วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ทำโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้เงินเดือนตันเร็วจริงหรือไม่?


            วันนี้โครงสร้างเงินเดือนก็ยังตกเป็นจำเลยในข้อหาว่าเป็นตัวการทำให้พนักงานเงินเดือนตัน ก็เลยทำให้พนักงานและผู้บริหารหลายคนไม่ชอบโครงสร้างเงินเดือน และมองว่าเป็นผู้ร้ายที่มาสกัดเงินเดือนฉันเอาไว้จึงไม่ควรจะมีโครงสร้างเงินเดือน

            พูดง่าย ๆ ว่าพนักงานและผู้บริหาร (บางคน) จะมองแต่เรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์คือได้รับการขึ้นเงินเดือนไปเรื่อย ๆ ตามอายุงาน ยิ่งอยู่มานานเท่าไหร่ก็ยิ่งควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ 

            ส่วนบริษัทจะมี Staff Cost เพิ่มขึ้นอย่างคุ้มค่าหรือไม่ก็เป็นเรื่องของบริษัทโดยที่ไม่ต้องมาดูว่าตัวเองมีผลงาน, มีความรู้ทักษะในงานและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นและพร้อมจะเติบโตไปบริษัทหรือไม่

            แต่ไม่ว่าพนักงานและผู้บริหารจะมองโครงสร้างเงินเดือนในแง่ลบยังไง ผมก็ยังยืนยันว่าบริษัทยังจำเป็นจะต้องทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้มีหลักหรือมีกติกาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในบริษัทอยู่ดี

          อ้อ..สำหรับบริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนอยู่แล้วก็อย่าลืม Update เมื่อตลาดมีความเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเงินเดือนด้วย

          เพราะโครงสร้างเงินเดือนไม่ใช่ทำแค่ครั้งเดียวแล้วใช้กันยันเหลนบวชนะครับ

            กลับมาพูดกันต่อในเรื่องที่ว่า “ทำโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้เงินเดือนตันเร็วจริงหรือ?

          ก็คงตอบได้ว่า....โครงสร้างเงินเดือนไม่ได้ทำให้เงินเดือนเกินกระบอกหรือตันเร็วอย่างที่มโนกันไปล่วงหน้าหรอกครับ เพราะ....

1.      บริษัทที่ทำโครงสร้างเงินเดือนออกมาแล้วถ้าพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ทุก Job Grade เงินเดือนตันหรือเกินเพดาน (Max) มักจะเกิดจากการที่บริษัทนั้น ๆ จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานแบบ Over Pay หรือมากกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกันโดยเฉลี่ยโดยมักจะพบในบริษัทต่างชาติที่ผมเคยเจอคือบริษัทอเมริกันที่จ่ายสูงกว่าตลาดมาก พอทำโครงสร้างเงินเดือนแล้วถึงได้ทำให้เงินเดือนพนักงานในแทบทุก Job Grade เงินเดือนอยู่ Quartile 4 หรือหลายคนก็เกิน Max

2.      บริษัทไทย ๆ มักมีปัญหาน้อยในเรื่องพนักงานแต่ละ Job Grade จะเงินเดือนตันหรือเกินเพดานเพราะส่วนใหญ่มักจะจ่ายกันที่ประมาณค่าเฉลี่ยตลาดหรือต่ำกว่า

3.      ในบริษัทไทย ๆ อาจพบเรื่องของพนักงานเงินเดือนตันได้บ้าง   ในกรณีที่พนักงานนั้นทำงานมานานมาก ๆ เช่นทำงานกับบริษัทมากว่า 20 ปี ซึ่งทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมคือทำงานได้ตาม Job Description โดยงานที่รับผิดชอบก็ทำได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งให้ก้าวหน้าหรือให้มีความรับผิดชอบอะไรมากไปกว่านี้ได้อีก หรือพูดง่าย ๆ ว่าค่าของงานในตำแหน่งที่พนักงานคนนี้ทำมีอยู่เท่านั้นเอง

4.      กรณีที่พนักงานเก่าแก่ทำงานมานานแล้วเงินเดือนเกินกระบอกหรือเงินเดือนตันตามข้อ 3 ก็ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องของค่างานและความรับผิดชอบ และมีการบริหารจัดการดูแลกันได้หลาย ๆ วิธี แต่ทุกวิธีจะมีหลักการที่ตรงกันคือ..จำเป็นจะต้อง Freeze ฐานเงินเดือนของพนักงานเอาไว้ (ลดเงินเดือนลงไม่ได้นะครับเพราะผิดกฎหมายแรงงาน) เนื่องจากค่าของงาน (Job Value) ในตำแหน่งงานนั้นมีอยู่เท่านั้น และตลาดเขาก็จ่ายเงินเดือนในตำแหน่งนั้น ๆ โดยเฉลี่ยต่ำกว่าที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานเสียอีก คือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานคนนี้ลาออกไปก็จะหางานไม่ได้เพราะไม่มีใครเขาจ่ายแพงขนาดนี้หรอกครับ

5.      ผู้บริหารบางบริษัทมักจะแก้ปัญหาพนักงานที่เงินเดือนเกินกระบอกหรือเงินเดือนตันด้วยการเลื่อนตำแหน่งพนักงานเก่าแก่คนนั้นให้สูงขึ้นไปใน Job Grade ถัดไป ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เพราะจากประสบการณ์มักพบว่าพนักงานที่เงินเดือนเข้า Quartile 4 จะขาดศักยภาพและขาดคุณสมบัติในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง

            หากดันทุรังเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวขึ้นไปก็จะทำให้เกิดปัญหาคือลูกน้องไม่ยอมรับ และตัวคนที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปก็ขาดความสามารถในการทำงานรับผิดชอบในตำแหน่งที่สูงขึ้น หลายครั้งทำให้ลูกน้องมือดีลาออกเพราะรับหัวหน้าที่ขาดศักยภาพไม่ได้ เพราะการมีอายุงานมากเพียงอย่างเดียวกับการทำงานดีมีความสามารถเป็นคนละเรื่องกันครับ

            หรือหลายครั้งก็ต้องลดตำแหน่งพนักงานที่ถูกเลื่อนขึ้นไปให้กลับลงมาอยู่ในกระบอกเดิม (เพราะไม่สามารถรับผิดชอบและทำหน้าที่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้) แถมยังจะต้องมีดราม่าเรื่องการตัดค่าตำแหน่งหรือสวัสดิการในตำแหน่งที่สูงกว่าออก ซึ่งจะมีประเด็นปัญหาในเรื่องกฎหมายแรงงานต่อไปอีกด้วย

            หวังว่าคำตอบข้างต้นคงจะทำให้ผู้บริหารที่กำลังคิดจะทำโครงสร้างเงินเดือนสบายใจขึ้นมาบ้างแล้วนะครับ

……………………………