ผมไปอ่านเจอคำถามนี้ในเว็บไซด์ยอดนิยมแห่งหนึ่งซึ่งผู้สมัครงานตั้งกระทู้ต่อว่าฝ่ายบุคคลบริษัทแห่งหนึ่งอย่างนี้ครับ
“บริษัทลงประกาศรับสมัครงานตำแหน่ง............ระบุเงินเดือนไว้สำหรับตำแหน่งนี้
30,000
บาท เมื่อไปสอบสัมภาษณ์แล้วบริษัทตอบรับเข้าทำงาน HR ที่ติดต่อกลับมาแจ้งว่าบริษัทให้เงินเดือน 27,000 บาท
เมื่อผู้สมัครถามว่าทำไมถึงไม่ได้ 30,000 บาทตามที่ประกาศไว้
ทาง HR ก็ตอบว่าจากผลการสัมภาษณ์ผู้บริหารเห็นว่าบริษัทเสนอเงินเดือนให้ได้เท่านี้....?”
ผู้สมัครงานรายนี้ก็เลยงงและเสียความรู้สึกเพราะบริษัทไปลงอัตราเงินเดือนไว้ในประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งนี้เอาไว้ที่
30,000 บาท ก็แปลว่าบริษัทต้องตั้งงบประมาณในการรับคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำงานในตำแหน่งงานนี้เอาไว้แล้วที่
30,000 บาท
จึงมาตั้งข้อสังเกตว่าการที่
HR มากดเงินเดือนเขาลงไปให้ต่ำกว่าที่ประกาศไว้ 3,000 บาทนี่
HR มีสิทธิอะไร หรือ HR อยากจะเอาหน้ากับฝ่ายบริหารโดยการช่วย
Save Cost ให้กับบริษัท แล้วก็มีการร่วมด้วยช่วยกันจากบรรดาคนอ่านกระทู้เข้ามาเม้นท์มาเม้าท์กันไปแบบร่วมด้วยช่วยกันยำ
HR
ลองมามองย้อนกลับไปดูกันไหมครับว่าสาเหตุที่
HR ของบริษัทนี้ถูกยำเพราะอะไร ?
ก็คงจะตอบได้ว่าเพราะบริษัทไปลงอัตราเงินเดือนที่จะรับเอาไว้ในประกาศรับสมัครงานนั่นแหละครับ
!
จากประสบการณ์ที่ผมทำงานด้าน HR มาผมยังไม่เคยที่จะแจ้งอัตราเงินเดือนไว้ในประกาศรับสมัครงานเลยนะครับ
เหตุผลที่ผมไม่ลงอัตราเงินเดือนของตำแหน่งต่าง
ๆ ไว้ในประกาศรับสมัครงานเพราะ....
1.
ในภาคธุรกิจเอกชนเรื่องเงินเดือนถือว่าเป็นความลับ
แม้แต่ในการจ่ายเงินเดือนกันทุกสิ้นเดือนบริษัทยังแจกเป็น Pay slip เป็นรายบุคคลเพื่อให้ทราบเฉพาะตัวพนักงานที่ได้รับ
2.
นอกจากเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนเป็นความลับแล้ว
“โครงสร้างเงินเดือน” ของบริษัทก็เป็นความลับด้วยเหมือนกันเพราะถ้าหลุดออกไปถึงคู่แข่งแล้ว
(ยิ่งยุคนี้เป็นยุคออนไลน์โอกาสที่ข้อมูลจะหลุดจะรั่วมีได้ง่ายมาก)
คู่แข่งก็จะรู้ได้เลยว่าบริษัทของเรามีขีดความสามารถในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในตำแหน่งงานต่าง
ๆ มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถกำหนดเงินเดือนที่จูงใจเพื่อดึงตัวพนักงานของเราที่เขาต้องการไปได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไรมากนัก
3.
ในเมื่อทั้งเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนเป็นความลับอย่างที่ผมบอกไปแล้ว
ถ้าบริษัทเอาเงินเดือนในตำแหน่งต่าง ๆ ไปลงในประกาศรับสมัครงานก็เท่ากับเราเอาความลับเรื่องเงินเดือนไปเปิดเผยกับคนภายนอก
(ที่ยังเป็นเพียงผู้สมัครงาน) ในขณะที่บริษัทกลับบอกว่า
“เรื่องเงินเดือนเป็นความลับสำหรับพนักงาน มันเยื้องแย้งกันดีไหมครับ ? ซึ่งก็อาจจะมีปัญหาดราม่ากับพนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกันนี้แต่ได้รับเงินเดือนในปัจจุบันน้อยกว่าที่บริษัทประกาศรับสมัครงานเพื่อหาคนนอกเข้ามาทำงาน
ว่าทำไมจ้างคนนอกแพงกว่าคนในตามสัจธรรม
“เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับคนอื่นได้เท่าไหร่”
4.
นอกจากปัญหาดราม่าของพนักงานที่เป็นคนในซึ่งทำงานในตำแหน่งเดียวกันกับที่บริษัทประกาศรับสมัครแล้ว
ก็จะมีพนักงานที่เป็นคนในแต่ทำงานต่างหน่วยงานที่ทำงานมานานแต่เงินเดือนยังไม่ถึงเงินเดือนที่บริษัทลงในประกาศรับสมัครงานจะเกิดดราม่าได้อีกเหมือนกันแม้จะทำงานคนละตำแหน่งคนละหน่วยงานแต่ธรรมชาติมนุษย์ก็อดที่จะเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบไม่ได้ตามสัจธรรมในข้อ
3 นั่นแหละครับ
เหตุผลข้างต้นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมผมถึงไม่เคยแจ้งอัตราเงินเดือนลงในประกาศรับสมัครงานเลยไม่ว่าจะรับสมัครงานในตำแหน่งงานใด ๆ ซึ่งการกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้สมัครงานที่ผ่านการทดสอบข้อเขียน,
ทดสอบปฏิบัติ และผ่านการสอบสัมภาษณ์แล้วจะเป็นไปตามการประเมินร่วมกันระหว่าง HR กับ
ผู้บังคับบัญชาที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ว่าผู้สมัครคนไหนน่าสนใจ
มีของหรือมีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการอยู่ในระดับไหน
แล้วถึงมาดูว่าในตำแหน่งงานนั้น ๆ อยู่ใน Job Grade ไหนอยู่ในกระบอกเงินเดือนไหน
และเงินเดือนที่ผู้สมัครต้องการ (Expected Salary) อยู่ใน Quartile
ไหนของกระบอกเงินเดือนใน Job Grade นั้น ๆ
(โดยพิจารณารวมถึง Overall Package ตัวอื่น ๆ
ทั้งหมดประกอบกับ Base Salary ในโครงสร้างเงินเดือนด้วยนะครับ)
ถ้าผู้สมัครยินดีรับเงื่อนไขการจ่ายทั้งหมดได้ก็เซ็นสัญญาจ้างกัน
แต่ถ้าผู้สมัครที่เราติดต่อไปรับเงื่อนไขการจ่ายไม่ได้
บริษัทก็พิจารณาผู้สมัครในลำดับรองลงไปแทน แต่ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้ไม่ได้แปลว่าเมื่อบริษัทไม่แจ้งอัตราเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานแล้วแปลว่า
HR
จะกำหนดเงินเดือนแรกจ้างแบบเอาเปรียบผู้สมัครงานคือ “ขอมากได้มาก-ขอน้อยได้น้อย” นะครับ
เพราะในบริษัทที่มี
HR
มืออาชีพทำงานอยู่จะต้องมี “โครงสร้างเงินเดือน”
ที่เป็นกติกาในเรื่องของการจ่ายเงินเดือนที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าในตำแหน่งต่าง ๆ
ของบริษัทนั้น
บริษัทจะมีกรอบการจ่ายต่ำสุดไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่และจ่ายสูงสุดได้ไม่เกินเท่าไหร่ (ซึ่งโครงสร้างเงินเดือนจะต้องมีการสำรวจตลาดและจัดทำมาอย่างถูกต้องนะครับ)
ซึ่งการบริหารค่าตอบแทนแบบมืออาชีพจึงไม่ใช่การบริหารค่าตอบแทนแบบใครขอมากได้มาก ใครขอน้อยได้น้อย
ดังนั้นถ้าบริษัทไหนที่ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือนไม่มีระบบและหลักในการบริหารค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐานแล้ว
บริษัทนั้นก็คงจะยังวนเวียนอยู่กับปัญหาที่ผมเล่ามาข้างต้นและจะต้องเจอกับคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น
ๆ ที่ HR
เอง (หรือแม้แต่ฝ่ายบริหาร) ก็ตอบคำถามไม่ได้ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นแหละครับ
จากที่ผมแชร์ประสบการณ์มาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนทำงาน
HR จะได้ลองคิดทบทวนดูว่าปัจจุบันบริษัทของท่านมีระบบบริหารค่าตอบแทนเป็นยังไง
มีโครงสร้างเงินเดือนเพื่อใช้เป็นกติกาในการตั้งเงินเดือนที่มีมาตรฐานแล้วหรือยัง และยังคงจะมีนโยบายในการแจ้งเงินเดือนผู้สมัครงานออกสื่อเพื่อให้เกิดดราม่าต่อไปอีกดีหรือไม่
ลองคิดทบทวนเรื่องเหล่านี้ดูนะครับ
…………………………………..