อันที่จริงผมเคยเขียนถึงคำนี้ไปแล้วแต่ขอเอามาเขียนใหม่อีกครั้งเพื่อให้ท่านที่เพิ่งมาอ่านได้เข้าใจตรงกันอีกสักครั้งก็แล้วกันนะครับ
ปกติคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ๆ
และคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันถูกอยู่แล้วมันมีเหตุผลอยู่แล้ว
ท่านว่าจริงไหมครับ? เช่น....
ไปถามนาย A ว่าทำไมถึงไม่สวมหมวกนิรภัยเข้าพื้นที่ทั้ง
ๆ ที่มีกฎของบริษัทว่าพนักงานที่เข้าพื้นที่ทุกคนจะต้องใส่หมวกนิรภัย
นาย A ก็จะตอบว่า
“ก็คนอื่นเขายังไม่เห็นใส่หมวกเลย”
ไปถามนส.B ว่าทำไมถึงไปจอดรถในที่ห้ามจอด
คำตอบก็คือ “ทีคนอื่นเขายังจอดกันได้เลย”
นี่คือตัวอย่างของการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบแถ
ๆ หรือ Cognitive
Dissonance ครับ
ถ้าจะถามต่อไปว่า
“แล้วที่คนอื่นเขาทำน่ะมันผิดหรือเปล่า,
ถ้ารู้ว่าผิดแล้วทำไมต้องไปทำผิดให้เหมือนเขาด้วยล่ะ”
คนเหล่านี้ก็คงจะหาเหตุผลอื่นที่เข้าข้างตัวเองมาแถต่อไปเรื่อย ๆ แหละ จริงไหมครับ
เพราะการคิดหาเหตุผลเพื่อบอกตัวเองและบอกคนอื่นอย่างนี้จะทำให้คน
ๆ นั้นไม่เครียด ไม่ตำหนิตัวเองว่าตัวเองเป็นคนผิด จัดเป็นกลไกปกต้องตัวเองหรือ Defense Mechanism แบบหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของทุกคน
ถ้าความคิดแบบ Cognitive
Dissonance เป็นความคิดเพื่อปลอบใจตัวเองและไม่มีผลกระทบในด้านลบด้านร้ายต่อคนอื่นหรือต่อสังคมส่วนรวมก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย
เช่น..
เมื่อเราถูกแฟนบอกเลิก
แล้วเราก็บอกตัวเองว่าโชคดีที่ถูกบอกเลิกตอนนี้
ดีกว่าแต่งงานอยู่กินกันไปมีลูกแล้วถูกบอกเลิก ในอนาคตเราอาจจะมีบุพเพสันนิวาสได้เจอคนที่ดีที่เหมาะกับเรามากกว่าแฟนคนนี้
ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะทำให้เราหายเครียดและใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี....ฯลฯ
ดีกว่าที่เราจะมาคิดตำหนิตัวเองว่าเราไม่ดีพอหรือไง
แฟนถึงได้มาขอเลิกถ้าคิดโกรธโทษตัวเองอย่างงี้มาก ๆ เข้าก็มีหวังเครียดจนไปฆ่าตัวตายประชดความรักเหมือนที่เราได้อ่านข่าวหน้าหนึ่งกันอยู่บ่อย
ๆ แหง ๆ ผมถึงได้บอกว่าความคิดแบบ Cognitive Dissonance นี้ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างในด้านดีที่ช่วยลดความเครียดให้กับเรา
ถ้าไม่มีผลกระทบกับคนอื่นหรือสังคมในทางลบทางร้าย
แต่ความคิดแบบ Cognitive
Dissonance จะมีผลเลวร้ายมากถ้าคน ๆ
นั้นไปทำอะไรที่เลวร้ายต่อคนอื่นหรือต่อสังคม แล้วก็มาหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง
เช่น....
คนที่ทุจริตคอรัปชั่นก็จะบอกกับตัวเองว่า
“นี่เรายังคิดเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าคนก่อนหน้าเราซะอีกนะ....”
โจรผู้ร้ายที่จะลักวิ่งชิงปล้นก็จะบอกว่า “เพราะฉันต้องหาเงินเลี้ยงลูกฉันถึงต้องทำแบบนี้....”
คนที่ขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรก็พูดว่า
“คนอื่นเขาก็ทำอย่างงี้กันทั้งนั้นแหละ....”
ฯลฯ
ผมว่าถ้าใครมีความคิดแถ ๆ แบบนี้แถมขาด
“หิริ-โอตัปปะ” หรือขาดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปแล้วก็ความคิดแบบนี้เป็นอันตรายและมีผลกระทบออกไปรอบข้างมาก
ยิ่งถ้าใครมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ๆ แล้วคิดแบบนี้ก็จะทำอะไรแบบหลงในอำนาจและเกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวมได้ง่าย
คำถามปิดท้ายเรื่องนี้คือ....
ตอนนี้สังคมในที่ทำงานและสังคมส่วนรวมของเรามีความคิดแบบ
Cognitive
Dissonance ในขั้นไหนกันแล้วครับ?
ความมี “สติ” และ “หิริ โอตัปปะ”
เท่านั้นที่จะหยุดความคิดแถ ๆ แบบนี้ลงได้
..................................