วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

เมื่อหัวหน้างานขาดทักษะในการบริหารลูกน้อง..ผลคือ....


            เรื่องที่ผมจะนำมาแชร์ในวันนี้ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะพบได้อยู่เป็นประจำในชีวิตคนทำงาน แต่เมื่อเจอกับปัญหาแบบนี้แล้วบางทีเราก็ไม่รู้ว่าควรทำยังไงดีเลยทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและทำให้ปัญหานั้นบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ตามมาในภายหลัง ก็เลยอยากจะนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้กันในวันนี้

            เรื่องก็มีอยู่ว่า….

นาย A เป็นหัวหน้างานรับน้องใหม่ชื่อนาย B เข้ามาทดลองงานได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ซึ่งในระหว่างการทดลองงานนั้น น้องใหม่นาย B ก็ทำงานไม่เข้าตานาย A ผลงานก็ไม่ดีผิดพลาดบ่อยเตือนแล้วก็ไม่ได้ดีขึ้น วันดีคืนดีก็ชอบโทรมาลาป่วยแถมมักจะมาสายอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นาย A ก็ได้ว่ากล่าวตักเตือนไปด้วยวาจา (แต่ยังไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือ) อยู่เป็นระยะ

จนกระทั่งวันหนึ่งนาย B มายื่นใบลาออกในวันที่ 1 กค.และระบุวันที่มีผลลาออกคือวันที่ 1 กย.(คือยื่นใบลาออกล่วงหน้า 2 เดือนแหละครับ) โดยบอกกับนาย A หัวหน้างานว่าที่ต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 2 เดือนเพราะอยากขอเวลาในการไปหางานใหม่ นาย A ก็ตกลงและรับใบลาออกไว้แต่ไม่ได้แจ้งให้ฝ่ายบุคคลทราบ

นอกจากนี้นาย B ยังขอนาย A เพิ่มอีกด้วยว่าในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดการลาออกนี้อาจจะเข้าทำงานสายเป็นบางวันเพราะอาจจะต้องไปหางานใหม่และไปสัมภาษณ์งาน

ซึ่งนาย A ก็ตอบว่า “พี่โอเค” เสียอีกต่างหาก ซึ่งไม่ว่าจจะเป็นใบลาออกหรือเงื่อนไขให้นาย B เข้าสายเป็นบางวันได้นี้นาย A ก็ไม่เคยแจ้งให้ฝ่ายบุคคลรับทราบเลยนะครับ

แต่พอหลังจากวันที่ 1 กค.เป็นต้นมา นาย B ก็มาสายแทบทุกวันและไม่สนใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย แถมนาย A หัวหน้าก็ไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนอะไรนาย B ไม่ว่าจะตักเตือนด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตามเพราะเห็นว่ายังไงนาย B ก็ยื่นใบลาออกแล้วพูดไปก็เท่านั้น

จนกระทั่งปลาย ๆ เดือนกรกฏาคม นาย A ก็เรียกนาย B มาพบและบอกนาย B ว่าขอให้นาย B เปลี่ยนกำหนดการลาออกให้เป็นวันที่ 1 สค.แทนก็แล้วกัน

โดยนำใบลาออกของนาย B มาขีดฆ่าวันที่ลาออกเดิมคือ 1 กย.แล้วใช้ปากกาเขียนวันที่ 1 สค.ลงไปแทนพร้อมกับนาย A เซ็นชื่อกำกับเอาไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวและขอบัตรพนักงานคืนจากนาย B โดยบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 สค.นาย B ไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป

แล้วนาย A ก็จึงส่งใบลาออกของนาย B มาให้ฝ่ายบุคคลพร้อมกับบัตรประจำตัวของนาย B พร้อมกับแจ้ง HR ว่านาย B ขอลาออกมีผลวันที่ 1 สค.

ท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วบางคนก็อาจจะคิดว่าเรื่องราวก็น่าจะจบลงตรงที่นาย B คงจะลาออกไปตั้งแต่วันที่ 1 สค.ตามที่นาย A บอกเอาไว้ใช่ไหมครับ ?

แต่..เรื่องมันไม่จบอย่างที่คิดน่ะสิครับเพราะนาย B ไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกบริษัทเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้งรังแก แม้ว่าเขาจะยื่นใบลาออกเป็นการแสดงเจตนาลาออกแล้วก็จริงแต่ใบลาออกของเขาลงวันที่ 1 กย.แต่หัวหน้า (คือนาย A) มาแก้ไขใบลาออกของเขาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยเขาไม่ได้ยินยอมพร้อมใจด้วยเลย

แถมหัวหน้ายังมาแก้ไขวันที่ลาออกเอง เซ็นชื่อกำกับเอาไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยตัวเขาไม่ได้ยินยอมดังนั้นจึงถือว่าบริษัทแสดงเจตนาเลิกจ้างเขา ไม่ใช่การลาออกอย่างที่เขาแสดงเจตนาไว้แต่แรก

อีกประการหนึ่งถ้าหากบริษัทอ้างว่าผลการปฏิบัติงานของเขาไม่ดี เขาทำงานบกพร่อง มาทำงานสายเหตุใดหัวหน้าของเขา (คือนาย A อีกนั่นแหละ) ไม่เคยตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรให้เขาได้ทราบ แถมมาอนุญาตให้เขามาสายได้ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันที่มีผลลาออกเสียอีกแล้วอย่างนี้จะมาอ้างว่าเขามีปัญหาในการทำงานได้อย่างไร

เรื่องที่เล่ามาข้างต้นผมยังไม่สรุปนะครับว่าผลจากคดีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้ศาลท่านเป็นผู้พิจารณาตัดสินกันไปตามข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐานทั้งหลายกันต่อไป

แต่เรื่องทั้งหมดที่เล่ามานี้ผมอยากจะให้เป็นข้อคิดสำหรับคนที่เป็นหัวหน้า (หมายถึงคนที่มีลูกน้องไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม) ว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ

1.      บริษัท (ซึ่งก็คือฝ่าย HR นั่นแหละครับ) ควรให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารลูกน้องกับหัวหน้างานเอาไว้บ้าง โดยอาจจะยกเอากรณีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ อย่างเช่น ถ้าลูกน้องมีผลงานไม่ผ่านทดลองงานหัวหน้าควรทำยังไง, ลูกน้องลาป่วยไม่จริงหัวหน้าควรอนุญาตหรือไม่, ลูกน้องมายื่นใบลาออกหัวหน้าควรจะต้องแจ้งให้ฝ่ายบุคคลทราบทันทีโดยไม่เก็บดองเอาไว้, หรือหัวหน้าควรจะรู้ว่าวิธีการดำเนินการทางวินัยกับลูกน้องที่ถูกต้อง เช่นการตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรควรทำอย่างไร ฯลฯ

           ซึ่งบางแห่งอาจจะเรียกว่าการอบรมหลักสูตร HR for NON HR หรือ HR for Line Manager หรือเทคนิคการบริหารลูกน้อง ฯลฯ ซึ่งอาจจะใช้วิทยากรภายในก็คือผู้จัดการฝ่ายบุคคลนั่นแหละครับเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับหัวหน้างานเพื่อลดปัญหาทำนองนี้ลง

จะทำให้หัวหน้างานรู้ว่าอะไรทำได้..อะไรไม่ควรทำ เมื่อลูกน้องมีปัญหาแบบนี้หัวหน้าควรจะแก้ไขยังไง

2.      บริษัทควรจัดอบรมหลักสูตร “กฎหมายแรงงานเบื้องต้นที่หัวหน้างานควรรู้” ให้กับบรรดา Line Manager ได้รู้และเข้าใจ ฝ่ายบริหารไม่ควรมองหลักสูตรนี้ว่าเป็นหลักสูตรต้องห้าม หรือคิดว่าไม่ควรจะให้พนักงานรู้เดี๋ยวรู้เยอะจะเป็นคนหัวหมอ จะยื่นข้อเรียกร้อง ฯลฯ เพราะจากกรณีข้างต้นและหลายกรณีที่ผมเจอมานี่มักจะเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ทำนองนี้เพราะหัวหน้าไม่รู้หลักกฎหมายแรงงานที่ถูกต้องก็เลยตัดสินใจแก้ปัญหากับลูกน้องที่ผิดกฎหมายแรงงานทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาแบบนี้แหละครับ

ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียนี่ผู้บริหารไม่สามารถจะปิดหูปิดตาพนักงานได้แล้วนะครับ เพราะเพียงแค่พิมพ์คำว่า “กฎหมายแรงงาน” คำว่า “คดีแรงงาน” ลงไปในกูเกิ้ลก็สามารถหาความรู้เรื่องเหล่านี้ได้ไม่ยาก ดังนั้นสู้เปิดโอกาสหาคนมาให้ความรู้ในเรื่องนี้กับ Line Manager หรือพนักงาน (รวมไปถึงตัวผู้บริหารระดับสูงด้วยนะครับเพราะทุกวันนี้คนเป็น MD หรือ CEO ยังไม่รู้กฎหมายแรงงานและปฏิบัติอะไรที่ผิดกฎหมายแรงงานก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ นะครับ) ได้รับทราบจะได้ลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ลง

3.      บริษัทควรมีระเบียบหรือแนวปฏิบัติในเรื่องของการทดลองงาน, การต่อทดลองงาน, การประเมินผลการทดลองงาน และการไม่ผ่านทดลองงานที่ชัดเจน และประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนในบริษัทได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติให้เหมือนกัน ไม่ควรให้มีการยกเว้นโดยใช้หลักกูหรือหลักดุลพินิจขึ้นมาเหนือหลักเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดปัญหาปฏิบัติกับพนักงานแบบสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติตามมาครับ

          หวังว่าเรื่องที่ผมแชร์มาข้างต้นและแนวทางแก้ไขปัญหาที่บอกมานี้จะเป็นประโยชน์กับท่านในการทำไปคิดหาทางป้องกันไม่เกิดปัญหาทำนองนี้ขึ้นกับบริษัทของท่านในอนาคตและลดโอกาสที่จะต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาลแรงงานได้บ้างแล้วนะครับ

…………………………………………….