วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ปัญหาการปรับเงินเดือนจากพนักงานรายวันมาเป็นรายเดือน


            ในหลายบริษัทจะมีการจ้างพนักงานรายวันและพนักงานรายเดือนซึ่งพนักงานทั้งสองประเภทนี้ก็มักจะจ้างกันโดยมีเงื่อนไขที่ต่างกันคือพนักงานรายวันจะมีการคิดค่าจ้างกันเป็นวัน ๆ ถ้าวันไหนมาทำงานบริษัทก็จ่ายค่าจ้างให้ วันไหนเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์คือวันอาทิตย์ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง

            อีกเรื่องหนึ่งคือพนักงานรายวันก็มักจะไม่ได้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนกับพนักงานประจำ เช่น ไม่ได้รับการประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, ไม่ได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่เมื่อพนักงานรายวันทำงานดีมีผลงานที่บริษัทประเมินแล้วเห็นว่าสมควรจะปรับมาเป็นพนักงานรายเดือนนั่นแหละครับถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำทั่วไป

            เมื่อพนักงานรายวันได้รับการปรับเป็นพนักงานรายเดือนส่วนใหญ่ก็จะดีใจเพราะรู้สึกว่าการทำงานมีความมั่นคงขึ้นและได้รับประโยชน์ต่าง ๆ เหมือนพนักงานประจำมองผ่าน ๆ ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร

            แต่....ยังมีพนักงานรายวันบางรายที่ได้รับการปรับเป็นพนักงานประจำบางคนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนเริ่มต้นใหม่ (Starting Rate) ตอนเป็นพนักงานประจำว่าบริษัทตั้งเงินเดือนแบบเอาเปรียบหรือไม่

            ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างนี้ครับ

            เดิมพนักงานรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 390 บาท ทำงาน 26 วันต่อเดือนก็ได้รับค่าจ้างเดือนละ 390x26=10,140 บาท

            ถ้าพนักงานรายวันคนนี้ทำโอที (ในวันทำงานปกติ) ก็จะได้ค่าโอทีชั่วโมงละ 390/8=48.74x1.5=73 บาท

            พอพนักงานคนนี้ได้รับการโอนมาเป็นพนักงานประจำบริษัทก็แจ้งว่าพนักงานคนนี้ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 10,140 บาท เท่าเดิม

            ดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่าน่าจะโอเคใช่ไหมครับเพราะยังรับเงินเดือนเท่าเดิม

            แต่....

            พอพนักงานคนนี้มาทำโอทีเขาจะได้รับค่าโอทีลดลงเพราะการคำนวณโอทีตอนเป็นพนักงานประจำจะเป็นดังนี้ 10,140/30/8 = 42.25x1.5 = 63.37 บาท

          โอทีลดลง 9.62 บาทต่อชั่วโมง!

            ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเวลาคิดโอทีตอนเป็นพนักงานประจำบริษัทใช้ฐานเงินเดือนเดิมแต่มาหารด้วย 30 วัน แต่ตอนเป็นพนักงานรายวันใช้ 26 เป็นตัวหาร

          พนักงานรายวันรายนี้ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ และมีคำถามว่าบริษัททำแบบนี้ผิดหรือไม่?

            ทำไมบริษัทถึงไม่กำหนดเงินเดือนให้เป็น 390x30 = 11,700 บาทสิ ถึงจะถูกต้อง?

          แล้วบริษัทของท่านมีวิธีกำหนดเงินเดือนเมื่อโอนพนักงานรายวันมาเป็นรายเดือนกันยังไงบ้างครับ?

            จากปัญหาดังกล่าวผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ

1.      บริษัทมีสิทธิในการกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับพนักงานประจำเท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ในกรณีนี้สมมุติเป็นบริษัทอยู่ในกทม.แล้วบริษัทกำหนดเงินเดือนที่ 10,140 บาท เมื่อคิดเป็นต่อวันคือวันละ 10,140/30 = 338 บาท แต่กฎหมายแรงงานกำหนดให้จ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 325 บาท (ตั้งแต่ 1 เมย.2561) จึงถือว่าบริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายแรงงานครับ

2.      พนักงานรายวันอาจจะรู้สึกไม่พอใจและคิดว่าบริษัทเอาเปรียบ อันนี้คงจะไปห้ามพนักงานไม่ให้คิดก็คงไม่ได้หรอกครับ แต่บริษัท (หรือ HR) จำเป็นจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานรายวันให้เข้าใจด้วยว่า แม้ว่าพนักงานจะคิดว่าบริษัทกำหนดอัตราเริ่มต้นต่ำกว่าที่พนักงานต้องการ แต่เมื่อได้โอนมาเป็นพนักงานประจำแล้วเขาก็จะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้างจากเดิมที่ถ้าเป็นพนักงานรายวันจะไม่ได้รับประโยชน์อย่างนี้

            ซึ่งบริษัทก็จะต้องมีค่าใช้จ่าย (Staff Cost) เพิ่มขึ้นในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นพนักงานรายวันด้วยเหมือนกัน อีกทั้งการเป็นพนักงานประจำก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีแบบพนักงานประจำซึ่งดีกว่าการได้ขึ้นเงินเดือนตอนเป็นพนักงานรายวัน ตลอดจนการเป็นพนักงานประจำก็จะมีความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงานมากกว่าการเป็นพนักงานรายวัน

3.      แต่ถ้าชี้แจงแล้วพนักงานรายวันคนไหนยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ บริษัทก็คงจะต้องให้เขาตัดสินใจว่าจะเป็นพนักงานรายวันต่อไปหรือไม่ ถ้าเขาจะไม่มาเป็นพนักงานประจำก็คงต้องให้เขาเป็นพนักงานรายวันต่อไป
4.      เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อหาจุด Win-Win ให้ได้

            คำว่า Win-Win นี้ไม่ได้หมายความว่ามีใครได้หมด หรือมีใครเสียหมดนะครับ

            ฝ่ายลูกจ้างจะได้ความมั่นคง, สิทธิประโยชน์สวัสดิการเพิ่มขึ้น, มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องเสียในเรื่องค่าโอทีลดลง (แต่เงินเดือนไม่ได้ลดลง) เพียงแต่ไม่ได้เงินเดือนมากเท่าที่ลูกจ้างต้องการ

            ฝ่ายนายจ้างก็จะได้ตรงที่จ่ายเงินเดือนให้เท่าเดิม แต่จะต้องเสียในเรื่องของต้องจ่าย Staff Cost เพิ่มขึ้นในเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น, การส่งพนักงานไปฝึกอบรมและพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าแบบพนักงานประจำที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, มีการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น แต่จะได้พนักงานที่มีผลงานและมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับบริษัทและเติบโตไปกับบริษัทในระยะยาวมาทำงานด้วย

            และในที่สุดถ้าทั้งสองฝ่ายเปิดใจยอมรับในหลักการของ Win-Win ไม่มองแต่มุมของเราที่จะต้องให้ได้แต่เพียงด้านเดียวโดยไม่มองว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมีต้องมีภาระอะไรที่ต้องเสียบ้าง พูดจากันด้วยเหตุด้วยผล และคิดแบบใจเขา-ใจเราอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นก็จะจบปัญหาทั้งหมดลงได้ด้วยดีครับ

………………………………….