หัวหน้าหลายคนคงเคยเจอกับปัญหาลูกน้องบางคนที่เป็นตัวแสบหรือเป็นมือวางอันดับหนึ่ง
อันดับสอง ฯลฯ ที่ชอบลางานอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เช่น
วันดีคืนดีก็มาขอลาพักร้อนตอนที่มีงานด่วนงานเร่งจะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนนี้,
โทรมาลาป่วยเดือนละอย่างน้อย 2-3 วันโดยบอกว่านอนพักอยู่บ้านไม่ได้ไปหาหมอ,
ลากิจไปช่วยงานบวชเพื่อน, ลาไปดูช่างมาซ่อมท่อประปาที่บ้าน ฯลฯ
เหมือนลูกน้องทำงานประจำให้เป็นงานอดิเรกไซด์ไลน์ยังไงก็ไม่รู้นะครับ
ปัญหาทำนองนี้ผมว่าจะเป็นตัวชี้ภาวะผู้นำในการบริหารจัดการสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าได้เป็นอย่างดีเลยครับ!!
ผมมักพบว่าหัวหน้าบางคนก็จะอนุญาตทุกครั้งที่ลูกน้องมาขอลาโดยไม่เคยดูด้วยซ้ำไปว่าที่ลูกน้องมาลานั้นมีเหตุผล
ข้อเท็จจริงรองรับหรือไม่
หรืออนุญาตให้ลูกน้องลาไปแล้วจะเกิดปัญหาอะไรในงานบ้างหรือไม่ เช่น
-
ลูกน้องมาขอใช้สิทธิลากิจ แต่จริง ๆ
แล้วไปเที่ยวในประเทศบ้างต่างประเทศบ้าง
-
ลูกน้องลาป่วยแต่หัวหน้าก็รู้อยู่ในใจว่าไม่ได้ป่วยจริง
-
ลูกน้องมาขอลาพักร้อนไปต่างประเทศโดยมายื่นใบลาพักร้อนวันนี้พร้อมตั๋วเครื่องบิน
(หรือแพ็กเก็จทัวร์) แบบหักคอหัวหน้าพร้อมทั้งบอกว่าพรุ่งนี้จะต้องออกเดินทางแล้ว
ทั้ง ๆ ที่พรุ่งนี้มีงานด่วนที่ลูกน้องต้องรับผิดชอบทำให้เสร็จ
-
ฯลฯ
ถ้าจะให้ผมพูดรายละเอียดในแต่ละเคสคงเป็นเรื่องยาวและต้องคุยกันยาวเป็นมหากาพย์
แต่อยากจะให้หลักโดยสรุปไว้อย่างงี้ครับ
1.
ทำความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องการลา : หัวหน้าควรมีการประชุมชี้แจงให้ลูกน้องในทีมเข้าใจในหลักการลาว่าหัวหน้าจะเป็นคนพิจารณาการลาของสมาชิกในทีมงานตามข้อมูลข้อเท็จจริง
และจะต้องตรงกับประเภทของการลา เช่น การลาป่วยต้องเป็นการเจ็บป่วยจริง ๆ
จนไม่สามารถมาทำงานได้ หรือการลากิจก็ต้องเป็นความจำเป็นที่จะต้องไปทำกิจธุระด้วยตัวเองจริง
ๆ ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้
เช่นไปขายที่ดินที่ต่างจังหวัดที่จะต้องไปเซ็นโอนและรับเงินจากผู้ซื้อ เป็นต้น
ถ้าเป็นการลาที่ไม่ใช่เรื่องจริง หรือลาผิดประเภท เช่น
ลากิจเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ อย่างนี้จะไม่ได้รับการอนุมัติการลา เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องบอกให้ทุกคนรับทราบและเข้าใจตรงกัน
และที่สำคัญก็คือหัวหน้าจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
ไม่ลาผิดประเภทเสียเอง
2.
ไม่อนุมัติเมื่อมีการลาที่ไม่ถูกต้อง : เมื่อแจ้งให้ทุกคนในทีมทราบแล้วพบว่าลูกน้องคนไหนลาผิดประเภท
หรือแจ้งลาเป็นเท็จ เช่น
ตอนเช้าโทรมาลาป่วยบอกว่าไม่ได้ไปหาหมอแต่นอนพักอยู่ที่หอพัก
แต่พอหัวหน้าไปเยี่ยมตอนเย็นแล้วพบว่าลูกน้องนั่งซดเบียร์อยู่ใต้ถุนหอพัก
อย่างนี้ก็ต้องออกหนังสือตักเตือนเรื่องแจ้งลาป่วยเท็จและไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่แจ้งลาป่วยเท็จ
(No work no pay) ซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัย หัวไม่ควรปล่อยเลยตามเลยเพราะอ้างว่าอนุญาตให้ลาป่วย
(ด้วยวาจาทางโทรศัพท์) ไปแล้วเมื่อตอนเช้า
เพราะกรณีอย่างนี้หัวหน้ายกเลิกการอนุมัติได้ครับเมื่อพบว่าลูกน้องแจ้งป่วยเท็จ ถ้าหัวหน้าปล่อยเลยตามเลยก็จะเกิดลัทธิเอาอย่างแบบ
Me too อย่างงี้ก็วุ่นวายขายปลาช่อนเหมือนเดิม
ตรงนี้คือภาวะผู้นำของหัวหน้าที่จะต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อส่งสัญญาณให้ลูกน้องรู้ว่าฉันไม่ยอมรับการลาแบบนี้อีกต่อไป
3.
อนุมัติเมื่อมีการลาที่ถูกต้อง
: ส่วนลูกน้องที่มีการลาอย่างถูกต้องก็อนุมัติกันไปตามเหตุผลตามข้อเท็จจริง
เช่น
ลูกน้องป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องนอนซมเป็นอาทิตย์ก็ควรจะเห็นอกเห็นใจให้เขาได้พักผ่อนให้หายดีเสียก่อน
ไม่ควรไปพูดจากดดันให้เขารีบกลับมาทำงานแบบแล้งน้ำใจ
หรือลูกน้องขอลากิจเพื่อไปเฝ้าลูกที่ป่วยและแอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาลก็ควรจะอนุมัติให้เขาไปดูแลลูกตามประสาคนเป็นพ่อเป็นแม่
ไม่ใช่ไปบอกว่า “คุณไปเฝ้าก็ไม่มีประโยชน์หรอกเพราะคุณไม่ใช่หมอหรือพยาบาล
หมอพยาบาลเขาทำหน้าที่อยู่แล้วคุณกลับมาทำงานดีกว่า....”
(ผมเคยเจอหัวหน้าทำนองนี้มาแล้ว) ซึ่งหัวหน้าประเภทที่ไม่รู้จักคำว่าใจเขา-ใจเรา แยกแยะไม่ออกว่าอะไรควรหรือไม่ควรแบบนี้คงไม่มีลูกน้องคนไหนที่มีใจอยากจะทำงานอยู่ด้วยหรอกครับ
4.
รู้จักลูกน้อง : หัวหน้างานควรจะต้องมีความใกล้ชิดกับลูกน้องและรู้ว่าลูกน้องคนไหนมีอุปนิสัยใจคอเป็นยังไงกันบ้าง
ใครมีพฤติกรรมยังไง มีความรับผิดชอบ ตั้งใจทำงาน ฯลฯ มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งในเรื่องนี้ผมมักจะพบว่าหัวหน้าอีกไม่น้อยที่ไม่เคย “รู้จัก”
ลูกน้องของตัวเองเลย ไม่เคยกินข้าวกับลูกน้อง ไม่เคยสังสรรค์ร่วมกับลูกน้อง
ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไปว่าลูกน้องแต่ละคนมีพื้นเพเป็นมายังไง ครอบครัวของเขาเป็นยังไงบ้าง
ความรู้สึกนึกคิดเขาเป็นยังไง จะรู้จักลูกน้องเพียงเวลา 8 โมงเช้าถึง
5 โมงเย็นเท่านั้น
พูดมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าหัวหน้าคงจะได้ไอเดียเกี่ยวกับวิธีจัดการเรื่องการลาของลูกน้องไปบ้างแล้วนะครับ
......................................