วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บริษัทมีสิทธิหักเดือนงวดสุดท้ายถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบได้หรือไม่?


            มีคำถามอยู่ว่า “ที่บริษัทมีระเบียบว่าพนักงานที่จะลาออกต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน ถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบดังกล่าวบริษัทจะหักเงินเดือนงวดสุดท้ายเพื่อชดเชยความเสียหาย” ถ้าพนักงานทำผิดกฎระเบียบดังกล่าวบริษัทจะมีสิทธิหักเงินเดือนงวดสุดท้ายไว้ตามระเบียบได้หรือไม่

            ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างนี้นะครับ

            บริษัทแห่งหนึ่งมีกฎระเบียบเหมือนอย่างที่บอกไว้ข้างต้นและมีการจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน มีพนักงานคนหนึ่งยื่นใบลาออกวันที่ 15 มิถุนายน และในใบลาออกระบุว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ผู้บริหารก็บอกว่าถ้าพนักงานคนนี้ไม่ลาออกตามระเบียบ บริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายในเดือนมิถุนายนเพราะถือว่าบริษัทได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าไว้ในระเบียบตั้งแต่ตอนปฐมนิเทศแล้ว พนักงานรับทราบแล้ว

            ซึ่งเหตุผลของการไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายก็คือพนักงานไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน (ในกรณีนี้ยื่นล่วงหน้า 15 วัน) ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายไม่สามารถหาคนมาทำงานทดแทนได้ทันเวลาจึงต้องหักเงินเดือนพนักงานเพื่อชดใช้ความเสียหายนี้ !!

            ถามว่าบริษัททำแบบนี้ได้ไหมครับ....ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก..

            คำตอบคือ....คือ....คือ....

          “บริษัทไม่มีสิทธิไปหักเงินเดือนพนักงานที่ไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบครับ”

            เพราะ....

1.      ตามกฎหมายแรงงานเมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 76 ก็ให้สิทธินายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างไว้ไม่กี่ประเภท (ไปดูรายละเอียดในม.76 เพิ่มเติมนะครับ) ซึ่งแน่นอนว่าในการหักค่าจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบนั้นไม่มีในกฎหมายแรงงานอย่างแน่นอน

2.      ดังนั้นกฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศใด ๆ ของนายจ้างจึงใช้ได้ตราบที่ไม่ขัดกฎหมายแรงงานเท่านั้น ถ้ากฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศใด ๆ ของนายจ้างขัดกฎหมายแรงงานเมื่อไหร่ก็เป็นโฆษะเสมอ ซึ่งในกรณีนี้ระเบียบดังกล่าวขัดกฎหมายแรงงานอย่างชัดเจนครับ

3.      ผมยกตัวอย่างให้ชัดยิ่งกว่านี้คือสมมุติว่าพนักงานยื่นใบลาออกวันที่ 15 มิถุนายน แล้วใส่วันที่มีผลลาออกคือวันที่ 16 มิถุนายนไว้ในใบลาออกเรียกว่ายื่นใบลาออกวันนี้และมีผลลาออกในวันรุ่งขึ้น ขนาดพนักงานทำอย่างนี้ บริษัทก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายคือตั้งแต่วันที่ 1-15 มิถุนายนให้พนักงานคนนี้เลยนะครับ จะไปยึดไว้ไม่จ่ายเงินเดือนให้โดยอ้างว่าพนักงานทำให้บริษัทเกิดความเสียหายไม่ได้ เพราะหลักที่ว่าพนักงานได้ทำงานให้บริษัทมาแล้ว 15 วัน (คือวันที่ 1-15 มิถุนายน) ดังนั้นหลักของกฎหมายแรงงานคือเมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างครับ

4.      จากข้อ 3 บริษัทอาจจะบอกว่าถ้าพนักงานทำอย่างนี้บริษัทเกิดความเสียหายแล้วจะให้บริษัททำยังไง? คำตอบคือบริษัทก็ต้องไปฟ้องศาลแรงงานโดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีไปแสดงให้ศาลท่านเห็นว่าการที่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยลาออกกระทันหันอย่างนี้ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายยังไง คิดเป็นเงินกี่บาทกี่สตางค์เพื่อศาลท่านพิจารณาว่าลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทจริงหรือไม่และถ้าจริงจะต้องชดใช้ให้นายจ้างเท่าไหร่อย่างไร

5.      บางคนอาจจะบอกว่าถ้าทำตามข้อ 4 น่ะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับบริษัทคือบริษัทต้องมอบอำนาจให้กับ HR ไปฟ้องศาลแรงงานหรืออาจจะต้องแต่งตั้งทนายไปฟ้องศาล ฯลฯ แต่ก็ต้องถามว่าพนักงานที่ไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัทน่ะมีมากไหมล่ะครับ ถ้ามีมากก็แสดงว่าไม่บริษัทก็พนักงานคงจะต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้วและคงต้องหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาแล้วล่ะครับ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพนักงานเกือบทั้งหมดก็ยื่นใบลาออกตามระเบียบและจากกันด้วยดีนะครับ

            ดังนั้นดังนั้นถ้ายังมีบริษัทที่ไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเมื่อพนักงานไม่ลาออกตามระเบียบก็ต้องทราบเอาไว้ว่าบริษัทกำลังทำผิดกฎหมายแรงงานอยู่ ถ้าพนักงานไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่ หรือไปฟ้องศาลแรงงานเมื่อไหร่บริษัทก็จะแพ้คดีครับ

……………………………..