วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

ทำไมคนใหม่ถึงได้เงินเดือนมากกว่าคนเก่า?


            ผมเห็นการตั้งคำถามแบบนี้บนโลกออนไลน์แล้วก็มีคนเข้ามาตอบกัน

            เจ้าของกระทู้ถามว่าบริษัทให้เงินเดือนเด็กจบใหม่มากกว่าคนเก่าที่ทำงานมาก่อน 4 ปี โดยยกตัวอย่างว่านาย A เริ่มทำงานด้วยเงินเดือน 16,000 บาท ทำงานผ่านไป 4 ปีได้ขึ้นเงินเดือนปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ทำให้เงินเดือนปีที่ 4 เท่ากับ 19,448 บาท

            แล้วบริษัทก็รับนาย B จบใหม่เข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกับนาย A โดยให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท แล้วมาให้คนเก่าสอนงานเสียอีกต่างหากเลยทำให้นาย A ไม่อยากสอนงานนาย B

            ถามว่าเพราะอะไรบริษัทถึงทำอย่างนี้

            ผมว่าถ้าผู้ถามได้อ่านบทความที่ผมเคยเขียนไปเมื่อปีที่แล้วคือ “การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า” (ไปเสิร์จหาคำนี้ในกูเกิ้ลดูนะครับ) จะเข้าใจสัจธรรมเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

            นอกจากนี้ผมยังมีข้อคิดเพิ่มเติมแบบตรงไปตรงมาในมุมมองของผมดังนี้

1.      ต้องยอมรับความจริงว่าอัตราเติบโตของเงินเดือนภายนอกบริษัทมีมากกว่าในบริษัท

1.1   เมื่อปีที่แล้ว (2560) เราปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 300 เป็น 310 บาท เพิ่มขึ้น 3.3% อัตราเงินเฟ้อปีที่แล้วประมาณ 1%

1.2   ปีนี้ (2561) เราปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มจาก 310 เป็น 325 บาท เพิ่มขึ้น 4.8% อัตราเงินเฟ้อประมาณ 1%

1.3   จากผลการสำรวจค่าตอบแทนในหลาย ๆ แห่งพบว่าค่าเฉลี่ยในการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 5% เท่ากับปีที่แล้วเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อออกแล้วจะพบว่าในปี 2560 เราก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าจริง 4% ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นการเติบโตของค่าจ้างภายนอกบริษัทเพิ่มขึ้น 3.3% เราก็จะมีส่วนต่างจากอัตราเติบโตภายนอกบริษัทเพียง 0.7% เท่านั้น

     ส่วนในปีนี้ 2561 เราก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าจริง 4% (เท่าปีที่แล้ว) ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 4.8% เท่ากับเราได้ขึ้นเงินเดือนแบบติดลบคือ -0.8% นั่นคือการเติบโตของเงินเดือนในบริษัทเราน้อยกว่าการเติบโตของเงินเดือนภายนอกบริษัท!

ตามตารางนี้ครับ

2.      นาย A จะอ้างว่าทำงานมานานกว่านาย B เด็กใหม่ แต่การทำงานมานานกว่าไม่ได้แปลว่าจะมีผลงานที่ดีกว่าหรือมีศักยภาพหรือขีดความสามารถสูงกว่าคนใหม่เสมอไป เพราะการที่บริษัทจะตั้งเงินเดือนให้กับคนเข้าใหม่ หรือจะปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานคนไหนก็มักจะเป็นไปตามสูตร

เงินเดือน/ค่าจ้าง  =  P+C (P=Performance-ผลงาน และ C=Competency-ความสามารถ)

            เมื่อนาย A ทำงานมา 4 ปีแต่ได้ขึ้นเงินเดือนปีละ 5% มาโดยตลอด ก็แสดงว่าบริษัทมองว่านาย A มีผลงานและความสามารถเท่าที่บริษัทขึ้นเงินเดือนให้คือปีละ 5% เท่านั้นแหละครับ

            และในทำนองเดียวกันการที่บริษัทตั้งเงินเดือนให้กับนาย B ที่ 20,000 บาท ก็แปลว่าบริษัทพิจารณาแล้วว่านาย B มีผลงาน+ความสามารถเหมาะสมที่จะได้เงินเดือน 20,000 บาท

            ซึ่งการตั้งเงินเดือนคนเข้าใหม่หรือการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานนั้น ฝ่าย HR ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติไปปรับขึ้นให้ใครได้เองนะครับ HR เป็นเพียงผู้นำเสนอตัวเลขที่เห็นว่าเหมาะสมให้กับฝ่ายบริหารพิจารณาเพื่ออนุมัติ ซึ่งก็แปลว่านี่เป็นการพิจารณาของฝ่ายบริหาร (หรือบริษัท) แล้วว่าใครจะมี P+C ที่บริษัทเห็นความสำคัญมาก-น้อยแค่ไหน

3.      จากสองปัจจัยหลัก ๆ ตามข้อ 1และข้อ 2 คืออัตราเติบโตของเงินเดือนภายในบริษัทต่ำกว่าการเติบโตภายนอก และนาย A ก็มี P+C ที่ยังไม่เข้าตาบริษัท ในขณะที่บริษัทเห็นว่านาย B น่าจะมีศักยภาพมากกว่านาย A จึงตัดสินใจจ้างนาย B เข้ามาในเงินเดือนที่สูงกว่าที่นาย A ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

4.      คำถามก็คือนาย A ควรจะทำยังไงดีระหว่างการบ่นด่าว่าบริษัท (และ HR) กับการคิดหาทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง?

5.      ถ้านาย A เชื่อมั่นว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ (มี P+C) หรือเรียกว่า “มีของ” แต่บริษัทมองไม่เห็น “ของ” ที่นาย A มี ก็ถึงเวลาที่นาย A จะต้องร้องเพลงของพี่ตูนบอดี้สแลมคือ “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” แล้วออกไปแตะขอบฟ้าที่อื่นที่ไม่ใช่บริษัทนี้แล้วแหละครับ และควรจะเริ่มคิดหาวิธีออกจากฝั่งนี้ไปตามความเชื่อมั่นของเราที่ฝั่งใหม่ได้แล้ว

6.      แต่ถ้านาย A ยังไม่ตัดสินใจจะทำอะไรและยังคงทำงานเหมือนเดิมต่อไปก็ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าอะไรจะดีขึ้น

            เพราะมีคำ ๆ หนึ่งที่ไอน์สไตน์เคยบอกเอาไว้ว่า “มีแค่คนบ้าเท่านั้นที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” (Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results.)

          สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทัศนคติ” ของตัวเราเอง อย่ามัวคิดแต่เสียเวลาคิดก่นด่าว่าคนอื่น หรือดูถูกตัวเองว่าเรามันไม่มีความสามารถ เรามันแย่ เรามันไม่มีหนทางจะไป ฯลฯ

          เพราะใครดูถูกเราก็ไม่เท่าเราดูถูกตัวเอง!

            ลองมาทบทวนดูว่าตัวเรามีความรู้ความสามารถอะไรบ้างและเราได้ใช้ความสามารถของเราอย่างดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าทางเดินในปัจจุบันมันถึงทางตันแล้วเราจะยังคงดันทุรังเดินหน้าต่อไปในทางตันโดยไม่หาทางเดินใหม่เลยหรือครับ ผมเชื่อว่าหนทางของความสำเร็จจะมีอยู่เสมอถ้าเรามองหามัน!

            และอีกหนึ่งคำคมของไอน์สไตน์ก็คือ....

          “ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่มีความสุข จงพันธนาการชีวิตด้วยจุดหมาย ไม่ใช่ผู้คนหรือสิ่งอื่นใด” (If you want to live a happy life, tie it to a goal, not to people or things.)

          ถ้าใครที่มีปัญหาคับข้องใจเหมือนกับชื่อบทความนี้เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะคิดได้แล้วนะครับว่าเราควรจะมามัวเสียเวลาพันธนาการชีวิตของเราเอาไว้อยู่กับบริษัทนี้หรือพันธนาการชีวิตเราอยู่กับการเปรียบเทียบเงินเดือนกับคนเข้าใหม่พร้อมกับด่าบริษัทแบบนี้ไปเรื่อย ๆ วนเวียนเหมือนพายเรือในอ่างอยู่อย่างนี้

          หรือถึงเวลาที่เราควรจะต้องเริ่มกำหนดจุดหมายในชีวิตให้ชัดเจน แล้วเริ่มต้นออกเดินไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดเสียที

            เรื่องไหนควรจะเป็นเรื่องที่เราใช้เวลาคิดหาทางแก้ปัญหานี้มากกว่ากันนะครับ

            เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ

…………………………………….