนดเป้าหมายในการทำงานของลูกน้องแต่ละคนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ลูกน้องทำงานอะไรบ้างโดยกำหนดงานแต่ละเรื่องให้ชัดเจนว่าต้องการจะให้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร

ข้อควรระวังในการกำหนดเป้าหมาย ก็คือไม่ควรกำหนดเป้าหมายเอาไว้เยอะแยะจนเกินไปหรือมุ่งแต่จะให้มีเป้าหมายเป็นตัวเลขไปเสียหมดทุกเรื่องจนลืมเรื่องของ “สามัญสำนึก” ในการประเมินลูกน้อง เพราะหัวหน้าที่ทำงานอยู่กับลูกน้องอยู่ทุกวันย่อมจะต้องมีสามัญสำนึกได้ว่าลูกน้องคนไหนทำงานได้ดี คนไหนดีแต่คุยหรือคนไหนไม่รับผิดชอบในงาน เมื่อหัวหน้ารู้ว่าใครทำงานดีมากน้อยแค่ไหนย่อมจะตัดสินใจให้คุณให้โทษลูกน้องได้จากสามัญสำนึกนี่แหละครับ 

แต่ถ้าหัวหน้าคนไหนขาดทักษะในเรื่องนี้หรือไม่มีสามัญสำนึกในการอ่านคุณค่าในตัวลูกน้องที่ดี แม้จะมีการกำหนดตัวชี้วัดหรือมีเป้าหมายที่เป็นตัวเลขเอาไว้ยังไงในที่สุดก็จะไม่สามารถรักษาลูกน้องที่เก่ง-ดี-มีฝีมือให้อยู่กับตัวเองได้หรอกครับ

3.      แจ้งเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการให้ลูกน้องทราบ แจ้งให้ลูกน้องทราบตามข้อ 2 เพื่อให้เขารู้ว่าหัวหน้าคาดหวังหรือต้องการให้เขาทำอะไรเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ผลลัพธ์ที่ต้องการตามเป้าหมายในแต่ละเรื่องคืออะไร

4.      สื่อสารสองทางและรับฟังลูกน้อง เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ซักถามทำความเข้าใจเรื่องเป้าหมายและผลลัพธ์รวมถึงกรอบเวลาที่ต้องการให้ลูกน้องทำให้ตรงกัน สิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือทั้งหัวหน้าและลูกน้องควรมีความเข้าใจในเป้าหมายของงานที่จะต้องรับผิดชอบตรงกัน

5.      ติดตามผลการทำงานของลูกน้องเป็นระยะเพื่อดูว่าลูกน้องทำงานได้ผลลัพธ์ในแต่ละเรื่องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ถ้าลูกน้องมีปัญหาในการทำงานหัวหน้าจะต้องเข้าไปช่วยให้คำแนะนำหรือสอนงานลูกน้องตลอดจนช่วยลูกน้องในการคิดแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วย

6.      แจ้งผล (Feedback) การทำงานของลูกน้องเป็นระยะตามเวลาที่เหมาะสม อย่าลืมการชมเชยเมื่อลูกน้องทำได้ดี และให้กำลังใจในจังหวะที่สมควร

7.      ผิดพลาดตำหนิได้แต่อย่าด่า หากลูกน้องทำงานผิดพลาดเกิดความเสียหาย หัวหน้าสามารถว่ากล่าวตักเตือนหรือตำหนิได้และควรหาทางแก้ปัญหาร่วมกับลูกน้องและควรบอกเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ต้องการเห็นให้ลูกน้องเข้าใจตรงกัน สิ่งที่ควรระวังคือไม่ควรใช้อารมณ์หรือการดุด่าว่ากล่าวด้วยอารมณ์โกรธหรือ “ด่า” ลูกน้อง รวมไปถึงการพูดจาแดกดัน เสียดสี ดูหมิ่น ถากถางลูกน้อง หัวหน้าต้องมีสติเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าการตำหนิไม่ใช่การด่าด้วยอารมณ์นะครับ

8.      ประเมินผลการทำงานของลูกน้องตามเป้าหมายของงานที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกตามข้อมูลที่ติดตามผลงานลูกน้องมาตั้งแต่ต้น

9.      แจ้งผลการประเมินให้ลูกน้องรับทราบ และนำผลการปฏิบัติงานของลูกน้องไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ เช่นการขึ้นเงินเดือนประจำปี, จ่ายโบนัส, เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ

            ถ้าหัวหน้ามีวิธีปฏิบัติตามที่บอกมาข้างต้นก็น่าจะช่วยลดปัญหาในการประเมินผลการปฏิบัติงานและการทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องลงได้มาก

            บริษัทไม่ควรประเมินผลการปฏิบัติงานในแบบเดิม ๆ คือมีแบบฟอร์มการประเมินที่มีปัจจัย(หรือหัวข้อ)ในการประเมินแบบกลาง ๆ เช่น ปริมาณงาน, คุณภาพงาน, ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, ความขยัน, ความตรงต่อเวลา, ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ ฯลฯ แล้วให้สรุปผลการประเมินโดยรวม ซึ่งการประเมินผลโดยใช้แบบฟอร์มที่ไม่เกี่ยวกับงานของลูกน้องโดยตรงแบบนี้จะมีปัญหามาโดยตลอด ผมจึงให้ดูตัวอย่างแบบประเมินผลตามที่บอกไปข้างต้นดังนี้ครับ

.......................................